คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 938/2531

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

หลังจากหนี้ตามเช็คของลูกหนี้จำนวน 349,782 บาท ได้ถูกธนาคารเจ้าหนี้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ธนาคารเจ้าหนี้ยังยอมให้ลูกหนี้ทำสัญญาขายลดเช็ควงเงินสองล้านบาทต่อธนาคารเจ้าหนี้อีก เป็นกรณีที่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวแล้วยังยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ขึ้น ดังนี้ธนาคารเจ้าหนี้จึงต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา94(2) แห่ง พ.ร.บ. ล้มละลาย พุทธศักราช 2483.(ที่มา-ส่งเสริม)

ย่อยาว

คดีนี้มีมูลกรณีสืบเนื่องจากธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้เป็นโจทก์ฟ้องจำเลยให้ล้มละลาย ศาลชั้นต้นมีคำสั่งพิทักษ์ทรัพย์ลูกหนี้ (จำเลย) เด็ดขาด ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้ยื่นคำขอรับชำระหนี้เป็นค่าขายลดเช็คตามคำพิพากษา จำนวน 5,853,408.70 บาท
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์นัดตรวจคำขอรับชำระหนี้แล้วทำความเห็นสมควรให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด ได้รับชำระหนี้ในหนี้อันดับ 10 จำนวน 3,846,121.64 บาท ส่วนหนี้ตามสัญญาขายลดเช็คอันดับที่ 1 ถึง 9 เป็นเงิน 2,006,210.93 บาทนั้น เชื่อว่าเป็นหนี้ที่ธนาคารเจ้าหนี้ยอมให้ลูกหนี้ก่อขึ้นทั้งที่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการที่ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวตามมาตรา 94 (2)สมควรยกคำขอรับชำระหนี้ดังกล่าว
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้เต็มจำนวน 5,853,408.70 บาท โดยมีเงื่อนไขว่า หากเจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จากกองทรัพย์สินของห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองค้าผ้านายพัลลภ เอี่ยมมงคลชัย และจำเลยอื่นในคดีแพ่งหมายเลขแดงที่7059/2522 แล้วเพียงใด ก็ให้สิทธิที่จะได้รับชำระหนี้ในคดีนี้ลดลงเพียงนั้น
เจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ผู้ร้องอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด เจ้าหนี้ได้รับชำระหนี้จำนวน 3,846,121.64 บาท ตามมาตรา 130 (8) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำสั่งของศาลชั้นต้น
เจ้าหนี้ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ‘…ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า เมื่อวันที่18 พฤษภาคม 2520 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองค้าผ้า ซึ่งมีนายพัลลภ เอี่ยมมงคลชัย เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการได้ทำสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีโดยมีนายพัลลภ เอี่ยมมงคลชัย เป็นผู้ค้ำประกัน ส่วนลูกหนี้ได้เปิดบัญชีกระแสรายวันกับธนาคารเจ้าหนี้ ใช้ชื่อบัญชีห้างกรุงเทพ เมื่อปี พ.ศ. 2520 และเมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2520 นายพัลลภ เอี่ยมมงคลชัย และนายสมเกียรติเอี่ยมมงคลชัย ได้ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.8 ไว้กับเจ้าหนี้ในวงเงิน 5,000,000 บาท และเมื่อระหว่างวันที่ 1ธันวาคม 2520 ถึงวันที่ 12 มกราคม 2521 ห้างหุ้นส่วนจำกัดเมืองทองค้าผ้าได้นำเช็คไปขายลดกับธนาคารเจ้าหนี้ จำนวน25 ฉบับ ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน 11 ฉบับ เป็นเงิน 2,668,400บาท และเช็คที่ได้รับการปฏิเสธเป็นเช็คของห้างกรุงเทพซึ่งมีลูกหนี้เป็นผู้ลงลายมือชื่อสั่งจ่ายจำนวน 2 ฉบับ ลงวันที่10 มีนาคม 2521 และ 8 เมษายน 2521 สั่งจ่ายเงิน 99,782 บาท และ250,000 บาทตามลำดับ ตามเอกสารหมาย จ.28 และ จ.30 และเมื่อปีพ.ศ. 2521 ลูกหนี้ได้รับอนุมัติวงเงินขายลดเช็คจำนวน 2,000,000บาท ลูกหนี้ได้ขายลดเช็คกับธนาคารเจ้าหนี้ 9 ครั้งเป็นเงิน1,824,829 บาท เมื่อเช็คถึงกำหนด ธนาคารเจ้าหนี้นำเช็คไปเรียกเก็บเงิน ธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน 16 ฉบับ เป็นเงิน 1,535,014บาท ตามเอกสารหมาย จ.11 ถึง จ.26 มีปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยว่า การที่ธนาคารเจ้าหนี้อนุมัติให้ลูกหนี้ขายลดเช็คในวงเงิน 2,000,000 บาทนั้น ธนาคารเจ้าหนี้รู้อยู่แล้วว่าลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัวหรือไม่
พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเป็นอันฟังยุติว่า หลังจากหนี้ตามเช็คของลูกหนี้จำนวน 349,782 บาท ได้ถูกธนาคารเจ้าหนี้ปฏิเสธการจ่ายเงินแล้ว ธนาคารเจ้าหนี้ยังยอมให้ลูกหนี้ทำสัญญาขายลดเช็คในวงเงินสองล้านบาทต่อธนาคารเจ้าหนี้อีกซึ่งนับเป็นเรื่องที่ผิดปกติ เพราะการที่ธนาคารเจ้าหนี้จะยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้สินกับธนาคารได้นั้น ตามธรรมดาจะต้องมีหลักประกันหรือมีหลักฐานอย่างอื่นที่พอเชื่อถือได้ว่าหนี้สินเหล่านั้นจะต้องไม่สูญเปล่า การที่ธนาคารรู้สถานะทางการเงินของลูกหนี้ดีแล้ว ยังขืนยอมให้ลูกหนี้ก่อหนี้ใหม่ขึ้นอีกเช่นนี้ แล้วจะมากล่าวแก้เป็นอย่างอื่นในภายหลังตามที่ฎีกาว่า หนี้ตามเช็คนั้นยังมิได้ถูกเรียกร้องหรือมีผู้ฟ้องร้องเพื่อบังคับให้ลูกหนี้ชำระเงินตามเช็ค จึงยังถือไม่ได้ว่าลูกหนี้เป็นผู้มีหนี้สินล้นพ้นตัวนั้นศาลฎีกาเห็นว่าฟังไม่ขึ้น ทั้งยังปรากฏว่าก่อนหน้านี้ธนาคารเจ้าหนี้ก็ได้เคยปฏิเสธการจ่ายเงินตามเช็คที่ลูกหนี้นำมาขายลดต่อธนาคารเจ้าหนี้มาแล้ว เช่น เช็คตามเอกสารหมาย จ.11,12 และ 13 และสำหรับเช็คจำนวน 53 ฉบับ ซึ่งลูกหนี้ได้นำมาขายลดให้แก่ธนาคารเจ้าหนี้ในคดีนี้ และถูกธนาคารตามเช็คปฏิเสธการจ่ายเงิน 16 ฉบับ ก็เป็นจำนวนเงินรวมกันถึงหนึ่งล้านห้าแสนบาทเศษ อันเป็นยอดหนี้ที่เจ้าหนี้นำมายื่นคำขอรับชำระหนี้ตามอันดับที่ 1 ถึงที่ 9 ซึ่งเป็นเหตุผลที่ยืนยันให้เห็นถึงฐานะอันตกต่ำทางการเงินของลูกหนี้ ทั้งเช็ค 16 ฉบับที่ถูกปฏิเสธการใช้เงินนี้ยังปรากฏว่าเป็นเช็คของธนาคารเจ้าหนี้เสียเองถึง 10 ฉบับ จากพฤติการณ์ในทางปฏิบัติของธนาคารเจ้าหนี้ซึ่งเป็นเรื่องผิดปกติธรรมดาดังกล่าว จึงเป็นกรณีต้องห้ามมิให้ขอรับชำระหนี้ตามมาตรา94 (2) แห่งพระราชบัญญัติล้มละลาย พุทธศักราช 2483 ที่ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยมาชอบแล้ว ฎีกาของธนาคารเจ้าหนี้ฟังไม่ขึ้น’
พิพากษายืน.

Share