แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. 2477 มาตรา 9 วรรค 3 บัญญัติว่า “ในทางที่ไม่ใช่ทางแยก ห้ามไม่ให้เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์หรือรถรางที่กำลังแล่นภายในระยะน้อยกว่าสิบห้าเมตร”
การที่จำเลยเลี้ยวรถจะเข้าทางแพ่งหนึ่งตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับขี่มาข้างหลังภายในระยะ 7-8 เมตร จะถือว่าจำเลยฝ่าฝืนบทกฎหมายมาตรานี้ ทำให้โจทก์บาดเจ็บสาหัสโดยประมาทตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ เป็นปัญหาข้อกำหมาย
ย่อยาว
คดีนี้ โจทก์ฟ้องว่า โจทก์ขับขี่รถจักรยายนต์ตามรถยนต์จำเลย จำเลยเลี้ยวรถยนต์เข้าทางแห่งหนึ่งโดยไม่ได้ให้สัญญาณเลี้ยว ทำให้รถโจทก์ซึ่งขับขี่ตามมาหยุดไม่ทัน ชนรถยนต์จำเลยโดยแรงเป็นเหตุให้จำเลยบาดเจ็บสาหัส ทั้งนี้ เนื่องจากจำเลยขับรถโดยประมาทด้วยความเร็วปราศจากความระวัง เลี้ยวรถโดยไม่ดูกระจกหลังก่อน ผิดต่อพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๙,๒๙ (๔), ๓๑ (๒) ขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๓๐๐
ศาลแขวงพระนครใต้ไต่สวนมูลฟ้องแล้วเห็นว่าคดีโจทก์มีมูลประทับฟ้อง
จำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้ว่าโจทก์ขับขี่รถจักรยานยนต์มาโดยความเร็ว ขับแซงขวาขึ้นมาไม่ให้สัญญาณ เป็นความผิดของโจทก์เอง
ศาลแขวงพระนครใต้พิจารณาแล้วเห็นว่า หลักฐานยังฟังไม่ได้ว่าจำเลยประมาท โจทก์บาดเจ็บสาหัสเพราะโจทก์ขับรถมาโดยไม่ชลอความเร็วลง รถจึงชนกัน พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแขวงพระนครใต้สั่งว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวาง มาตรา ๒๒ ไม่รับอุทธรณ์
โจทก์อุทธรณ์คำสั่ง ศาลอุทธรณ์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อเท็จจริงสั่งยกอุทธรณืคำสั่ง
โจทก์ฎีกาคำสั่งศาลอุทธรณ์ว่า อุทธรณ์ของโจทก์เป็นปัญหาข้อกฎหมรย ให้ศาลอุทธรณ์รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณา
ศาลฎีกาเห็นว่า พระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๙ วรรค ๓ บัญญัติว่า “ในทางที่ไม่ใช่ทางแยก ห้ามไม่ให้เลี้ยวตัดหน้ารถยนต์หรือรถรางที่กำลังแล่นภายในระยะน้อยกว่าสิบห้าเมตร” ฉะนั้น การที่จำเลยเลี้ยวรถจะเข้าทางแห่งหนึ่งตัดหน้ารถจักรยานยนต์ที่โจทก์ขับขี่มาข้างหลังภายในระยะประมาณ ๗-๘ เมตร ตามที่ศาลชั้นต้นฟังมา จะถือว่าจำเลยฝ่าฝืนบทกฎหมายมาตรานี้ ทำให้โจทก์บาดเจ็บสาหัสโดยประมาทตามอุทธรณ์ของโจทก์หรือไม่ จึงเป็นปัญหาข้อกฎหมาย ที่ศาลอุทธรณ์พึงวินิจฉัยให้ พิพากษายกคำสั่งศาลอุทธรณ์ ให้ศาลอุทธรณ์ชี้ขาดให้ข้อกฎหมายว่า จำเลยประมาทเพราะมิได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ. ๒๔๗๗ มาตรา ๙ วรรค ๓ หรือไม่ แล้วพิพากษาไปตามรูปคดี