คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10424/2556

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินมิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดสอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ ออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม โดยจำเลยร่วมทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอ เพื่อขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัด ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง เลขต่อในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 8) บางส่วนถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เพื่อเป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น ทั้งโจทก์เคยไปดูที่ดินพบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินหรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อภายหลังซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ จึงวางแผนพัฒนาที่ดินเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์เพื่อให้ได้เงินไปขยายธุรกิจขนส่งทางทะเลโดยไม่เคยทำประโยชน์ตามแผนพัฒนาที่ดินที่เสนอต่อผู้ให้กู้ สัญญาซื้อขายที่อ้างจำนวนมากถึง 92 ฉบับ มีเพียงหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับเดียวที่ตรงกับที่ดิน 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน วันที่ตามสัญญาซื้อขายแตกต่างกับวันที่ซึ่งลงในสารบัญรายการจดทะเบียน จึงเป็นพิรุธว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายโดยชอบหรือไม่ เชื่อว่าโจทก์ได้ที่ดินมาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิได้ตามฟ้อง เป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตาม ป.พ.พ. มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และเป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 142 (5) โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วยตาม ป.วิ.พ. มาตรา 245 (1) ประกอบ มาตรา 247

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสี่ร่วมกันชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์จำนวน 200,488,960 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 168,740,800 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างพิจารณา จำเลยที่ 1 ยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นเรียกนายพิสุทธิ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เรียกนายพิสุทธิ์ เข้ามาเป็นจำเลยร่วม ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 57 (3)
จำเลยร่วมขาดนัดยื่นคำให้การและไม่มาศาลในวันสืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยร่วมชดใช้ค่าเสียหายแก่โจทก์จำนวน 105,827,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ กับให้จำเลยร่วมใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 50,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 1 ถึงที่ 4 ให้เป็นพับ คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยที่ 4 ชำระเงินจำนวน 105,827,200 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ โดยให้จำเลยที่ 1 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 4 ในต้นเงินจำนวน 35,275,733.33 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินจำนวนดังกล่าว นับแต่วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2543 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ กับให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความรวม 70,000 บาท ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยร่วม ค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมทั้งสองศาลและค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 2 และที่ 3 ในชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 1 ฎีกา
