แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
คดีนี้โจทก์มิได้นำสายลับที่อ้างว่าเป็นผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด จากจำเลยมาเป็นพยาน โจทก์คงมีนายดาบตำรวจ พ. และนายดาบตำรวจ ถ. ซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยมาเป็นพยาน แต่พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างสายลับกับจำเลย เหตุที่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ในราคาเม็ดละ 120 บาท เพราะสายลับเป็นผู้บอก ดังนี้ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย แม้จะพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนอยู่ในกระเป๋าที่วางอยู่หน้าตักจำเลยก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับธนบัตรดังกล่าวไว้เนื่องจากการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนดังที่สายลับอ้าง เพราะสายลับอาจมอบธนบัตรดังกล่าวให้แก่จำเลยด้วยเหตุอื่นก็ได้ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่า ไม่ได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมยังยึดได้อุปกรณ์ที่ใช้ในการเสพเมทแอมเฟตามีนในห้องพักที่เกิดเหตุ เมื่อตรวจปัสสาวะจำเลยก็มีสีม่วง จำเลยจึงอาจมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อเสพดังที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 227 วรรคสอง คงรับฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น แม้เมทแอมเฟตามีนของกลางมีเพียง 12 เม็ด จึงมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันสมควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยการรอลงโทษให้จำเลย แต่ให้ลงโทษปรับและกำหนดเงื่อนไขเพื่อคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มี พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) ฯ มาตรา 8, 19 และ 26 ยกเลิกความในมาตรา 15, 67 และ 91 แห่ง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษฯ และให้ใช้ข้อความใหม่แทนโดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้น ตามกฎหมายเดิมมาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษจำคุกเท่ากัน และตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิม แต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย สำหรับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนนั้น มาตรา 91 ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปี หรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 91 ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หกพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่ากรณีโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตาม ป.อ. มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตาม ป.วิ.อ. มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 4, 7, 8, 15, 57, 66, 67, 91, 102 ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 33, 91 ริบของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ในการล่อซื้อแก่เจ้าของ
จำเลยให้การรับสารภาพในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองและเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย แต่ให้การปฏิเสธในข้อหามีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง, 57, 67, 91 การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 3 ปี ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกกระทงแรก 1 ปี 6 เดือน จำคุกกระทงหลัง 3 เดือน รวมจำคุก 1 ปี 9 เดือน ริบของกลาง คืนธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อแก่เจ้าของ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), มาตรา 66 วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) และ (ที่ถูกมาตรา 57), 91 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่าย จำคุก 4 ปี ฐานมีเมทแอมเฟตามีน จำคุก 4 ปี รวมจำคุก 8 ปี