แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับ ส. ไปเที่ยวที่อำเภอนางรองแต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดงนั้น ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงไปและได้ชวน ส. ไปเป็นเพื่อนด้วยได้ไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรองจนถึงเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยชวนไปเที่ยวต่อที่บ้านเพื่อนจำเลยหลังจากนั้นก็ชวนกลับ แต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้ากลับบ้านเนื่องจากเป็นเวลาค่ำมืดแล้วกลัวบิดามารดาดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลยผู้เสียหายที่ 2 และ ส. ได้ไปเที่ยวเขื่อนลำนางรองด้วยกันแล้วผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนหลังวันเกิดเหตุเพียง 3 วัน จึงเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวแต่ประการใด หากแต่เป็นความยินยอมพร้อมใจที่จะไปเที่ยวกับจำเลยและ ส. ตามประสาวัยรุ่น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องเกิดเหตุภายหลังโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยวางแผนมาแต่แรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตาม ป.อ. มาตรา 284 วรรคแรก
ความผิดฐานพรากเด็กมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็กมิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 และ ส. จะเพียงชวนกันไปเที่ยวอันเป็นการที่ผู้เสียหายที่ 2 เต็มใจไปกับจำเลยเองดังวินิจฉัยข้างต้น แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 และ ท. ผู้เป็นบิดามารดา ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้านทั้ง ๆ ที่จำเลยชวนกลับแล้วนั้น จำเลยก็หามีสิทธิที่จะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และ ท. ไม่ ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็มีลักษณะเป็นการหลบซ่อนเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไปพบผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นข้อพิรุธในการกระทำของจำเลย จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ตลอดมาแล้วจำเลยยังได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยมิได้มีความรักใครกันทางชู้สาวมาก่อน และจำเลยก็ไม่มีเจตนาจะแต่งงานอยู่กินหรือเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใด ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตาม ป.อ. มาตรา 317 วรรคสาม
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91, 277 วรรคแรก, 284, 317 วรรคสาม
จำเลยให้การปฏิบัติ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 277 วรรคแรก, 284 วรรคแรก, 317 วรรคสาม การกระทำของจำเลยเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้เรียงกระทงลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 91 ฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกิน 15 ปี จำคุก 6 ปี ฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 2 ปี ฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเพื่อการอนาจาร จำคุก 6 ปี รวม 14 ปี
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษาแก้เป็นว่า ความผิดฐานกระทำชำเราเด็กหญิงอายุยังไม่เกินสิบห้าปี ลดโทษให้จำเลยหนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุก 4 ปี ยกฟ้องในข้อหาพาหญิงไปเพื่อการอนาจารและพรากผู้เยาว์ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงที่จำเลยมิได้ฎีกาโต้เถียงรับฟังเป็นยุติว่า เด็กหญิง น. ผู้เสียหายที่ 2 อายุ 14 ปีเศษ อยู่ในความปกครองดูแลของนาย ป. ผู้เสียหายที่ 1 และนาง ท. ซึ่งเป็นบิดามารดา ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง ผู้เสียหายที่ 2 ออกจากบ้านของผู้เสียหายที่ 1 ไป และจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 คดีมีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ประการแรกว่าจำเลยได้กระทำความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงหรือไม่ โจทก์มีผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 17 ถึง 18 นาฬิกา จำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับนางสาวสำราญ สุขต้อง ไปเที่ยวที่อำเภอนางรอง แต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดง จำเลยพาไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรอง ไปถึงเขื่อนเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จากนั้นจำเลยพาไปที่บ้านญาติจำเลยที่บ้านทรัพย์สมบูรณ์ อำเภอโนนดินแดง แล้วพาต่อไปที่บ้านญาติของจำเลยที่บ้านหนองหมี ผู้เสียหายที่ 2 ขอร้องให้จำเลยพากลับบ้านแต่จำเลยไม่ยอมพากลับ จากนั้นจำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่กระท่อมตามภาพถ่ายหมาย จ.3 และ จ.4 ต่อมาวันที่ 20 มีนาคม 2543 เวลาประมาณ 18 นาฬิกา จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่บ้านญาติคนเดิมที่บ้านหนองหมี ครั้นเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยใช้กำลังกอดปล้ำและกระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 จนสำเร็จความใคร่ 1 ครั้ง ต่อมาวันรุ่งขึ้นเวลาประมาณ 19 นาฬิกา จำเลยพานายน้อยกับนางบุญนาคซึ่งเป็นบิดามารดาจำเลยมาพบ และบอกว่าจะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปที่อำเภอครบุรี ส่วนนางสาวสำราญจะกลับบ้าน ผู้เสียหายที่ 2 จะกลับบ้านด้วย แต่นางบุญนาคไม่ยอม จากนั้นนายน้อยกับนางบุญนาคพาผู้เสียหายที่ 2 ไปอยู่ที่บ้านหนองแคทราย อำเภอครบุรี ต่อมาผู้เสียหายที่ 1 ตามมาที่บ้านของนางบุญนาค เมื่อได้ยินเสียงเรียกของนายแตกที่มากับผู้เสียหายที่ 1 ผู้เสียหายที่ 2 ก็ขานรับและวิ่งออกไปพบผู้เสียหายที่ 1 เห็นว่าที่ผู้เสียหายที่ 2 เบิกความว่า วันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 กับนางสาวสำราญไปเที่ยวที่อำเภอนางรองแต่กลับพาไปที่อำเภอโนนดินแดงนั้น ปรากฏว่าผู้เสียหายที่ 2 เคยให้การต่อพนักงานสอบสวนตามบันทึกคำให้การเอกสารหมาย จ.5 ว่าวันเกิดเหตุจำเลยชวนผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวที่อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์ ผู้เสียหายที่ 2 ตกลงไปและได้ชวนนางสาวสำราญไปเป็นเพื่อนด้วยได้ไปเที่ยวที่เขื่อนลำนางรองจนถึงเวลาประมาณ 21 นาฬิกา จำเลยชวนไปเที่ยวต่อที่บ้านเพื่อนจำเลยหลังจากนั้นก็ชวนกลับแต่ผู้เสียหายที่ 2 ไม่กล้ากลับบ้านเนื่องจากเป็นเวลาค่ำมืดแล้วกลัวบิดามารดาดุด่าเฆี่ยนตี ซึ่งเจือสมกับทางนำสืบของจำเลยที่ว่า จำเลย ผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวสำราญได้ไปเที่ยวเขื่อนลำนางรองด้วยกัน แล้วผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้าน ประกอบกับผู้เสียหายที่ 2 ให้ถ้อยคำต่อพนักงานสอบสวนหลังวันเกิดเหตุเพียง 3 วัน จึงเชื่อว่าให้การไปตามความเป็นจริง ทำให้เห็นได้ว่าจำเลยมิได้ใช้อุบายหลอกลวงผู้เสียหายที่ 2 ไปเที่ยวแต่ประการใด หากแต่เป็นความยินยอมพร้อมใจที่จะไปเที่ยวกับจำเลยและนางสาวสำราญตามประสาวัยรุ่น แม้ต่อมาจะปรากฏว่าจำเลยได้กระทำชำเราผู้เสียหาย ก็เป็นเรื่องเกิดเหตุภายหลังโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยวางแผนมาแต่แรก จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานพาหญิงไปเพื่อการอนาจารโดยใช้อุบายหลอกลวงตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 284 วรรคแรก มีปัญหาต้องวินิจฉัยประการต่อไปว่า จำเลยกระทำความผิดฐานพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจารหรือไม่ เห็นว่า ความผิดฐานพรากเด็กมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความคุ้มครองอำนาจปกครองของบิดามารดาที่มีต่อเด็กมิให้ผู้ใดพรากไปเสียจากความปกครอง แม้ข้อเท็จจริงจะได้ความว่าผู้เสียหายที่ 2 และนางสาวสำราญจะเพียงชวนกันไปเที่ยวอันเป็นการที่ผู้เสียหายที่ 2 เต็มใจไปกับจำเลยเองดังวินิจฉัยข้างต้น แต่ผู้เสียหายที่ 2 ยังไม่พ้นจากความปกครองดูแลของผู้เสียหายที่ 1 และนางทันผู้เป็นบิดามารดา ที่จำเลยอ้างว่าผู้เสียหายที่ 2 ไม่ยอมกลับบ้านทั้ง ๆ ที่จำเลยชวนกลับแล้วนั้น จำเลยก็หามีสิทธิที่จะพาผู้เสียหายที่ 2 ไปเสียจากความปกครองของผู้เสียหายที่ 1 และนางทันไม่ ทั้งยังปรากฏพฤติการณ์ที่จำเลยพาผู้เสียหายที่ 2 ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ก็มีลักษณะเป็นการหลบซ่อนเพื่อมิให้ผู้เสียหายที่ 1 ตามไปพบผู้เสียหายที่ 2 อันเป็นข้อพิรุธในการกระทำของจำเลย จำเลยอยู่กับผู้เสียหายที่ 2 ตลอดมา แล้วจำเลยยังได้กระทำชำเราผู้เสียหายที่ 2 อีกด้วย ซึ่งข้อเท็จจริงตามทางพิจารณาได้ความว่า ผู้เสียหายที่ 2 กับจำเลยมิได้มีความรักใคร่กันทางชู้สาวมาก่อนและจำเลยก็ไม่มีเจตนาจะแต่งงานอยู่กินหรือเลี้ยงดูผู้เสียหายที่ 2 แต่อย่างใด ในชั้นจับกุมและชั้นสอบสวนจำเลยก็ให้การรับสารภาพ การกระทำของจำเลยถือได้ว่าเป็นการพรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดาเพื่อการอนาจาร อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 3 พิพากษามานั้น ไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ฎีกาของโจทก์ฟังขึ้นบางส่วน”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 วรรคสาม อีกกระทงหนึ่ง จำคุก 6 ปี คำรับสารภาพของจำเลยในชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 ลดโทษให้หนึ่งในสาม คงจำคุก 4 ปี เมื่อรวมโทษทุกกระทงแล้ว เป็นจำคุก 8 ปี นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3