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความมิได้ฎีกาโต้แย้งกันรับฟังเป็นยุติในชั้นนี้ว่า จำเลยที่ 1 ถึงที่ 3 เป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย เป็นหน่วยงานทางปกครอง สังกัดกระทรวงมหาดไทย จำเลยที่ 1 มีหน้าที่ออกโฉนดที่ดินและเอกสารสิทธิต่าง ๆ ตลอดจนรับจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมเกี่ยวกับที่ดิน เมื่อปี 2535 มีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในท้องที่อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคายภายในแนวเขตตามแผนที่ท้ายพระราชกฤษฎีกา เป็นเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและในปี 2537 จำเลยที่ 1 มีหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย แจ้งคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกาให้ทราบและถือปฏิบัติสรุปได้ว่า ถ้าราษฎรรายใดไม่ได้แจ้งการครอบครอง (ส.ค.1) ตามมาตรา 5 แห่งพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ.2497 หรือมิได้แจ้งความประสงค์จะได้สิทธิในที่ดิน (ส.ค. 2) ตามมาตรา 27 ตรี แห่งประมวลกฎหมายที่ดินไว้ก่อนมีการกำหนดเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม เมื่อมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตปฏิรูปที่ดินในท้องที่ใดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเข้าไปดำเนินการแล้วหรือยังไม่ได้ดำเนินการก็ตาม พนักงานเจ้าหน้าที่จะออกเอกสารสิทธิในที่ดินให้แก่ราษฎรที่ครอบครองและทำประโยชน์รายนั้น ๆ อยู่ก่อนวันที่ประมวลกฎหมายที่ดินใช้บังคับไม่ได้ หลังจากนั้นระหว่างในวันที่ 22 พฤศจิกายน 2537 ถึงวันที่ 30 ธันวาคม 2537 นายสัญชัย ปลัดอำเภอพรเจริญ ปฏิบัติราชการแทนนายอำเภอพรเจริญ และนายเมตต์ นายอำเภอพรเจริญ ได้ลงนามออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เลขที่ 504, 511 และเลขที่ 457, 467, 505, 507 ถึง 510, 512 ถึง 522, 524, 525, 528, 529, 531 ถึง 536, 538 ถึง 545, 547 ถึง 549, 552, 553, 555 ถึง 562, 564 ถึง 566, 568, 569, 572 ถึง 580, 582 ตำบลหนองหัวช้าง อำเภอพรเจริญ จังหวัดหนองคาย ให้แก่ราษฎรจำนวน 2 ฉบับ และ 64 ฉบับ ตามลำดับทั้ง 66 ฉบับ เนื้อที่รวม 5,291 ไร่ 1 งาน 44 ตารางวา สืบเนื่องจากจำเลยร่วมซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดินอำเภอพรเจริญ เป็นผู้รวบรวมเอกสารที่เกี่ยวข้องเสนอนายเมตต์ให้ลงนามในหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเพื่อขออนุมัติออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เหล่านั้นผ่านสำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย โดยมีนายมนูญ หัวหน้างานควบคุมและประสานงานฝ่ายอำนวยการ สำนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย เป็นผู้ตรวจสอบพิจารณาเรื่องราวการขอออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) เสนอนายบรรเทิง เจ้าหน้าที่บริหารงานที่ดิน 7 รักษาการในตำแหน่งเจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดหนองคาย ลงลายมือชื่อในหนังสือถึงนายอนันต์ ผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคายเพื่อขออนุมัติออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) และนายอนันต์พิจารณาอนุมัติให้ออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ตามที่เสนอ จำเลยร่วม นายมนูญ และนายบรรเทิง ต่างเป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 1 นายสัญชัยและนายเมตต์เป็นข้าราชการในสังกัดของจำเลยที่ 2 