คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 713/2506

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

(1)ในคดีเรื่องเดิม เมื่อศาลฎีกาฟังว่าคู่ความตกลงซื้อขายที่ดินเต็มทั้งโฉนด ต่อมาฝ่ายใดจะฟ้องร้องหรือต่อสู้กันเป็นคดีใหม่ว่าซื้อขายเฉพาะบางส่วน เช่นนี้ ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความแพ่งมาตรา 148 ทั้งนี้ ถ้าหากเป็นคดีที่ไม่เกี่ยวกับที่ดินซึ่งถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา
(2) ในสัญญาซื้อขายนั้นอาจระบุถึงที่ดินในเขตเวนคืนได้ แต่ไม่ทำให้ผู้ซื้อมีกรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกเวนคืน
(3) ในคดีเดิม ศาลฎีกาได้พิพากษาให้รัฐบาลคืนที่ดินที่เวนคืนแต่เหลือใช้แก่จำเลย ต่อมาโจทก์ฟ้องเป็นคดีใหม่ว่าจำเลยได้ทำสัญญาขายที่ดินในเขตเวนคืนดังกล่าว จึงมีประเด็นว่า โจทก์จะเรียกร้องให้ส่งมอบได้หรือไม่ ซึ่งเป็นคนละประเด็นกับคดีเรื่องก่อนๆ จึงไม่ต้องห้ามตามประมวบกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 148
(4) ในเวลาทำสัญญาซื้อขายที่ดิน แม้ผู้ขายจะไม่มีกรรมสิทธิ์ เพราะที่นี้ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกา แต่ต่อมาผู้ขายได้กรรมสิทธิ์มา เพราะรัฐบาลคืนให้ ผู้ซื้อย่อมเรียกร้องเอาจากผู้ขายได้.

