คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1587/2517

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการค้าหลายประเภทซึ่งรวมทั้งการเข้าทำสัญญาค้ำประกันต่อธนาคารในการประกอบธุรกิจในทางค้ำประกันโจทก์ได้ทำสัญญาต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยโจทก์จะรับเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในบรรดาธุรกิจต่างๆ ซึ่งธนาคารจะมอบหมายให้เป็นผู้ค้ำประกันผู้เคยค้าที่จะทำนิติกรรมผูกพันกับธนาคาร ซึ่งในการนี้ธนาคารได้ช่วยค่าใช้จ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือนๆ ละไม่น้อยกว่า 5,000 บาททุกเดือน และยังแบ่งผลประโยชน์ที่ธนาคารจะพึงได้รับจากดอกเบี้ยที่โจทก์เข้าค้ำประกันให้อีก ทั้งธนาคารยอมให้โจทก์เรียกผลประโยชน์ในการค้ำประกันจากลูกหนี้ตามสมควร โดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคาร เพื่อประกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของโจทก์ โจทก์ได้นำหลักทรัพย์มูลค่าสิบล้านบาทมาวางเป็นประกันไว้ต่อธนาคารการประกอบกิจการค้าของโจทก์ดังกล่าวแล้วเป็นเรื่องที่โจทก์ประกอบธุรกิจของโจทก์เอง โดยโจทก์ใช้ทรัพย์สินเป็นการลงทุนวางเป็นประกันต่อธนาคารและในการที่โจทก์เข้าทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้กับธนาคารนั้น แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทน โจทก์ก็เสี่ยงในการที่จะได้รับความเสียหายในฐานะร่วมรับผิดต่อธนาคารในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเป็นส่วนตัว การประกอบกิจการค้าของโจทก์จึงไม่เข้าลักษณะเป็นนายหน้าและตัวแทน ทั้งมิใช่เป็นการรับจัดธุรกิจให้ผู้อื่นตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า 10แต่เป็นการประกอบธุรกิจการค้าในประเภทการค้า 12 ธนาคารโดยกิจการของโจทก์เข้าลักษณะกิจการของผู้ที่ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่าโจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เข้าค้ำประกันลูกหนี้ของธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยได้รับผลประโยชน์จากธนาคารหรือลูกค้าเป็นรายได้ โจทก์เสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๒.๕ แต่เจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ ๑ ประเมินให้โจทก์เสียร้อยละ ๕.๕ ซึ่งไม่ถูกต้อง โจทก์อุทธรณ์จำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์มีคำสั่งยกอุทธรณ์โจทก์ ขอให้พิพากษาว่าการประเมินและคำชี้ขาดของจำเลยไม่ชอบให้เพิกถอน
จำเลยทั้งสี่ให้การว่า การประเมินและคำวินิจฉัยอุทธรณ์ถุกต้องแล้ว
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า การประเมินของจำเลยที่ ๑ และคำวินิจฉัยชี้ขาดของจำเลยที่ ๒, ๓, ๔ ไม่ชอบด้วยกฎหมายให้เพิกถอน
จำเลยทั้งสี่อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยทั้งสี่ฎีกา
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า โจทก์เป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคลมีวัตถุประสงค์ประกอบธุรกิจการค้าหลายประเภท ซึ่งรวมทั้งการเข้าทำสัญญาค้ำประกันต่อธนาคาร ในการประกอบธุรกิจในทางค้ำประกันโจทก์ได้ทำสัญญาต่อธนาคารกรุงเทพ จำกัด โดยโจทก์จะรับเข้าเป็นผู้ค้ำประกันในบรรดาธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งธนาคารจะมอบหมายให้เป็นผู้ค้ำประกันผู้เคยค้าที่จะทำนิติกรรมผูกพันกับธนาคาร ซึ่งการนี้ธนาคารได้ช่วยค่าใช้จ่ายให้โจทก์เป็นรายเดือน ๆ ละไม่น้อยกว่า ๕,๐๐๐ บาททุกเดือน และยังแบ่งผลประโยชน์ที่ธนาคารจะพึงได้รับจากดอกเบี้ยที่โจทก์เข้าค้ำประกันให้อีกทั้งธนาคารยอมให้โจทก์เรียกผลประโยชน์ในการค้ำประกันจากลูกหนี้ตามสมควรโดยได้รับความเห็นชอบจากธนาคารเพื่อประกันความเสียหายอันเกิดจากการกระทำของโจทก์ โจทก์ได้นำหลักทรัพย์มูลค่าสิบล้านบาทมาวางเป็นประกันต่อธนาคารไว้รายละเอียดปรากฏตามสำเนาภาพถ่ายหนังสือสัญญาคอมประโดร์ลงวันที่ ๕ มีนาคม ๒๔๙๘ ต่อมาเจ้าพนักงานประเมินภาษีการค้าของจำเลยที่ ๑ ได้ตรวจสอบบัญชีและเอกสารของโจทก์แล้วส่งแบบแจ้งการประเมินภาษีการค้ามายังโจทก์ว่า ในเดือนเมษายน ๒๕๑๐โจทก์มีรายรับจากค่าธรรมเนียมค้ำประกันเป็นเงิน ๖๔,๓๓๓.