คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1261/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยที่ 1 กู้เงินโจทก์ไป โดยมอบใบทะเบียนเรือของตนให้โจทก์ยึดถือไว้เป็นประกัน ต่อมาได้ร่วมกระทำผิดกับจำเลยที่ 2 ให้จำเลยที่ 2 ไปแจ้งความต่อพนักงานสอบสวนว่าใบทะเบียนเรือนั้นหายไป เป็นหลักฐานซึ่งทำให้จำเลยที่ 1 ขอให้กรมเจ้าท่าออกใบทะเบียนเรือให้จำเลยที่ 1 ได้ใหม่ ซึ่งจำเลยที่ 1 จะสามารถขายเรือให้ผู้อื่นได้โดยไม่ต้องใช้ใบทะเบียนเดิมฉบับที่อยู่ที่โจทก์แต่เมื่อการแจ้งความเท็จนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อเจ้าพนักงานและตามคำแจ้งความนั้น จำเลยมิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์อันจะถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรง โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 2(4) ไม่มีอำนาจฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานแจ้งความเท็จ
(ประชุมใหญ่ครั้งที่ 7/2517)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยทั้งสองร่วมกันให้จำเลยที่ ๒ เป็นผู้นำเอาความซึ่งจำเลยทั้งสองรู้อยู่แล้วว่าเป็นความเท็จ และอาจทำให้โจทก์และเจ้าพนักงานเสียหายมาแจ้งแก่ร้อยตำรวจโทวิชัย สุนทรกิจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่า “วันนี้ เวลา ๘.๐๐ น. จำเลยที่ ๒ ได้ทำทะเบียนเรือไทยชื่อเรือ ส.ป. ไพโรจน์นาวา ๑ เลขที่ ๙๔๓๕๗ ของจำเลยที่ ๑ ตกน้ำหายไปที่ท่าเรือคลองสาน ในลำน้ำเจ้าพระยา ตำบลคลองสาน อำเภอคลองสาน จังหวัดธนบุรี” ร้อยตำรวจโทวิชัยหลงเชื่อจึงได้จดข้อความเท็จนั้นลงในรายงานเบ็ดเสร็จประจำวัน อันจำเลยที่ ๑ สามารถจะใช้เป็นพยานและเป็นหลักฐานในการขอรับใบทะเบียนเรือไทยชื่อเรือ ส.ป.ไพโรจน์นาวา ๑ เลขที่ ๙๔๓๕๗ ของจำเลยที่ ๑ จากกรมเจ้าท่าใหม่ได้อีก จำเลยที่ ๑ได้นำรายงานเบ็ดเสร็จประจำวันดังกล่าวไปแสดงเป็นพยานหลักฐานต่อเจ้าพนักงานกรมเจ้าท่า เจ้าพนักงานกรมเจ้าท่าได้ออกใบทะเบียนเรือไทยชื่อเรือ ส.ป. ไพโรจน์นาวา ๑ เลขที่ ๙๔๓๕๗ ให้แก่จำเลยที่ ๑ ใหม่อีกทั้ง ๆ ที่จำเลยที่ ๑ ยังไม่มีสิทธิจะขอใบทะเบียนเรือใหม่ได้ ข้อความที่จำเลยที่ ๒ แจ้งและให้เจ้าพนักงานจด ล้วนเป็นความเท็จความจริงใบทะเบียนเรือดังกล่าวจำเลยที่ ๑ ได้นำมามอบให้โจทก์ยึดถือไว้เพื่อเป็นหลักฐานและหลักประกันในการกู้เงินที่จำเลยที่ ๑ ได้ยืมไปจากโจทก์ยังมิได้ชำระเงิน และใบทะเบียนเรือดังกล่าวยังอยู่ในความครอบครองของโจทก์ การกระทำของจำเลยทั้งสองเป็นเหตุให้จำเลยที่ ๑ ได้ทะเบียนเรือใหม่อีกฉบับหนึ่ง ซึ่งจำเลยที่ ๑ สามารถจะขายเรือดังกล่าวให้บุคคลอื่นได้โดยไม่ต้องใช้ใบทะเบียนเรือฉบับเดิมฉบับที่อยู่ที่โจทก์ โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๒๖๗, ๘๓, ๙๐
ศาลชั้นต้นไต่สวนมูลฟ้องแล้วให้ประทับฟ้องเฉพาะข้อหาแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๘๓ ออกหมายจับจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ตัว จึงให้จำหน่ายคดีเฉพาะจำเลยที่ ๒ ชั่วคราว
จำเลยที่ ๑ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นฟังว่า จำเลยแจ้งความเท็จ และโจทก์เป็นผู้เสียหายพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗, ๘๓ จำคุก ๒ เดือน ปรับ ๕๐๐ บาท
จำเลยที่ ๑ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า โจทก์มิใช่ผู้เสียหาย จึงไม่มีอำนาจฟ้องพิพากษากลับ เป็นให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาได้วินิจฉัยปัญหาที่ว่าโจทก์เป็นผู้เสียหายมีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๓๗ หรือไม่ โดยที่ประชุมใหญ่แล้ว เห็นว่าข้อความอันเป็นเท็จที่จำเลยแจ้งต่อเจ้าพนักงานนั้นเป็นเรื่องที่จำเลยกระทำต่อร้อยตำรวจโทวิชัย สุนทรกิจ ซึ่งเป็นเจ้าพนักงานตามคำแจ้งความของจำเลยมิได้แจ้งเจาะจงกล่าวถึงโจทก์อันจะถือได้ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายโดยตรงจากคำแจ้งอันเป็นเท็จของจำเลยดังกล่าวแต่อย่างใด โจทก์จึงมิได้รับความเสียหายโดยตรงเนื่องจากคำแจ้งความอันเป็นเท็จของจำเลยซึ่งจำเลยกระทำต่อร้อยตำรวจโทวิชัย สุนทรกิจ โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒(๔)ไม่มีอำนาจฟ้อง
พิพากษายืน

Share