แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
โจทก์ฟ้องว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างถนนตามสัญญาที่จำเลยทำไว้กับห้างดังกล่าวให้แก่โจทก์และมีหนังสือบอกกล่าวการโอนไปยังจำเลยแล้ว โดยโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและสำนวนหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องมาเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าสำเนาหนังสือดังกล่าวไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ดังนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับตามที่โจทก์กล่าวอ้างและยอมรับความถูกต้องของเอกสารท้ายฟ้องแล้ว ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงรับฟังได้ตามคำฟ้องโดยที่โจทก์ไม่จำต้องนำสืบจำเลยจะมานำสืบภายหลังว่าหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องฉบับที่อยู่ที่จำเลยมีข้อความบางอย่างไม่ครบถ้วนจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลบังคับหาได้ไม่
คำให้การของจำเลยที่ว่าจำเลยไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าจะมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันจริงหรือไม่เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ได้นำหนังสือยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องมายื่นต่อจำเลยก็ดี จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ก็ดี ไม่เป็นคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งอันจะก่อให้เกิดประเด็นในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของการโอนสิทธิเรียกร้อง
ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. โอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์โดยทำหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย อันเป็นการปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตาม ป.พ.พ. มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 แล้ว สิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. ในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาจ้างจึงตกเป็นของโจทก์นับแต่นั้น ลำพังแต่ความจริงของจำเลยที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ร. เพราะได้รับแจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องจากห้างดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยว่าจ้างห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิก่อสร้างถนนคอนกรีตเสริมเหล็กสายบ้านนาพังเป็นเงินค่าจ้าง 376,430 บาท ตามสัญญาจ้างเลขที่ 3/2544 ลงวันที่ 30 เมษายน 2544 ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิเป็นหนี้โจทก์ ได้นำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์ และมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทราบแล้ว โจทก์เป็นผู้มีสิทธิรับเงินค่าจ้างดังกล่าว แต่จำเลยกลับจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิทำให้โจทก์ได้รับความเสียหาย ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน 376,430 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับแต่ผิดสัญญาจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยให้การว่า โจทก์ยื่นหนังสือโอนสิทธิเรียกร้องไว้แก่จำเลยก่อนที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิจะก่อสร้างถนนเสร็จ หลังจากนั้นโจทก์ไม่เคยไปติดต่อจำเลยเพื่อแจ้งยืนยันการขอรับชำระหนี้จำเลยไม่ทราบและไม่แน่ใจว่ามีการโอนสิทธิเรียกร้องกันจริงหรือไม่ เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒินำหนังสือแจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องไปยื่นต่อจำเลยเช่นเดียวกัน หากจำเลยไม่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิก็อาจถูกฟ้องให้รับผิดตามสัญญาได้จำเลยจ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิไปโดยสุจริตจำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์กับโจทก์และไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยชำระเงิน 352,302 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 13 ธันวาคม 2544 จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 4,000 บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ที่จำเลยฎีกาว่า พยานหลักฐานที่โจทก์นำสืบรับฟังไม่ได้ แต่ต้องฟังว่าหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิกับโจทก์ไม่สมบูรณ์และไม่มีผลบังคับดังที่จำเลยนำสืบ ที่ศาลอุทธรณ์ภาค 4 วินิจฉัยว่าคำให้การของจำเลยไม่มีประเด็นในเรื่องดังกล่าวจึงไม่ชอบนั้น เห็นว่า คำให้การที่จะก่อให้เกิดประเด็นข้อพิพาทในเรื่องใด ต้องเป็นคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งตามนัยที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 177 วรรคสอง คดีนี้โจทก์ฟ้องกล่าวอ้างว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิโอนสิทธิเรียกร้องเงินค่าจ้างก่อสร้างถนนตามสัญญาที่จำเลยทำไว้กับห้างดังกล่าวให้แก่โจทก์และมีหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยแล้ว โดยโจทก์ได้แนบสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและสำเนาหนังสือที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลยซึ่งมีข้อความครบถ้วนมาเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้องด้วย จำเลยมิได้ให้การปฏิเสธโดยชัดแจ้งว่าสำเนาหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและสำเนาหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องที่โจทก์กล่าวอ้างและแนบมาท้ายฟ้องไม่สมบูรณ์หรือไม่ถูกต้องอย่างไร ดังนี้ ถือว่าจำเลยยอมรับตามที่โจทก์กล่าวอ้างและยอมรับความถูกต้องของเอกสารท้ายฟ้องดังกล่าวแล้ว ข้อเท็จจริงในส่วนนี้จึงรับฟังได้ตามคำฟ้องโดยที่โจทก์ไม่จำต้องนำสืบ จำเลยจะมานำสืบภายหลังว่าหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องและหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องฉบับที่อยู่ที่จำเลยมีข้อความบางอย่างไม่ครบถ้วนจึงไม่สมบูรณ์และไม่มีผลบังคับหาได้ไม่ ส่วนที่จำเลยให้การว่าจำเลยไม่ทราบและไม่แน่ใจว่าจะมีการโอนสิทธิเรียกร้องกันจริงหรือไม่เพราะห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิได้นำหนังสือยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องมายื่นต่อจำเลยก็ดี จำเลยไม่มีนิติสัมพันธ์ใดๆ กับโจทก์ก็ดีไม่เป็นคำให้การที่แสดงโดยชัดแจ้งอันจะก่อให้เกิดประเด็นในเรื่องความไม่สมบูรณ์ของการโอนสิทธิเรียกร้องดังที่จำเลยฎีกาได้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิโอนสิทธิเรียกร้องที่มีต่อจำเลยให้แก่โจทก์โดยทำเป็นหนังสือบอกกล่าวการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย อันเป็นการปฏิบัติตามวิธีการโอนสิทธิเรียกร้องตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 303 วรรคหนึ่ง และมาตรา 306 แล้ว สิทธิเรียกร้องของห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิในการรับเงินจากจำเลยตามสัญญาจ้างจึงตกเป็นของโจทก์นับแต่นั้น ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิจะมีหนังสือแจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องไปยังจำเลย แต่เมื่อจำเลยมิได้ให้การต่อสู้ว่าโจทก์ยินยอมด้วยในการแจ้งยกเลิกดังกล่าว ทำให้ไม่มีประเด็นที่จำเลยจะนำสืบว่าโจทก์ยินยอม ลำพังแต่ความสุจริตของจำเลยที่จ่ายเงินค่าจ้างให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิเพราะได้รับแจ้งยกเลิกการโอนสิทธิเรียกร้องจากห้างดังกล่าวยังไม่เป็นเหตุที่จำเลยจะยกมาเป็นข้ออ้างเพื่อปฏิเสธความรับผิดต่อโจทก์ได้ ส่วนที่จำเลยฎีกาต่อไปว่าศาลอุทธรณ์ภาค 4 ชอบที่จะรับวินิจฉัยข้อเท็จจริงที่ว่าห้างหุ้นส่วนจำกัดรัฐวุฒิ ทำหนังสือสัญญาโอนสิทธิเรียกร้องไว้แก่โจทก์เพื่อเป็นประกันหนี้ ซึ่งจำเลยได้ยกขึ้นอ้างไว้ในอุทธรณ์แล้วนั้น เห็นว่า ข้อโต้เถียงดังกล่าวจำเลยมิได้ให้การต่อสู้เป็นประเด็นไว้ในคำให้การแม้จำเลยจะนำสืบถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ ก็เป็นเรื่องนอกประเด็นและถือว่าเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นศาลอุทธรณ์ภาค 4 ไม่รับวินิจฉัยให้จึงชอบแล้ว ที่จำเลยฎีกาต่อไปอีกว่า การโอนสิทธิเรียกร้องระหว่างห้างหุ่นส่วนจำกัดรัฐวุฒิกับโจทก์เป็นการแสดงเจตนาลวงตกเป็นโมฆะนั้น ก็มิใช่เป็นข้อที่ได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 4 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้เช่นกัน ศาลอุทธรณ์ภาค 4 พิพากษาชอบแล้ว”
พิพากษายืนให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 3,000 บาท แทนโจทก์