ส่วนนายอนันต์เป็นผู้แทนของจำเลยที่ 3 ในปี 2538 โจทก์ได้ซื้อที่ดินรวมทั้งที่ดินแปลงอื่นจากจำเลยที่ 4 ในราคาไร่ละ 20,000 บาท จดทะเบียนซื้อขายที่สำนักงานที่ดินอำเภอพรเจริญ หลังจากนั้นโจทก์นำที่ดินทั้งหมดไปจดทะเบียนจำนองเป็นประกันหนี้ของโจทก์ที่มีต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) ต่อมาอีกราว 4 ปีเศษ จำเลยที่ 3 มีคำสั่งเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 66 ฉบับ ตามสำเนาคำสั่งจังหวัดหนองคาย กระทรวงมหาดไทยแต่งตั้งคณะกรรมการสอบสวนวินัยเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง แล้วสรุปผลการสอบสวนว่า จำเลยร่วมและนายมนูญมีความผิดวินัยฐานทุจริตต่อหน้าที่ราชการ จงใจไม่ปฏิบัติหน้าที่ตามระเบียบของทางราชการ และรายงานเท็จต่อผู้บังคับบัญชา อันเป็นเหตุให้เสียหายแก่ราชการอย่างร้ายแรง สมควรลงโทษไล่ออกจากราชการ นายสัญชัยและนายเมตต์มีความผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการและฐานไม่ปฏิบัติหน้าที่ราชการด้วยความเอาใจใส่ระมัดระวังรักษาผลประโยชน์ของทางราชการ สมควรลงโทษภาคทัณฑ์ นายอนันต์มีความผิดวินัยฐานไม่ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการให้เกิดผลดีหรือความก้าวหน้าแก่ราชการ แต่นายอนันต์เกษียณอายุราชการไปแล้วจึงสมควรงดโทษ ส่วนนายบรรเทิงไม่ได้ถูกสอบสวนวินัยเนื่องเพราะเกษียณอายุราชการไปก่อน
มีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ใช้สิทธิโดยไม่สุจริตหรือไม่ กรณีได้ความตามที่คู่ความนำสืบรับกันฟังได้ว่า การออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ดำเนินการโดยผู้ครอบครองที่ดินที่มิได้ยื่นคำขอพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์จริง ไม่ทราบตำแหน่งที่ดิน ไม่มีการรังวัดพิสูจน์สอบสวนการทำประโยชน์ระบุตำแหน่งที่ดินในระวางแผนที่ รวมทั้งยังออกทับที่ดินในเขตปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมฝ่าฝืนคำสั่งของจำเลยที่ 1 โดยจำเลยร่วมได้ทำเอกสารปลอมและเอกสารอันเป็นเท็จเสนอต่อนายอำเภอพรเจริญและผู้รักษาราชการแทน เพื่อลงนามในหนังสือขออนุมัติต่อผู้ว่าราชการจังหวัดหนองคาย ในการออกหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เฉพาะราย ทั้งไม่มีการจัดทำตามขั้นตอนรายละเอียดดังที่ระบุในเอกสารประกอบเรื่องราวขึ้นจริง จากการตรวจสอบยังพบว่าการต่อเลขในทะเบียนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.8) ตั้งแต่เลขที่ 430 ถึง 681 ตำบลหนองหัวช้าง ถูกฉีกขาดหายไป ไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ ที่ถูกเพิกถอน โดยจำเลยร่วมอาศัยโอกาสที่ทราบระเบียบและหลักเกณฑ์วิธีดำเนินการเพื่อให้ได้มาซึ่งหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ ซึ่งเป็นเอกสารสิทธิอันเป็นเอกสารราชการสามารถใช้เป็นสินทรัพย์เพื่อจำหน่าย จ่าย โอน รวมทั้งใช้เป็นหลักประกันสินเชื่อในการประกอบธุรกิจ และจากข้อเท็จจริงที่มิได้มีการกำหนดตำแหน่งที่ดินลงในระวางแผนที่ รวมทั้งไม่พบหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ฉบับสำนักงานที่ดินทั้ง 66 ฉบับ อันจะพิสูจน์สิทธิครอบครองจากเอกสารราชการซึ่งเจ้าพนักงานได้จัดทำขึ้นหรือรับรองในหน้าที่ บ่งบอกว่าการกระทำทั้งปวงมิได้มุ่งหมายให้ได้ที่ดินเพื่อใช้เป็นประโยชน์ตามสภาพของทรัพย์สิน แต่มุ่งหมายเพียงเพื่อให้ได้หนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ใช้เป็นสินทรัพย์จำนองเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินเท่านั้น สอดรับกับที่โจทก์อ้างตนเองเป็นพยานเบิกความว่า ก่อนการซื้อที่ดินโจทก์เคยไปดูที่ดิน พบว่ามีการทำนาปลูกต้นยูคาลิปตัสและมันสำปะหลัง ไม่เคยถามผู้ที่ทำนาเหล่านั้นว่าขายที่ดินให้โจทก์หรือไม่ ทราบเพียงว่าเป็นที่ดินมีหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) จึงตกลงซื้อโดยมอบเงินค่าที่ดินให้แก่จำเลยที่ 4 นำไปมอบแก่ประชาชนเจ้าของที่ดิน ภายหลังที่ซื้อที่ดินทั้งหมดประมาณ 18,000 ไร่ ก็ได้วางแผนพัฒนาที่ดินทั้งหมดเสนอต่อบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ร่วมเสริมกิจ จำกัด (มหาชน) และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ธนสยาม จำกัด (มหาชน) ประกอบคำขอสินเชื่อเพื่อนำเงินที่ได้จากการกู้ยืมและจำนองไปขยายธุรกิจขนส่งสินค้าทางทะเล เนื่องจากโจทก์เป็นผู้บริหารบริษัทประมาณ 20 บริษัท รวมทั้งบริษัทเอสวี มารีน จำกัด โดยไม่เคยทำประโยชน์อย่างใดตามแผนพัฒนาที่ดินซึ่งเสนอต่อผู้ให้กู้ในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) 66 แปลง ที่ถูกเพิกถอนทั้งที่อ้างว่าซื้อที่ดินเพื่อทำประโยชน์เกี่ยวกับกสิกรรม ที่สำคัญการซื้อขายที่ดินดังที่โจทก์เสนอแสดงหนังสือสัญญาขายที่ดินฉบับที่เจ้าพนักงานที่ดินเป็นผู้ทำขึ้นประกอบการจดทะเบียนซื้อขายต่อศาลจำนวนมากถึง 92 ฉบับ เป็นพยานหลักฐาน ก็กลับปรากฏว่ามีเพียงหนังสือสัญญาขายที่ดินแผ่นที่ 51 เป็นหลักฐานการซื้อขายที่ดินหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) เลขที่ 467 ฉบับเดียวที่ตรงกันกับสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ในบรรดา 66 ฉบับ ซึ่งถูกเพิกถอน โดยเฉพาะตามสารบัญรายการจดทะเบียนท้ายสำเนาหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส.3 ก.) ทุกฉบับ กลับระบุวันทำสัญญาซื้อขายเป็นวันที่ 17 กรกฎาคม 2538 แตกต่างกับข้อความในหนังสือสัญญาขายที่ดินตามที่ระบุว่าโจทก์ซื้อที่ดินแปลงดังกล่าวนี้และที่ดินทั้งหมดในวันที่ 24 พฤษภาคม 2538 ก่อนวันที่ลงในสารบัญจดทะเบียนและมีชื่อจำเลยร่วมเป็นเจ้าพนักงานผู้รับจดทะเบียนด้วย ดังนี้ การที่โจทก์เบิกความยืนยันว่า เป็นผู้ไปทำสัญญาซื้อขายที่ดินด้วยตนเองที่สำนักงานที่ดินทั้งที่รายการจดทะเบียนระบุวันทำสัญญาแตกต่างกันดังกล่าวแล้ว เป็นพิรุธว่าเป็นจริงดังที่โจทก์เบิกความหรือไม่ จึงไม่น่าเชื่อว่ามีการจดทะเบียนซื้อขายที่ดินโดยชอบ ข้อเท็จจริงเชื่อได้ว่าโจทก์ได้ชื่อว่ามีสิทธิในที่ดินตามหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) ทั้ง 66 ฉบับ มาโดยไม่ชอบ ไม่อาจอ้างสิทธิใด ๆ ได้ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ จึงเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริตต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 5 โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แม้ไม่มีคู่ความฝ่ายใดยกขึ้นฎีกา ศาลฎีกาก็ชอบที่จะยกขึ้นวินิจฉัยได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 142 (5) ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 4 ร่วมกันรับผิดชำระค่าเสียหายให้แก่โจทก์ ศาลฎีกาคณะคดีปกครองไม่เห็นพ้องด้วย และไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาของจำเลยที่ 1 เพราะไม่ทำให้ผลแห่งคดีเปลี่ยนแปลงไป โจทก์ฟ้องจำเลยที่ 1 และที่ 4 ให้ร่วมกันรับผิดชำระค่าสินไหมทดแทนในผลแห่งละเมิด กรณีจึงเป็นเรื่องเกี่ยวด้วยการชำระหนี้อันมิอาจแบ่งแยกได้ ศาลฎีกามีอำนาจพิพากษาให้มีผลถึงจำเลยที่ 4 ที่มิได้ฎีกาด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 245 (1) ประกอบด้วยมาตรา 247
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์สำหรับจำเลยที่ 1 และที่ 4 เสียด้วย ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสามศาลแทนจำเลยที่ 1 โดยกำหนดค่าทนายความรวมเป็นเงิน 120,000 บาท ส่วนค่าฤชาธรรมเนียมระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ 4 ทั้งสามศาลให้เป็นพับ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share