แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
โจทก์ร่วมมีเช็คของจำเลยในธนาคารเดียวกันซึ่งถึงกำหนดแล้วรวม 4 ฉบับได้นำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ 19 มีนาคม 2519 สองฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน ต่อมาโจทก์ร่วมได้นำเช็คอีก 2 ฉบับในคดีนี้ไปขึ้นเงินเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม 2519 เช่นนี้ ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค เช็ค 4 ฉบับ ฉบับแยกการกระทำออกจากกันได้เป็น 4 กรรม จึงไม่จำเป็นต้องนำไปขึ้นเงินพร้อมกัน เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค 2 ฉบับ คดีนี้ในวันที่ 15 กรกฎาคม 2519 และโจทก์ร่วมร้องทุกข์ยังไม่เกิน 3 เดือน คดีจึงไม่ขาดอายุความ
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓
จำเลยให้การปฏิเสธ
ศาลอนุญาตให้ผู้เสียหายเข้าเป็นโจทก์ร่วม
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ๒ กระทง จำคุก ๘ เดือน
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ ให้ลงโทษจำคุกกระทงละ ๒ เดือน รวม ๔ เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า จำเลยฎีกาว่าโจทก์ร่วมมีเช็คของจำเลยในธนาคารเดียวกัน ถึงกำหนดแล้วรวม ๔ ฉบับ โจทก์ร่วมนำเช็คไปขึ้นเงินในวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๙ เพียง ๒ ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน “บัญชีปิดแล้ว” แม้โจทก์ร่วมจะนำเช็คอีก ๒ ฉบับในคดีนี้ไปขึ้นเงินในเวลาต่อมา เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม ๒๕๑๙ และธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงินอีก ก็ต้องถือว่าโจทก์ร่วมได้รู้หรือควรได้รู้ความผิดตามเช็คคดีนี้เมื่อวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๑๙ ต้องเริ่มนับอายุความตั้งแต่วันดังกล่าวและเมื่อนับถึงวันที่โจทก์ร้องทุกข์เป็นเวลาเกิน ๓ เดือนแล้ว คดีโจทก์ขาดอายุความ
ศาลฎีกาพิจารณาแล้วเห็นว่า ความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คเกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คเมื่อยังมิได้นำเช็คไปขึ้นเงินจากธนาคารจะถือว่าความผิดเกิดขึ้นแล้วไม่ได้ เช็ค ๔ ฉบับ แยกการกระทำออกจากกันได้เป็น ๔ กรรม จึงไม่จำเป็นต้องนำไปขึ้นเงินพร้อมดัน เมื่อธนาคารปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็ค ๒ ฉบับคดีนี้ในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๑๙ และโจทก์ร่วมร้องทุกข์วันที่ ๑๘ เดือนเดียวกัน ซึ่งยังไม่เกิน ๓ เดือน คดีโจทก์หาขาดอายุความไม่
พิพากษายืน.