คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1049/2522

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ได้เลียนแบบลายกนกสลากปิดผ้าโสร่งของจำเลยที่ 1 โดยจงใจที่จะลวงประชาชนให้หลงเชื่อว่าสินค้าผ้าโสร่งของโจทก์เป็นของจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 เสียหาย การที่จำเลยนำสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ปิดในใบปลิวซึ่งประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 คู่กับสลากปิดผ้าของโจทก์ เขียนข้อความข้างสลากของจำเลยที่ 1 ว่า ‘แท้’ ข้างสลากของโจทก์ว่า ‘เทียม’ และทำเครื่องหมายกากบาทไว้บนสลากของโจทก์ด้วย ส่งไปให้ประชาชนและร้านค้าผ้า เพียงเพื่อให้ผู้รับใบปลิวเข้าใจได้ถูกต้องว่า สลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 คือสลากปิดผ้าที่มีคำว่า ‘แท้’ อย่างข้าง ๆ ส่วนสลากปิดผ้าที่มีคำว่า ‘เทียม’ อยู่ข้าง ๆ นั้นเป็นสลากของเทียมไม่ใช่ของแท้ของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวเกี่ยวกับสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ไปตามความจริงเพื่อให้ผู้จะซื้อผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 ทราบ จะได้เข้าใจถูกต้อง มิใช่เป็นการกล่าวทับถมว่า ผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์มีคุณภาพเลวและไม่ควรซื้อแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ผลิตและขายผ้าโสร่งปาเต๊ะ และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา “คนคู่” ซึ่งใช้เป็นเครื่องหมายการค้าประจำผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์ โดยพิมพ์เป็นสลากโฆษณาคุณภาพติดหรือผนึกไว้บนผ้าโสร่งแต่ละผืน จำเลยจำหน่ายผ้าโสร่งปาเต๊ะเช่นกัน เมื่อปี พ.ศ. 2519 จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันทำละเมิดต่อโจทก์ โดยจำเลยที่ 2 นำสลากติดผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์ไปติดคู่กับสลากโฆษณาผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 ในกระดาษซึ่งประทับตราห้างเอมจิตต์ของจำเลยที่ 1 แล้วจำเลยที่ 2 เขียนคำว่า “แท้” ไว้ข้างสลากโฆษณาผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 และเขียนคำว่า “เทียม” ไว้ข้างสลากของโจทก์ พร้อมทั้งนำเครื่องหมายกากบาทหรือเครื่องหมายผิดไว้บนสลากของโจทก์ โดยจำเลยทั้งสองมีเจตนาที่จะให้ประชาชนทั่วไปเข้าใจว่าสินค้าผ้าโสร่งปาเต๊ะที่ติดสลากของจำเลยที่ 1 นั้น เป็นสินค้าที่แท้จริง ส่วนสินค้าผ้าโสร่งปาเต๊ะที่ติดสลากของโจทก์นั้นเป็นของเทียมหรือเลียนแบบ แล้วจำเลยทั้งสองได้นำกระดาษที่ติดสลากคู่กันดังกล่าวที่ได้ทำขึ้นเป็นจำนวนมากไปเผยแพร่แจกจ่ายแก่บรรดาลูกค้าของโจทก์และจำเลยทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัดพร้อมทั้งบอกกล่าวด้วยวาจาว่า สินค้าที่ติดสลากของโจทก์เป็นสินค้าเทียมเลียนแบบของจำเลย เป็นเหตุให้ลูกค้าของโจทก์เข้าใจผิดหลงเชื่อตามคำกล่าวและเอกสารที่จำเลยทำขึ้น พากันหยุดซื้อผ้าโสร่งปาเต๊ะตราคนคู่ของโจทก์ ทำให้จำนวนจำหน่ายลดลง ขาดกำไรถึงวันฟ้องเป็นเงิน 60,000 บาท และเสียค่าโทรศัพท์ โทรเลข และจดหมายชี้แจงให้ประชาชนทราบเป็นเงิน 40,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าสินไหมทดแทน