๕๒ บาทได้ยื่นเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๒.๕ เป็นเงิน ๑,๖๐๘.๓๔ บาท ภาษีเทศบาล ๑๖๐.๘๔ บาท รวมค่าภาษีเป็นเงิน ๑,๗๖๙.๑๘ บาทนั้น ไม่ถูกต้องที่ถูกต้องนั้นโจทก์ต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๕.๕ ตามบัญชีอัตราภาษีการค้าประเภทการค้า ๑๐ ในฐานะนายหน้าและตัวแทน ซึ่งเป็นเงินค่าภาษี ๓,๕๓๘.๓๔ บาท เงินเพิ่ม ๒๕๐.๙๐ บาท เบี้ยปรับ ๕๗๙.๐๐ บาท ภาษีเทศบาล ๔๓๖.๘๒ บาท รวมทั้งสิ้น ๔,๘๐๕.๐๖ บาท เมื่อหักค่าภาษีที่โจทก์ชำระแล้ว ๑,๗๖๙.๑๘ บาท คงเหลือภาษีที่โจทก์จะต้องชำระอีก ๓,๐๓๕.๘๘ บาท เมื่อโจทก์ได้อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ จำเลยที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ซึ่งเป็นกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยแล้วได้ชี้ขาดให้ยกอุทธรณ์ของโจทก์
ประเด็นข้อวินิจฉัยมีว่า เงินรายรับที่โจทก์ได้จากการประกอบกิจการค้ำประกันดังกล่าวนั้น จะจัดเข้าในลักษณะประเภทการค้า ๑๐ นายหน้าและตัวแทน อันจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๕.๕ ดังที่จำเลยฎีกาหรือไม่
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ในเรื่องการเป็นนายหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๔๕ และมาตรา ๘๔๘ บัญญัติไว้ สรุปความว่า บุคคลผู้เป็นนายหน้าจะต้องเป็นผู้ชี้ช่องให้บุคคลแต่ละฝ่ายได้เข้าทำสัญญากัน โดยผู้เป็นนายหน้าปกติได้รับบำเหน็จตอบแทน และนายหน้าไม่ต้องรับผิดไปถึงการชำระหนี้ตามสัญญาซึ่งได้กระทำต่อกันเพราะตนเป็นสื่อ ส่วนในเรื่องตัวแทนนั้นตามสัญญาระหว่างโจทก์กับธนาคารที่ได้ทำกันไว้ ก็มิได้ระบุว่าโจทก์เป็นตัวแทนของธนาคาร และตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยตัวแทนนั้น โดยปกติแล้วตัวการจะต้องรับผิดในกิจการที่ตัวแทนได้กระทำไปตามที่ตัวการได้มอบอำนาจหรือให้สัตยาบัน แต่ในการปฏิบัติธุรกิจของโจทก์ตามข้อเท็จจริงในเรื่องนี้นั้นโจทก์ประกอบการค้าเกี่ยวกับการเป็นผู้ค้ำประกันโดยยอมตนเข้าผูกพันเป็นคู่สัญญาที่จะต้องรับผิดในฐานะผู้ค้ำประกันเกี่ยวแก่หนี้ของลูกหนี้ของธนาคารตามสัญญาที่ทำไว้เป็นการส่วนตัวของโจทก์ในฐานะผู้ค้ำประกัน แล้วโจทก์ได้ผลประโยชน์ตอบแทนการกระทำของโจทก์จึงมิใช่ทำไปเพื่อเป็นตัวแทนของธนาคารเหตุนี้ การกระทำของโจทก์จึงมิใช่ทำไปในฐานะนายหน้าหรือตัวแทน
ศาลฎีกาวินิจฉัยต่อไปว่า การประกอบกิจการค้าของโจทก์โดยการที่โจทก์ยอมตนเข้าผูกพันเข้าค้ำประกันให้แก่ลูกหนี้ของธนาคารนั้น เป็นเรื่องที่โจทก์ประกอบธุรกิจของโจทก์เอง โดยโจทก์ใช้ทรัพย์สินเป็นการลงทุน เพราะตามสัญญาที่โจทก์ทำไว้กับธนาคารนั้นโจทก์ก็ได้นำหลักทรัพย์มีมูลค่าสิบล้านบาทมาวางไว้เป็นประกันต่อธนาคารและในการที่โจทก์ทำสัญญาค้ำประกันลูกหนี้กับธนาคารนั้น แม้โจทก์จะได้รับประโยชน์ตอบแทน โจทก์ก็เสี่ยงในการที่จะได้รับความเสียหายในฐานะร่วมรับผิดต่อธนาคารในฐานะเป็นผู้ค้ำประกันเป็นส่วนตัวการประกอบกิจการค้าของโจทก์ดังกล่าว จึงมิใช่รับจัดธุรกิจให้ผู้อื่นตามลักษณะรายการที่ประกอบการค้าในประเภทการค้า ๑๐ นายหน้าและตัวแทน ซึ่งจะต้องเสียภาษีการค้าในอัตราร้อยละ ๕.๕ แต่เป็นการประกอบธุรกิจการค้าในประเภทการค้า ๑๒ ธนาคาร โดยกิจการของโจทก์เข้าลักษณะกิจการของผู้ที่ประกอบกิจการโดยปกติเยี่ยงธนาคารพาณิชย์โจทก์ผู้ประกอบกิจการต้องเสียภาษีการค้าอัตราร้อยละ ๒.๕ ของรายรับจากค่าธรรมเนียมหรือค่าบริการที่เรียกเก็บ
พิพากษายืน

Share