แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
สภาอุตสาหกรรมจังหวัดขอนแก่นโจทก์ได้รับการสถาปนาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำดับที่ 2 ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มาตรา 9 โจทก์ก็ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเท่านั้น เพราะตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มิได้กำหนดให้กลุ่ม “อุตสาหกรรม”หรือ “กลุ่มท้องที่” ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นนิติบุคคลแยกเป็นต่างหาก เมื่อโจทก์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเพียงสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530มาตรา 8 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีเองได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอให้จำเลยชำระเงินค่าตอบแทนในการจัดงานในนามของโจทก์เป็นเงินจำนวน 575,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน500,000 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่ โดยโจทก์อุทธรณ์ว่า ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยพ.ศ. 2530 และข้อบังคับของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยได้กำหนดให้โจทก์มีฐานะเป็นกลุ่มสมาชิก การดำเนินกิจกรรมหรือทำนิติกรรมใด ๆ ในนามของกลุ่มสมาชิกให้อยู่ภายใต้การควบคุมและรับผิดชอบของคณะกรรมการกลุ่มสมาชิกโดยไม่มีผลผูกพันกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทางกฎหมายแต่อย่างใด ทั้งตามข้อบังคับของโจทก์ก็ได้มีข้อกำหนดดังกล่าว และยังให้คณะกรรมการโจทก์มีอำนาจวางนโยบายดำเนินงานของโจทก์ภายใต้ขอบเขตหน้าที่และวัตถุประสงค์ สำหรับกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกได้กำหนดให้ประธานโจทก์เป็นผู้แทนของโจทก์สามารถกระทำการแทนโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นสาขาในจังหวัดอื่นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โจทก์จึงมีอำนาจฟ้องคดีได้เองนั้น เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มาตรา 5 วรรคสอง บัญญัติว่า ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเป็นนิติบุคคล และมาตรา 8 วรรคแรก บัญญัติว่า ให้สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีสำนักงานใหญ่ในกรุงเทพมหานครและให้มีสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นได้ตามความจำเป็น แม้โจทก์จะได้รับการสถาปนาจากสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยขึ้นเป็นสภาอุตสาหกรรมจังหวัดลำดับที่ 2 ซึ่งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยมีอำนาจกระทำได้ตามมาตรา 9 ของพระราชบัญญัติดังกล่าวก็ตามโจทก์ก็ยังคงเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยเท่านั้น เพราะตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มิได้กำหนดให้กลุ่ม”อุตสาหกรรม” หรือ “กลุ่มท้องที่” ที่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดตั้งขึ้นนั้นเป็นนิติบุคคลแยกเป็นต่างหากแต่ประการใด แม้ตามระเบียบข้อบังคับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยฉบับที่ 5 ว่าด้วยกลุ่มสมาชิก พ.ศ. 2540 ข้อ 9 จะกำหนดว่าเมื่อมีการจัดตั้งกลุ่มสมาชิกแล้ว ให้คณะกรรมการกลุ่มสมาชิกดำเนินกิจการหรือทำนิติกรรมใด ๆในนามของกลุ่มสมาชิกนั้น ๆ ภายใต้การควบคุมและรับผิดชอบของคณะกรรมการกลุ่มสมาชิกและสมาชิกของกลุ่ม การดำเนินการใด ๆ ดังกล่าวข้างต้น ไม่มีผลผูกพันสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยทางกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้นก็ตาม ก็หามีผลทำให้โจทก์ซึ่งเป็นกลุ่มสมาชิกที่จัดตั้งขึ้นมีฐานะเป็นนิติบุคคลไม่ เมื่อโจทก์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นเพียงสำนักงานสาขาในจังหวัดอื่นของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยตามพระราชบัญญัติสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2530 มาตรา 8 วรรคแรก โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องคดีเองได้ที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องชอบแล้ว อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง คดีนี้โจทก์อุทธรณ์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้ศาลชั้นต้นสืบพยานหลักฐานแล้วพิพากษาใหม่ตามรูปคดี ไม่ได้ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะคดี ต้องเสียค่าขึ้นศาลเพียง 200 บาท ตามตาราง 1 ข้อ 2 ก. ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมแล้ว แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลตามทุนทรัพย์พิพาทจึงเกินอัตราตามกฎหมาย”
พิพากษายืน คืนค่าขึ้นศาลส่วนที่เกินจาก 200 บาท ให้โจทก์