แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ และไม่ปรากฏว่าโจทก์รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยการจำนำนั้นไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่โจทก์ให้ป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถเพื่อไปติดหน้ารถ แต่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมดังกล่าวไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ เพราะโจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2515 จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทห้างหุ้นส่วนจำกัด ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด คอร์ติน่า สีเหลืองไปจากโจทก์ในราคา 109,230 บาท โดยตกลงจะชำระค่าเช่าซื้อให้แก่โจทก์ 30 งวด งวดละเดือน ๆ ละ 3,644 บาท ตั้งแต่วันที่ 4 ตุลาคม2515 เป็นต้นไป โดยมีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏรายละเอียดของสัญญาเช่าซื้อและค้ำประกันท้ายฟ้อง นับแต่ทำสัญญาเช่าซื้อแล้วจำเลยที่ 1 ได้ชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงงวดเดียว และผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อตลอดมา โจทก์ได้ทวงถามและบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อ และให้จำเลยคืนรถยนต์แต่จำเลยที่ 1 ที่ 2 เพิกเฉย ต่อมาโจทก์สืบทราบว่าจำเลยที่ 3ได้ครอบครองรถยนต์คันดังกล่าวของโจทก์ไว้โดยไม่มีสิทธิ โจทก์ได้ติดต่อทวงถาม แต่จำเลยที่ 3 ก็ไม่ยอมคืนรถให้โจทก์ เป็นเหตุให้โจทก์เสียหายเพราะอาจนำรถมาให้เช่าได้วันละไม่น้อยกว่า 200 บาท จึงขอให้จำเลยทั้งสามคืนรถยนต์ที่เช่าซื้อไปแก่โจทก์ในสภาพเรียบร้อย หากคืนไม่ได้ให้ใช้ราคา 109,320 บาทแก่โจทก์ ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหาย คือค่าใช้ทรัพย์ตลอดเวลาที่ครอบครองทรัพย์ของโจทก์อยู่ วันละ 200 บาท เป็นเงิน 19,800 บาท และค่าเสียหายวันละ 200 บาท ตั้งแต่วันฟ้องตลอดไปจนกว่าจะคืนรถหรือใช้ราคาแก่โจทก์
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ยื่นคำให้การต่อสู้คดีว่า จำเลยที่ 3 ยอมรับว่ารถยนต์ตามฟ้องอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 จริง โดยจำเลยที่ 1 ได้นำมาให้โจทก์ (ที่ถูกเป็นจำเลยที่ 3) ยึดไว้เป็นหลักประกันหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศที่จำเลยที่ 1ค้างชำระแก่จำเลยที่ 3 เป็นเงิน 16,195 บาท การครอบครองของจำเลยที่ 3 จึงเป็นการครอบครองโดยชอบ โจทก์ไม่มีสิทธิเรียกให้จำเลยที่ 3 คืนรถยนต์และเรียกค่าเสียหาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 ร่วมกันคืนรถยนต์ยี่ห้อฟอร์ด คอร์ติน่า สีเหลืองแก่โจทก์ ถ้าคืนไม่ได้ให้ชำระราคา 109,230 บาทและให้ใช้ค่าเสียหายให้โจทก์ เป็นเงิน 10,000 บาท ให้ยกฟ้องโจทก์ที่เกี่ยวกับจำเลยที่ 3
โจทก์อุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 ร่วมกันส่งมอบรถคืนโจทก์และให้ใช้ค่าเสียหายตามที่โจทก์ฟ้อง
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้นว่า ให้จำเลยที่ 3ร่วมกับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ส่งมอบรถยนต์พิพาทคืน ถ้าคืนไม่ได้ให้ชำระราคา 109,230 บาท ให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราวันละ 100 บาทนับแต่วันที่ 4 พฤศจิกายน 2515 ถึงวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2516ให้โจทก์ และให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชดใช้ค่าเสียหายในอัตราเดียวกันนี้ตั้งแต่วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2516 จนกว่าจะส่งมอบรถคืนหรือใช้ราคาแทนแก่โจทก์ด้วย นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 3 ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเมื่อวันที่ 4 กันยายน 2515 จำเลยที่ 1 ได้ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์พิพาทซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ไปจากโจทก์ มีจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เอกสารหมาย จ.3มีกำหนดชำระ 30 งวด จำเลยชำระค่าเช่าซื้อให้โจทก์เพียงงวดเดียวแล้วไม่ชำระอีก โจทก์จึงบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อและให้จำเลยที่ 1 ส่งมอบรถยนต์คืนและชดใช้ค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ไม่คืนให้ ปรากฏว่ารถยนต์ไปอยู่ในความครอบครองของจำเลยที่ 3 โดยจำเลยที่ 1 นำรถยนต์พิพาทให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันการชำระหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศ และจำเลยที่ 3 รับรถนั้นไว้โดยสุจริต โจทก์จึงฟ้องจำเลยทั้งสามเป็นคดีนี้ ศาลฎีกาวินิจฉัยว่าการที่จำเลยที่ 2 นำรถยนต์พิพาทมาให้จำเลยที่ 3 ยึดถือไว้เป็นหลักประกันมูลหนี้ค่าเครื่องปรับอากาศที่จำเลยที่ 1 เป็นหนี้จำเลยที่ 3 นั้น เมื่อรถยนต์ที่พิพาทมิใช่เป็นของจำเลยที่ 1 เพราะยังอยู่ในระหว่างเช่าซื้อไปจากโจทก์การที่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 เอารถยนต์ของโจทก์ไปมอบให้จำเลยที่ 3 ยึดไว้เป็นประกันมูลหนี้ของตนโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ ทั้งไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้รู้เห็นด้วยกับการกระทำของจำเลยดังกล่าว การจำนำนั้นจึงไม่ผูกพันโจทก์ผู้เป็นเจ้าของ การที่รถยนต์พิพาทมีป้ายวงกลมมีชื่อจำเลยที่ 1 เป็นเจ้าของปิดอยู่ ทำให้จำเลยที่ 3 เชื่อโดยสุจริตว่ารถยนต์เป็นของจำเลยที่ 1 นั้น เมื่อโจทก์รับโอนทะเบียนรถยนต์ ทางการต้องออกป้ายวงกลมให้ใหม่โจทก์ก็นำสืบว่า เมื่อทางการออกป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถ โจทก์ก็ให้จำเลยที่ 2 นำไปติดหน้ารถแล้ว การที่จำเลยที่ 2 ไม่นำป้ายวงกลมมีชื่อโจทก์ไปติด จะถือเป็นความผิดหรือประมาทเลินเล่อของโจทก์ยังไม่ได้ โจทก์ไม่จำเป็นจะต้องติดตามดูแลการติดป้ายวงกลม อนึ่ง ตามพฤติการณ์ในคดี จะถือว่าโจทก์แสดงออกหรือเชิดให้จำเลยเป็นตัวแทนโจทก์ก็ไม่ได้ เมื่อโจทก์เป็นเจ้าของรถยนต์ โจทก์จึงมีสิทธิติดตามเอารถยนต์ของตนคืนได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1336 จำเลยที่ 3 จะปฏิเสธไม่ยอมคืนหาได้ไม่ เมื่อไม่คืนจึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 ศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน