คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5289/2545

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชยสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าและค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานฯ ส่วนจำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่โดยการลักทรัพย์ของจำเลย ซึ่งจำเลยได้ฟ้องโจทก์เป็นคดีอาญาแล้ว อันเป็นการยกข้อต่อสู้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้อง ดังนี้ ศาลแรงงานกลางสามารถฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบแล้ววินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทในคดีนี้ได้โดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาในข้อเท็จจริงนั้นก่อน แม้ว่าทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นทรัพย์ที่จำเลยอ้างไว้ในคดีแพ่งและคดีอาญา แต่หากจำเลยจะขอให้บังคับทางแพ่งด้วยก็ได้แต่ขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ฐานละเมิดเท่านั้น จำเลยจะขอให้เลิกจ้างโจทก์ด้วยไม่ได้ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องรอหรือถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่อย่างใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยจ้างโจทก์เป็นลูกจ้างทำงานในตำแหน่งหัวหน้าคลังสินค้าได้รับจ้างอัตราสุดท้ายเดือนละ 24,000 บาท กำหนดจ่ายค่าจ้างทุกวันสิ้นเดือนต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยที่โจทก์ไม่ได้กระทำความผิด ไม่ได้บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายและเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โจทก์มีสิทธิได้รับค่าชดเชย 192,000 บาท สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม2,016,000 บาท ขอให้บังคับจำเลยชำระสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า 24,000 บาทค่าชดเชย 192,000 บาท และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม 2,016,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยให้การว่า โจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยด้วยการลักทรัพย์สุราต่างประเทศของจำเลย จำเลยจึงเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ต้องรับผิดชดใช้เงินให้แก่โจทก์ ขอให้ยกฟ้อง

ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยชำระเงินสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าค่าชดเชย และค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม รวมเป็นเงินจำนวน 444,000 บาทแก่โจทก์

จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยอุทธรณ์ว่า จำเลยเลิกจ้างโจทก์เนื่องจากตรวจสอบพบว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาฐานลักทรัพย์หรือยักยอกทรัพย์สุราต่างประเทศจำนวน 10,339 ขวด จำเลยได้ยื่นฟ้องโจทก์ต่อศาลอาญากรุงเทพใต้เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2543 ในความผิดฐานลักทรัพย์นายจ้างและยักยอกทรัพย์เป็นคดีอาญาหมายเลขดำที่ 6224/2543 ซึ่งคดีอาญาดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการไต่สวนมูลฟ้องของศาลอาญากรุงเทพใต้ และคดีนี้จำเลยให้การต่อสู้ว่าจำเลยไม่ต้องรับผิดใด ๆ ต่อโจทก์เนื่องจากจำเลยเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์กระทำผิดอาญาต่อจำเลย คดีนี้จึงเป็นคดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาปรากฏว่าคดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์ยังอยู่ในการพิจารณาของศาลอาญากรุงเทพใต้ซึ่งศาลดังกล่าวยังไม่มีคำพิพากษา การที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มิได้กระทำความผิดอาญาต่อจำเลยจึงมิได้ถือเอาข้อเท็จจริงในส่วนคดีอาญา เป็นการขัดต่อประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 46 นั้น เห็นว่า คดีนี้โจทก์ฟ้องจำเลยกล่าวหาว่าจำเลยเลิกจ้างโจทก์โดยไม่ได้กระทำความผิด ไม่บอกกล่าวล่วงหน้าตามกฎหมายและเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ โดยมีคำขอบังคับให้จำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 จำเลยให้การต่อสู้คดีว่าโจทก์ทุจริตต่อหน้าที่ กระทำความผิดอาญาโดยเจตนาแก่จำเลยด้วยการลักทรัพย์ของจำเลย ซึ่งเป็นการยกข้อต่อสู้ตามพระราชบัญญัติดังกล่าวข้างต้นขึ้นอ้างเพื่อไม่ต้องจ่ายเงินตามที่โจทก์เรียกร้องในการพิจารณาคดีเกี่ยวกับสิทธิเรียกร้องของโจทก์ ศาลแรงงานกลางย่อมฟังข้อเท็จจริงจากพยานหลักฐานที่โจทก์และจำเลยนำสืบและนำมาวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อพิพาทในคดีได้โดยไม่จำต้องมีคำพิพากษาของศาลในคดีอาญาในข้อเท็จจริงนั้นก่อน นอกจากนี้คดีอาญาที่จำเลยฟ้องโจทก์กล่าวหาว่าโจทก์ลักทรัพย์ ลักทรัพย์นายจ้างและยักยอกทรัพย์และขอให้ศาลอาญากรุงเทพใต้ลงโทษโจทก์นั้น แม้ทรัพย์ดังกล่าวจะเป็นทรัพย์ที่จำเลยกล่าวอ้างไว้ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญา แต่หากจำเลยจะขอให้บังคับทางแพ่งด้วยก็ได้แต่ขอให้คืนทรัพย์หรือใช้ราคาทรัพย์ฐานละเมิดเท่านั้น จำเลยจะขอให้เลิกจ้างโจทก์ด้วยไม่ได้ คดีนี้จึงมิใช่คดีแพ่งเกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาดังที่จำเลยอ้าง ศาลแรงงานกลางไม่จำต้องรอหรือถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาแต่อย่างใด อุทธรณ์ของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share