แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
คดีก่อนโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด โจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียง และไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ และคดีต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตาม พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย 199,500 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด (วันที่ 9 สิงหาคม 2554) เงินเพิ่มของค่าชดเชยจำนวน 29,925 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน ถึงวันฟ้อง เป็นเงินเพิ่ม 628,425 บาท และเงินเพิ่มของค่าชดเชยจำนวน 29,925 บาท ทุกระยะเวลา 7 วัน นับแต่วันฟ้อง สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 35,245 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันผิดนัด ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม 678,300 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง และค่าเสียหายที่ทำละเมิดต่อโจทก์กรณีจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียงและไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์เจ็บป่วย ทุกข์ทรมานและสูญเสียการได้ยินไปตลอดชีวิต เป็นเงิน 758,100 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันฟ้อง จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
อธิบดีผู้พิพากษาศาลแรงงานกลางมีคำวินิจฉัยที่ 25/2555 ว่า คดีตามคำฟ้องของโจทก์ในส่วนเกี่ยวกับค่าเสียหายจากการกระทำละเมิดต่อโจทก์ทำให้โจทก์ต้องเจ็บป่วยและสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแรงงาน
ระหว่างพิจารณาของศาลแรงงานกลาง จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่า ฟ้องโจทก์เป็นฟ้องซ้อนและฟ้องซ้ำกับคดีหมายเลขดำที่ 2806/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 3257/2554 ของศาลแรงงานกลางหรือไม่
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายตามคำร้องของจำเลยว่าการฟ้องคดีนี้กับคดีหมายเลขดำที่ 2806/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 3257/2554 ของศาลแรงงานกลางทั้งสองเรื่องเป็นการเรียกร้องสิทธิในมูลหนี้หรือสิทธิอันเกี่ยวกับการเลิกจ้างในคราวเดียวกันและสิทธิอันเกี่ยวเนื่องจากสัญญาจ้างแรงงาน ซึ่งโจทก์มีสิทธิฟ้องจำเลยเพื่อเรียกร้องเงินเพิ่มของค่าชดเชยและค่าเสียหายอันเกิดจากมูลละเมิดดังกล่าวในคราวเดียวกันได้หรือขอแก้ไขคำฟ้องในคดีเดิมภายในกำหนดเวลาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ดังนั้นเมื่อโจทก์ฟ้องคดีนี้ต่อศาลแรงงานกลางในขณะที่คดีก่อนคือคดีหมายเลขดำที่ 2806/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 3257/2554 อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา จึงเป็นฟ้องซ้อนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 173 วรรคสอง (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 โจทก์ย่อมไม่มีอำนาจฟ้อง กรณีไม่มีเหตุจำต้องวินิจฉัยประเด็นอื่นอีกเพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลง พิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า คดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายโดยอ้างมูลละเมิดกรณีจำเลยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียงและไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย เป็นเหตุให้โจทก์ได้รับความเสียหายเจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างนั้น มิใช่เรื่องเดียวกับค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในคดีก่อนที่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีหมายเลขดำที่ 2806/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 3257/2554 ของศาลแรงงานกลาง คำฟ้องคดีนี้ในส่วนประเด็นข้างต้นจึงไม่เป็นฟ้องซ้อนกับคดีก่อน ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในข้อกฎหมายไม่ชอบนั้น คดีก่อนคือคดีหมายเลขดำที่ 2806/2554 คดีหมายเลขแดงที่ 3257/2554 ของศาลแรงงานกลาง ซึ่งโจทก์ฟ้องว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมพร้อมกับมีคำขอเรียกค่าเสียหายจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม อ้างเหตุว่าโจทก์ไม่ได้กระทำความผิด เมื่อโจทก์ทำงานให้แก่จำเลยจนต้องสูญเสียแก้วหูในส่วนของการได้ยินทั้งสองข้าง การหางานทำใหม่เป็นเรื่องยากเพราะไม่มีบริษัทไหนต้องการรับคนพิการเข้าทำงาน และขณะถูกเลิกจ้างโจทก์มีอายุมาก อันเป็นค่าเสียหายที่มีมูลหนี้หรือสิทธิเรียกร้องเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ส่วนคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างอันเนื่องจากจำเลยกระทำละเมิดโดยจงใจละเลยไม่จัดสถานที่ทำงานให้เหมาะสม ไม่จัดหาอุปกรณ์ป้องกันเสียงและไม่จัดฝึกอบรมเรื่องความปลอดภัยตามกฎหมาย อันเป็นค่าเสียหายที่โจทก์มีสิทธิเรียกร้องเมื่อโจทก์ปฏิบัติงานให้แก่จำเลย ซึ่งจำเลยในฐานะนายจ้างมีหน้าที่ดำเนินการในการบริหารและการจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จึงเป็นสิทธิเรียกร้องในมูลหนี้ต่างรายกัน มิใช่เรื่องเดียวกันกับคดีก่อน คำฟ้องคดีนี้ในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างจึงไม่ใช่ฟ้องซ้อนกับคดีก่อนข้างต้น โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องจำเลยเรียกค่าเสียหายดังกล่าวได้ คดีจึงต้องมีการฟังข้อเท็จจริงในประเด็นที่โจทก์เรียกค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยต้องสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้างต่อไป ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นในปัญหาข้อกฎหมายว่าเป็นฟ้องซ้อนแล้วยกฟ้องนั้นจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น เห็นสมควรย้อนสำนวนให้ศาลแรงงานกลางพิจารณาและพิพากษาใหม่ตามรูปคดีตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสองและวรรคสาม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางที่ให้ยกคำขอของโจทก์ที่ให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายจากการที่โจทก์เจ็บป่วยสูญเสียโสตประสาทการได้ยินทั้งสองข้าง แล้วพิจารณาและพิพากษาประเด็นข้อนี้ใหม่ตามรูปคดี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง