คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 15116/2558

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

หนังสือมอบอำนาจของโจทก์โดยผู้อำนวยการได้มอบอำนาจให้ ธ. รองผู้อำนวยการ มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในบรรดากิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งด้วย โดยความตอนท้ายระบุว่า “ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างคดีหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ” ธ. จึงมอบอำนาจช่วงให้ ร. ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายมีอำนาจกระทำการแทนรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งได้ เพราะเป็นการมอบอำนาจช่วงที่มีการให้อำนาจไว้ แต่การที่ ร. มอบอำนาจช่วงต่อให้ อ. ฟ้องจำเลยทั้งห้าแทนโจทก์อีกต่อหนึ่งนั้น เป็นการกระทำนอกขอบเขตของหนังสือมอบอำนาจเพราะหนังสือมอบอำนาจดังกล่าว มิได้ระบุให้อำนาจผู้ที่ได้รับมอบอำนาจช่วงจาก ธ. มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปอีกช่วงหนึ่งได้ด้วย อ. จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ (ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116 – 1117/2495 (ประชุมใหญ่) แม้จำเลยที่ 1 ที่ 3 ถึงที่ 5 จะมิได้อุทธรณ์ในปัญหานี้ แต่คำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกาเห็นสมควรให้คำวินิจฉัยในปัญหานี้มีผลไปถึงจำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความในคดี ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ทั้งนี้ ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตาม ป.พ.พ. มาตรา 193/17 วรรคสอง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งห้าร่วมกันและแทนกันชำระเงิน 2,577,662.50 บาท โดยจำเลยที่ 3 รับผิดไม่เกิน 275,272.50 บาท จำเลยที่ 4 รับผิดไม่เกิน 188,000 บาท จำเลยที่ 5 รับผิดไม่เกิน 600,000 บาท และให้จำเลยทั้งห้ารับผิดชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 (วันที่ธนาคารโจทก์เห็นชอบตามมติ) เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งห้าให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานภาค 6 พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 1,003,117.77 บาท โดยจำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดด้วยในจำนวนเงิน 197,500 บาท และจำเลยที่ 5 ร่วมรับผิดด้วยในจำนวนเงิน 227,520 บาท และให้จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากเงินต้นที่แต่ละคนจะต้องรับผิดนับตั้งแต่วันที่ 30 เมษายน 2546 เป็นต้นไป จนกว่าจะชำระเสร็จ แก่โจทก์ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก และให้ยกฟ้องจำเลยที่ 4
จำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม โจทก์มีอำนาจฟ้องคดีนี้ สิทธิเรียกร้องของโจทก์มีอายุความ 10 ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/30 คดีโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ จำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารการกู้เงินของลูกหนี้สินเชื่อสวัสดิการ 3 ราย คือรายสิบเอกหัสดิน และสิบเอกกิตติพงษ์ แต่ฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 1 ปลอมเอกสารหรือใช้เอกสารปลอมแบบประเมินราคาหลักทรัพย์ผู้กู้ 4 ราย คือนายพิเศษ ร้อยตำรวจเอกเสมอ นายยรรยง และนางสาวพจนีย์ จำเลยที่ 1 วิเคราะห์สินเชื่อให้กู้แก่ลูกหนี้ลายมือชื่อปลอมและใช้เอกสารประกอบคำขอกู้ของบุคคลอื่นมายื่นกู้ โดยจำเลยที่ 2 ผู้จัดการสาขามีหน้าที่อนุมัติกลับไม่ตรวจสอบเอกสารให้รอบคอบ เป็นเหตุให้ไม่พบพิรุธข้อสงสัย ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหายจ่ายเงินแก่ผู้กู้ที่มิได้กู้เงินโจทก์ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ปฏิบัติผิดระเบียบการทำงานและคำสั่งของโจทก์เกี่ยวกับหลักเกณฑ์และวิธีการวิเคราะห์สินเชื่อกับการอนุมัติเงินกู้ในหลายกรณี โดยเฉพาะเรื่องการประเมินราคาหลักทรัพย์ จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นพนักงานอำนวยสินเชื่อและเป็นกรรมการประเมินราคาหลักทรัพย์ทำการประเมินราคาหลักทรัพย์โดยไร้หลักเกณฑ์ เป็นการเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่น แต่จำเลยที่ 2 กลับอนุมัติให้สินเชื่อโดยเชื่อข้อมูลและคำเสนอของจำเลยที่ 1 เพียงฝ่ายเดียว จึงไม่พบความผิดปกติในการให้สินเชื่อแก่ลูกหนี้ จำเลยที่ 1 และที่ 2 ประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 3 และที่ 5 ซึ่งเป็นกรรมการประเมินราคาหลักทรัพย์มิได้ออกไปทำการประเมินราคาที่ดินตามจริง คงมีจำเลยที่ 1 ผู้เดียวทำการประเมินราคาเพียงลำพัง โดยจำเลยที่ 3 และที่ 5 จะลงลายมือชื่อในแบบการประเมินราคาที่จำเลยที่ 1 จัดทำมาเรียบร้อยแล้ว เป็นการปฏิบัติผิดระเบียบการทำงานของโจทก์ เป็นความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายแก่โจทก์เฉพาะส่วนที่จำเลยแต่ละคนร่วมก่อให้เกิดขึ้น ส่วนจำเลยที่ 4 นั้น ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าจำเลยที่ 4 ปฏิบัติงานผิดระเบียบและประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย จำเลยที่ 4 จึงไม่ต้องรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์
ปัญหาที่จะต้องวินิจฉัยประการแรกตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 มีว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ เห็นว่า เป็นหนังสือมอบอำนาจที่นายกรพจน์ ผู้อำนวยการธนาคารโจทก์มอบอำนาจให้นายธีระ รองผู้อำนวยการธนาคารโจทก์ สายสนับสนุนสินเชื่อและรักษาการสายสนับสนุนทั่วไปมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในบรรดากิจการต่าง ๆ ซึ่งรวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งได้ด้วย โดยความตอนท้ายระบุด้วยว่า “ในการดำเนินการดังกล่าวข้างต้น ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่างแก้ต่างคดีหรือมอบอำนาจให้ตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ” นายธีระจึงมีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้นางใจรักษ์ผู้อำนวยการฝ่ายกฎหมายมีอำนาจกระทำการแทนในบรรดากิจการที่นายกรพจน์มอบอำนาจให้นายธีระกระทำการแทนได้รวมทั้งเป็นโจทก์ฟ้องคดีแพ่งได้ด้วย เพราะเป็นการมอบอำนาจช่วงที่นายกรพจน์ให้อำนาจไว้ในหนังสือมอบอำนาจแล้วว่าให้นายธีระมีอำนาจตั้งตัวแทนช่วงได้ แต่การที่นางใจรักษ์มอบอำนาจช่วงให้นายอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าแทนโจทก์ตามหนังสือมอบอำนาจอีกต่อหนึ่งนั้น แม้หนังสือมอบอำนาจที่นายธีระมอบอำนาจให้นางใจรักษ์ฟ้องคดีแทนโจทก์ได้จะระบุไว้ด้วยว่า ให้นางใจรักษ์มีอำนาจตั้งตัวแทนดำเนินการได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ แต่เมื่อหนังสือมอบอำนาจระบุไว้เพียงว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจมีอำนาจแต่งตั้งทนายความเพื่อว่าต่าง แก้ต่าง หรือมอบอำนาจให้ตั้งตัวแทนช่วงดำเนินการแทนได้ในทุกกรณีแห่งกิจการที่มอบอำนาจ ซึ่งหมายความเพียงว่า นายธีระจะกระทำการแทนในบรรดากิจการที่นายกรพจน์มอบอำนาจให้กระทำก็ได้หรือจะมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นกระทำอีกต่อหนึ่งก็ได้ การที่นางใจรักษ์มอบอำนาจช่วงให้นายอำนาจฟ้องจำเลยทั้งห้าเป็นคดีนี้อีกต่อหนึ่งจึงเป็นการกระทำนอกขอบเขตของหนังสือมอบอำนาจ ที่นายกรพจน์ มอบอำนาจให้นายธีระกระทำการแทนได้ เพราะหนังสือมอบอำนาจมิได้ระบุให้อำนาจผู้ที่ได้รับมอบอำนาจช่วงจากนายธีระผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นต่อไปอีกช่วงหนึ่งได้ด้วย นายอำนาจจึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ตามนัยคำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1116 – 1117/2495 (ประชุมใหญ่) คดีระหว่างนายจรูญ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ที่ 2 โจทก์ บริษัทฟาอีสต์พาณิชย์ จำกัด จำเลย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 2 ข้อนี้ฟังขึ้น ส่วนจำเลยอื่นแม้มิได้อุทธรณ์ในปัญหาข้อนี้ แต่คำพิพากษาคดีนี้เกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันไม่อาจแบ่งแยกได้ จึงเห็นสมควรให้คำวินิจฉัยในปัญหาข้อนี้มีผลไปถึงจำเลยอื่นซึ่งเป็นคู่ความในคดีมาแล้วในศาลแรงงานภาค 6 ด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 และเมื่อวินิจฉัยดังนี้แล้วจึงไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยที่ 1 ที่ 2 และที่ 3 อีกต่อไปเพราะไม่ทำให้ผลคดีเปลี่ยนแปลง
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ที่ 2 ที่ 3 และที่ 5 เสียด้วย นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานภาค 6 แต่ทั้งนี้ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะนำคำฟ้องมายื่นใหม่ภายใน 60 วัน นับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาศาลฎีกาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/17 วรรคสอง

Share