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้แสดงกรรมสิทธิ์ที่ดิน ถ้าแสดงไม่ได้ก็ให้จำเลยโอนหรือใช้ราคาพร้อมทั้งดอกเบี้ย
จำเลยให้การต่อสู้และฟ้องแย้ง
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า ข้ออ้างต่างๆ ตามฟ้องโจทก์เป็นการฟ้องซ้ำกับคดีแพ่งเลขแดงที่ ๑๑๕๐/๒๔๙๒ และว่า ขณะที่ดินตกเป็นของแผ่นดิน จะอ้างการครอบครองต่อสู้แผ่นดินไม่ได้ พิพากษายกฟ้อง
โจทก์จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้ให้โจทก์ที่ ๒ ใช้ค่าเสียหายแก่จำเลยตั้งแต่ ๒๘ กันยายน ๒๔๙๘ จนกว่าจะออกไปจากที่พิพาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกากล่าวว่า ได้พิจารณาคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๒/๒๔๙๑ แล้วเห็นว่าเป็นการฟังข้อเท็จจริงว่าจำเลยตกลงขายที่ดินสองโฉนดให้แก่ฝ่ายโจทก์เต็มทั้งโฉนด และพิพากษาให้จำเลยโอนให้แก่โจทก์เต็มทั้งโฉนดและกล่าวต่อไปว่า คดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๒/๒๔๙๑ นี้ ถ้าหากไม่เกี่ยวกับที่ดินที่ถูกเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาเวนคืนที่ดินแล้วจำเลยจะกล่าวอ้างขึ้นฟ้องร้องหรือต่อสู้คดีไม่ได้เลยว่าที่ดินภายในเขตโฉนดที่ ๒๑๘๒ หรือ ๒๑๘๙ นั้น จำเลยทำสัญญาซื้อขายให้แก่ฝ่ายโจทก์เฉพาะบางส่วน (และจำเลยจะกล่าวอ้าง) ไม่ได้ด้วยว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยโอนที่ให้แก่ฝ่ายโจทก์เฉพาะบางส่วนไม่เต็มตามโฉนด ซึ่งถ้าจำเลยฟ้องคดีหรือต่อสู้คดีดังกล่าว ก็ย่อมถือว่าเป็นการรื้อฟ้องร้องหรือว่ากล่าวกันอีกในประเด็นที่ศาลวินิจฉัยแล้ว ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๘
อนึ่ง ศาลฎีกาได้กล่าวต่อไปว่า สำหรับตดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๒๒/๒๔๙๕ ศาลฎีกามิได้มุ่งวินิจฉัยว่า โจทก์กับพระยาราชพินิจจัยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินโดยมีข้อสัญญาต่อกันอย่างไรบ้างเพราะถึงแม้โจทก์กับพระยาราชพินิจจัยจะมีข้อสัญญาระบุซื้อขายที่ดินในเขตเวนคืน ก็ไม่ทำให้ผู้ซื้อได้กรรมสิทธิ์ในที่ดินที่ถูกเวนคืน ในทางกลับกัน แม้ที่ดินจะอยู่ในเขตเวนคืน ผู้ที่ทำสัญญาซื้อขายก็อาจจะระบุข้อสัญญากินถึงที่ดินในเขตที่ถูกเวนคืนได้ ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ไม่อาจเป็นไปได้ ส่วนข้อสัญญานั้นจะมีผลต่อกันอย่างไรเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ข้อเท็จจริงที่ว่าจำเลยนี้กับพระยาราชพินิจจัยทำสัญญาจะซื้อขายที่ดินต่อกันโดยมีข้อสัญญาอย่างไรบ้างนั้น เป็นประเด็นข้อเท็จจริงในคดีตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๒/๒๔๙๑ ซึ่งศาลได้พิพากษาคดีเสร็จเด็ดขาดไปแล้ว
สำหรับคดีที่โจทก์จำเลยพิพาทกันไปคดีเรื่องใหม่นี้ เป็นกรณีที่โจทก์ฟ้องอ้างว่าจำเลยทำสัญญาขายที่พิพาทให้แก่ฝ่ายโจทก์ แต่ปรากฎว่าที่พิพาทหนี้อยู่ในเขาตเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกาจำเลยได้ไปฟ้องกระทรวงมหาดไทยของให้คืนที่รายนี้แกจำเลยในฐานะที่จำเลยเป็นเจ้าของมาก่อนพระราชกฤษฎีกา ฯ ศาลพิพากษาให้กระทรวงมหาดไทยคืนที่ดินให้แก่จำเลยแล้ว โจทก์จึงเรียกร้องเอาที่พิพาทหนี้จากจำเลย อันเป็นคดีที่มีประเด็นว่า เมื่อจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่พิพาทแก่ฝ่ายโจทก์แล้ว เมื่อจำเลยได้รับที่พิพาทกลับคืนมา ฝ่ายโจทก์จะเรียกร้องของให้จำเลยส่งมอบที่พิพาทแก่โจทก์ได้หรือไม่ อันเป็คดีมีประเด็นคนละอย่างกับคดีเรื่องก่อนๆ เห็นว่าคดีนี้ไม่ต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา ๑๔๘
ในคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๙๒/๒๔๙๑ ศาลฎีกาพิพากษาว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินให้โจทก์ทั้งแปลง จึงต้องถือข้อเท็จจริงตามนี้
เมื่อถือว่าจำเลยทำสัญญาซื้อขายที่ดินในโฉนดที่ ๒๑๘๒ และ ๒๑๘๙ ซึ่งคลุมถึงที่พิพาทด้วย ศาลฎีกาเห็นว่า แม้จำเลยผู้ขายไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินในเวลาทำสัญญาซื้อขายก็ตาม แต่เมื่อได้กรรมสิทธิ์มาเป็นของจำเลยแล้ว โจทก์ฝ่ายผู้ซื้อก็เรียกร้องเอาที่ดินนั้นจากจำเลยตามที่จำเลยทำสัญญาขายให้ไว้แก่ฝ่ายโจทก์ได้
พิพากษากลับ ให้ที่พิพาทเป็นของโจทก์ที่ ๒ ห้ามจำเลยมิให้ขัดขวางการใช้สิทธิของโจทก์ที่ ๒ ยกฟ้องแย้งฯ.

Share