คำให้การชั้นสอบสวนของจำเลยเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้หนึ่งในสี่ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 6 ปี เมื่อรวมกับโทษจำคุก 3 เดือน ในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นแล้ว รวมเป็นจำคุก 6 ปี 3 เดือน นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่า ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยเสพเมทแอมเฟตามีน ต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจจับกุมจำเลยโดยยึดเมทแอมเฟตามีนจำนวน 12 เม็ด น้ำหนัก 1.08 กรัม และธนบัตรฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ บ้องเสพเมทแอมเฟตามีน 2 อัน กระดาษตะกั่ว 10 แผ่น หลอดเสพเมทแอมเฟตามีน 6 หลอด และไฟแช็กแก๊ส 3 อัน เป็นของกลางโดยข้อหาความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนเป็นอันยุติไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น คงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ โจทก์มีนายดาบตำรวจพิพัฒน์ กรายทอง และนายดาบตำรวจถาวร มณีรัตน์ เป็นพยานเบิกความได้ความว่าหลังจากนายดาบตำรวจพิพัฒน์และนายดาบตำรวจถาวรสืบทราบว่าจำเลยซึ่งพักอยู่ที่ห้องเลขที่ 403 ของโรงแรมภูเบศร์ ตำบลปากช่อง อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา มีพฤติการณ์ลักลอบจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนแล้ว วันเกิดเหตุเวลา 23.20 นาฬิกา นายดาบตำรวจพิพัฒน์ นายดาบตำรวจถาวรกับพวกจึงวางแผนจับกุมโดยนำธนบัตรฉบับละ 100 บาท 5 ฉบับ ไปถ่ายเอกสารและลงบันทึกในรายงานประจำวันไว้เป็นหลักฐานและมอบธนบัตรดังกล่าวให้แก่สายลับไปล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนจากจำเลย ส่วนนายดาบตำรวจพิพัฒน์และนายดาบตำรวจถาวรกับพวกซุ่มรออยู่ใต้ถุนโรงแรมภูเบศร์ หลังจากนั้นประมาณ 5 นาที สายลับนำเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ดมามอบให้แก่พันตำรวจโทเหิมหาญ มีสะอาด โดยบอกว่าซื้อมาจากจำเลยในราคาเม็ดละ 120 บาท นายดาบตำรวจพิพัฒน์ นายดาบตำรวจถาวรกับพวกจึงเข้าไปจับกุมจำเลยขณะจำเลยกับพวก 4 ถึง 5 คน กำลังเล่นการพนัน พบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 3 เม็ด กับธนบัตรที่ใช้ล่อซื้ออยู่ในกระเป๋าที่วางอยู่หน้าตักจำเลย และพบเมทแอมเฟตามีนจำนวน 5 เม็ด บรรจุในตลับพลาสติกวางอยู่ข้างตัวจำเลย นอกจากนี้ก็พบอุปกรณ์มีไว้ในการเสพเมทแอมเฟตามีน เห็นว่า คดีนี้โจทก์มิได้นำสายลับที่อ้างว่าเป็นผู้ซื้อเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ดจากจำเลยมาเป็นพยาน โจทก์คงมีนายดาบตำรวจพิพัฒน์และนายดาบตำรวจถาวรซึ่งเป็นผู้จับกุมจำเลยมาเป็นพยาน แต่พยานโจทก์ทั้งสองปากนี้มิได้รู้เห็นเหตุการณ์ในขณะที่มีการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนระหว่างสายลับกับจำเลย เหตุที่ทราบว่าจำเลยเป็นผู้จำหน่ายเมทแอมเฟตามีนจำนวน 4 เม็ด ในราคาเม็ดละ 120 บาท เพราะสายลับเป็นผู้บอก ดังนี้ คำเบิกความของพยานโจทก์ทั้งสองดังกล่าวจึงเป็นพยานบอกเล่า มีน้ำหนักน้อย แม้จะพบธนบัตรที่ใช้ล่อซื้อเมทแอมเฟตามีนอยู่ในกระเป๋าที่วางอยู่หน้าตักจำเลยก็ยังไม่เพียงพอที่จะรับฟังว่าจำเลยรับธนบัตรดังกล่าวไว้เนื่องจากการซื้อขายเมทแอมเฟตามีนดังที่สายลับอ้าง เพราะสายลับอาจมอบธนบัตรดังกล่าวให้แก่จำเลยด้วยเหตุอื่นก็ได้ ทั้งจำเลยให้การปฏิเสธมาโดยตลอดว่าไม่ได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีน ประกอบกับได้ความว่าเจ้าพนักงานตำรวจผู้จับกุมยังยึดได้อุปกรณ์ที่ใช้ในการเสพเมทแอมเฟตามีนในห้องพักที่เกิดเหตุ เมื่อตรวจปัสสาวะจำเลยก็มีสีม่วง จำเลยจึงอาจมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อเสพดังที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นพิจารณาก็ได้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีความสงสัยตามสมควรว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนตามฟ้องหรือไม่ ให้ยกประโยชน์แห่งความสงสัยนั้นให้จำเลยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 227 วรรคสอง คงรับฟังได้ว่าจำเลยมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตเท่านั้น ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาลงโทษจำเลยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองเพื่อจำหน่ายและจำหน่ายเมทแอมเฟตามีนมานั้น ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังขึ้น แต่เมทแอมเฟตามีนของกลางมีเพียง 12 เม็ด จึงมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยได้รับโทษจำคุกมาก่อน ตามพฤติการณ์แห่งคดีมีเหตุอันควรปรานีเพื่อให้โอกาสจำเลยกลับตัวเป็นพลเมืองดีต่อไปโดยการรอการลงโทษให้จำเลย แต่ให้ลงโทษปรับและกำหนดเงื่อนไขเพื่อควบคุมความประพฤติจำเลยไว้ด้วย
อนึ่ง ในระหว่างพิจารณาของศาลฎีกาได้มีพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2545 มาตรา 8, 19 และ 26 ยกเลิกความในมาตรา 15, 67 และ 91 แห่งพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 และให้ใช้ข้อความใหม่แทน โดยในความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต มาตรา 15 วรรคหนึ่ง ทั้งตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่คงใช้ข้อความทำนองเดียวกัน ดังนั้น กฎหมายที่แก้ไขใหม่จึงไม่เป็นคุณแก่จำเลยในส่วนนี้ ส่วนกำหนดโทษนั้นตามกฎหมายเดิม มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหนึ่งแสนบาท สำหรับกฎหมายที่แก้ไขใหม่มาตรา 67 มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีถึงสิบปี หรือปรับตั้งแต่สองหมื่นบาทถึงสองแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จะเห็นได้ว่า แม้ตามกฎหมายเดิมและกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษจำคุกเท่ากันและตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่จะมีระวางโทษปรับสูงกว่าโทษปรับตามกฎหมายเดิมแต่ก็เป็นการบัญญัติให้ลงโทษจำคุกหรือปรับ หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากกฎหมายเดิมที่กำหนดให้ลงโทษจำคุกและปรับเท่านั้น ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณแก่จำเลยมากกว่าในส่วนที่เกี่ยวกับโทษซึ่งมีหลายสถานที่จะลงได้ จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่ในส่วนที่เป็นคุณบังคับแก่จำเลย สำหรับความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนนั้น มาตรา 91 ตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่มีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสามปีหรือปรับตั้งแต่หนึ่งหมื่นบาทถึงหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ แตกต่างจากมาตรา 91 ตามกฎหมายเดิมซึ่งมีระวางโทษจำคุกตั้งแต่หกเดือนถึงสิบปี และปรับตั้งแต่ห้าพันบาทถึงหนึ่งแสนบาท จะเห็นได้ว่ากรณีโทษจำคุกขั้นสูงตามกฎหมายที่แก้ไขใหม่เบากว่าโทษจำคุกตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 91 เดิม ต้องถือว่ากฎหมายที่แก้ไขใหม่เป็นคุณมากกว่า จึงต้องใช้กฎหมายที่แก้ไขใหม่บังคับแก่จำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 3 ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นอ้างและแก้ไขโดยปรับบทกฎหมายให้ถูกต้อง รวมทั้งแก้ไขโทษเสียใหม่ให้เหมาะสมสอดคล้องกับบทกฎหมายที่แก้ไขใหม่ได้ด้วยตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 195 วรรคสอง ประกอบมาตรา 225”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 มาตรา 15 วรรคหนึ่ง (เดิม), 57, 67 (ที่แก้ไขใหม่), 91 (ที่แก้ไขใหม่) ฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครอง จำคุก 1 ปี ปรับ 10,000 บาท ฐานเสพเมทแอมเฟตามีน จำคุก 6 เดือน ปรับ 5,000 บาท รวมจำคุก 1 ปี 6 เดือน ปรับ 15,000 บาท ลดโทษให้กึ่งหนึ่งตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 9 เดือน ปรับ 7,500 บาท ให้รอการลงโทษจำคุกจำเลยไว้มีกำหนด 2 ปี ให้จำเลยไปรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติทุก 3 เดือนต่อครั้งตลอดระยะเวลาที่รอการลงโทษ และห้ามมิให้จำเลยเกี่ยวข้องกับยาเสพติดให้โทษทุกชนิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 29, 30 นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3