จำเลยให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่ใช่เจ้าของเครื่องหมายการค้าตรา”คนคู่” ปิดไว้บนผ้าโสร่งของโจทก์ จำเลยทั้งสองไม่ได้กระทำละเมิดดังที่โจทก์กล่าวในฟ้อง ลูกค้าของโจทก์มิได้หยุดสั่งซื้อผ้าโสร่งปาเต๊ะตราคนคู่ของโจทก์โดยเข้าใจผิดว่าสินค้าของโจทก์เป็นของเทียม ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมในเรื่องค่าเสียหาย จำเลยที่ 1 ประกอบการค้าผ้าโสร่งปาเต๊ะเมื่อปี พ.ศ. 2515 ได้ส่งผ้าโสร่งเข้าประกวดในงานแสดงสินค้าไทย ได้รับประกาศนียบัตรกับเหรียญทองเป็นรางวัล จำเลยที่ 1 จึงได้ย่อภาพประกาศนียบัตรดังกล่าวพิมพ์เป็นสลากปิดบนผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 ออกจำหน่าย โจทก์ได้พิมพ์สลากเลียนประกาศนียบัตรดังกล่าวของจำเลยที่ 1 นำไปปิดบนสินค้าผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์ออกจำหน่าย จนเป็นเหตุให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของจำเลยที่ 1 หากจะฟังว่าจำเลยกระทำดังกล่าวในฟ้องของโจทก์จริง จำเลยก็มิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ เพราะเป็นการกล่าวป้องกันสิทธิของจำเลย

ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนจำเลยโดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,500 บาท

โจทก์อุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์เป็นเงิน 10,000 บาท คำขอที่ให้จำเลยทั้งสองโฆษณาขอขมาให้ยก ให้จำเลยทั้งสองร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 1,000 บาท

โจทก์และจำเลยทั้งสองฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า สลากปิดผ้าหมาย ล.2 ของจำเลยที่ 1 ย่อส่วนมาจากประกาศนียบัตรของหอการค้าไทยที่มอบให้จำเลยที่ 1 (เอกสารหมาย ล.1) สลากดังกล่าวประกอบด้วย ลายกนกสี่ด้านล้อมกรอบข้อความกับรูปธงชาติไทยห้อยชายในวงกลม รูปโล่ห์ซึ่งมีเรือใบอยู่ภายในทางมุมล่างซ้าย รูปฟันเฟือง 3 อันทางมุมล่างขวา และข้อความว่า “ประกาศนียบัตรขอมอบให้ห้างหุ้นส่วนจำกัดเอมจิตต์ไว้เป็นเกียรติและเป็นหลักฐานว่า ได้ผลิตผ้าพิมพ์ลายไทยเป็นสินค้าที่มีคุณภาพเข้าขั้นมาตรฐาน สมควรได้รับเหรียญทองเป็นรางวัล ให้ไว้ ณ วันที่ 23 มีนาคม 2515 ในงานแสดงสินค้าไทย (ครั้งที่ 6) ของหอการค้าไทย ณ พระราชอุทยานสราญรมย์ นครหลวง” อันเป็นการแสดงที่มาและระบุชื่อของจำเลยที่ 1 ในฐานะเป็นเจ้าของสลากไว้ชัดเจน ส่วนสลากปิดผ้าของโจทก์หมาย จ.2 นั้น มีขนาดกว้างยาวและลายกนกสี่ด้านล้อมกรอบข้อความกับรูปธงชาติไทยในวงกลมมีลักษณะห้อยชายเหมือนของจำเลยที่ 1โดยเฉพาะรูปโล่ห์ที่มีเรือใบอยู่ภายใน และรูปฟันเฟือง 3 อัน มีลักษณะและวางรูปไว้ตรงที่เดียวกับของจำเลยที่ 1 คงผิดกันเฉพาะข้อความในสลากของโจทก์มีว่า “รับรองคุณภาพผ้าเนื้อดีสีไม่ตก มีหลายลายให้ท่านเลือกสีสรรงานยิ่งนัก คุณภาพเป็นที่เชื่อถือได้ ชนทุกชั้นจึงนิยมใช้”เท่านั้น หาได้ระบุชื่อโจทก์หรือร้านฉัตรชัยพานิชของโจทก์ในฐานะเป็นเจ้าของไว้ในสลากแต่อย่างใดไม่ แต่กลับมีลายเซ็นชื่อ “เอมจิตร” คล้ายชื่อจำเลยที่ 1 อยู่ใต้รูปโล่ห์ที่มีเรือใบอยู่ภายใน นายวิวัฒน์พยานโจทก์ว่าชื่อเอมจิตรเป็นชื่อของคนเขียนบล็อก แต่ก็จำนามสกุลของนายเอมจิตรไม่ได้ และที่นายวิวัฒน์ว่าได้ถ่ายทำบล็อกสลากหมาย จ. 2 ใหม่เพื่อใช้พิมพ์สลากในตอนหลัง ได้ตบแต่งให้ชัดเจนขึ้นเหมือนบล็อคเดิมทุกอย่างนั้น หากตบแต่งบล็อกแล้วเหมือนเดิมจริง ก็จะมีรูปลายกนกเหมือนของจำเลยที่ 1 ไม่ได้ การที่ตบแต่งแล้วเหมือนของจำเลยที่ 1 จึงเชื่อว่าโจทก์ได้เลียนรูปลายกนกสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 โจทก์ว่า คนซื้อผ้าจะดูเนื้อผ้าดูตราในผ้าและดูสลากปิดผ้า ถ้าไม่มีสลากปิดผ้าจะขายไม่ได้ดี ดังนั้น สลากปิดผ้าจึงเป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งในการขายผ้า เมื่อสลากปิดผ้าของโจทก์มีแต่เพียงข้อความรับรองคุณภาพ ไม่ได้มีชื่อโจทก์หรือร้านฉัตรชัยพานิชของโจทก์อยู่ในสลาก ประชาชนผู้ซื้อทั่ว ๆ ไปจึงย่อมถือเอาขนาดของสลากรูปลายกนกต่าง ๆ ในสลากและสีของสลาก ว่าเป็นสลากปิดผ้าของใคร จึงอาจหลงผิดเห็นสลากปิดผ้าของโจทก์ ซึ่งมีคำว่า”เอมจิตร” และรูปลายกนกเหมือนของจำเลยที่ 1 เป็นสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ได้ ทำให้เห็นว่าโจทก์จงใจที่จะลวงประชาชนผู้ซื้อให้หลงว่าสินค้าผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์ที่ปิดสลากหมาย จ.2 เป็นของจำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายขายผ้าได้น้อยลง ฉะนั้น การที่จำเลยนำสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ปิดในใบปลิวหมาย จ.1 ซึ่งประทับตราห้างของจำเลยที่ 1 คู่กับสลากปิดผ้าของโจทก์ เขียนข้อความข้างสลากของจำเลยที่ 1 ว่า “แท้” ข้างสลากของโจทก์ว่า “เทียม” และทำเครื่องหมายกากบาทไว้บนสลากของโจทก์ด้วย ส่งไปให้ประชาชนและร้านค้าผ้าก็เพียงเพื่อให้ผู้รับใบปลิวเข้าใจได้ถูกต้องว่า สลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 คือสลากปิดผ้าที่มีคำว่า “แท้” อยู่ข้าง ๆ ส่วนสลากปิดผ้าที่มีคำว่า “เทียม” อยู่ข้าง ๆ นั้นเป็นสลากของเทียม ไม่ใช่ของแท้ของจำเลยที่ 1 เป็นการกล่าวเกี่ยวกับสลากปิดผ้าของจำเลยที่ 1 ไปตามความจริงเพื่อให้ผู้จะซื้อผ้าโสร่งปาเต๊ะของจำเลยที่ 1 ทราบ จะได้เข้าใจถูกต้อง มิใช่เป็นการกล่าวทับถมว่า ผ้าโสร่งปาเต๊ะของโจทก์มีคุณภาพเลวและไม่ควรซื้อแต่อย่างใด การกระทำของจำเลยทั้งสองยังไม่เป็นละเมิดต่อโจทก์ โจทก์ไม่เสียหาย

พิพากษากลับ บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share