คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10306/2550

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากร จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้กับกรมสรรพากรโจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้รับแจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน เป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตาม ป.พ.พ. มาตรา 691
โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้าย ป.วิ.พ. ข้อ (2) (ก) ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคล มีฐานะเป็นกรมสังกัดกระทรวงการคลัง จำเลยที่ 1 เป็นห้างหุ้นส่วนจำกัด มีนายประมวลเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ จำเลยที่ 2 เคยเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการของจำเลยที่ 1 ระหว่างวันที่ 6 มกราคม 2541 ถึงวันที่ 12 มิถุนายน 2546 เมื่อประมาณปี 2537 เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 นำใบกำกับภาษีปลอมมาใช้เครดิตภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีตุลาคม 2536 เป็นเงิน 16,407.40 บาท เดือนภาษีเมษายน 2537 เป็นเงิน 8,452.33 บาท และเดือนภาษีสิงหาคม 2537 เป็นเงิน 32,477.53 บาท โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ชำระรวมเป็นเงินทั้งสิ้น 237,477 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์การประเมินต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ยกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 1 ในปี 2538 เจ้าพนักงานของโจทก์ตรวจพบว่าจำเลยที่ 1 ไม่สามารถแสดงใบกำกับภาษีซื้อสำหรับเดือนภาษีมีนาคมและเมษายน 2538 ต่อเจ้าพนักงาน เมื่อเจ้าพนักงานเรียกตรวจตามมาตรา 82/5 (1) แห่งประมวลรัษฎากร โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มให้จำเลยที่ 1 ชำระเป็นเงิน 69,279 บาท ซึ่งจำเลยที่ 1 ไม่ได้อุทธรณ์คัดค้านการประเมิน และเจ้าพนักงานของโจทก์ยังตรวจพบอีกว่าจำเลยที่ 1 มีรายได้จากการรับเหมาก่อสร้างจากส่วนราชการแต่ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 จึงออกหมายเรียกจำเลยที่ 1 มาตรวจสอบไต่สวน จำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้นิติบุคคลภายหลังแต่แสดงรายได้ขาดไป 10,830.72 บาท มีรายจ่ายต้องห้ามตามมาตรา 65 ตรี (18) แห่งประมวลรัษฎากร 319,691.43 บาท คำนวณค่าเสื่อมราคาทรัพย์สินต่ำกว่าความเป็นจริง 85,652.01 บาท เมื่อเจ้าพนักงานปรับปรุงแล้วจำเลยที่ 1 ต้องเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล เบี้ยปรับและเงินเพิ่มอีก 241,918 บาท นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยื่นประมาณการกำไรสุทธิครึ่งปีต่ำกว่าร้อยละ 25 ของกำไรสุทธิทั้งปี เจ้าพนักงานของโจทก์จึงประเมินเรียกเก็บเงินเพิ่มในอัตราร้อยละ 20 ของภาษีที่ชำระขาดตามมาตรา 67 ตรี แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 4,023.26 บาท เบี้ยปรับ 1 เท่า ตามมาตรา 22 แห่งประมวลรัษฎากร เป็นเงิน 15,340.02 บาท รวมเป็นค่าภาษีทั้งสิ้น 19,363 บาท และจำเลยที่ 1 ยื่นแบบแสดงรายการภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.30) สำหรับปี 2536 ไม่ถูกต้อง กล่าวคือ ในเดือนภาษีกุมภาพันธ์ เมษายน พฤษภาคมและสิงหาคม 2536 แสดงยอดขายขาดไป 77,298.13 บาท 3,553.49 บาท 0.94 บาท และ 0.03 บาท ตามลำดับ และเดือนภาษีเมษายน พฤษภาคม และสิงหาคม 2536 แสดงยอดภาษีซื้อเกินไป 18,691.60 บาท 71,440 บาท และ 57,773.46 บาท ตามลำดับ โจทก์จึงแจ้งการประเมินภาษีมูลค่าเพิ่ม เบี้ยปรับและเงินเพิ่มทั้ง 4 เดือนภาษีดังกล่าวให้จำเลยที่ 1 ชำระรวมเป็นเงิน 26,253 บาท จำเลยที่ 1 อุทธรณ์ต่อคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ขอให้งดหรือลดเบี้ยปรับ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยให้ลดเบี้ยปรับลงเหลืออัตราร้อยละ 50 ของเบี้ยปรับตามการประเมิน โจทก์จึงแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ให้จำเลยที่ 1 ชำระภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับรอบระยะเวลาบัญชีปี 2536 และภาษีมูลค่าเพิ่มเบี้ยปรับและเงินเพิ่มรวมเป็นเงิน 198,164 บาท รวมเป็นค่าภาษีอากรที่จำเลยที่ 1 ต้องชำระตามการประเมินแก่โจทก์ทั้งสิ้น 504,920 บาท ต่อมาเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2542 จำเลยที่ 1 ขอผ่อนชำระค่าภาษีอากรค้างต่อโจทก์รวม 24 งวด โดยมีจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน จำเลยที่ 1 ผ่อนชำระให้แก่โจทก์เพียงบางส่วนแล้วไม่ชำระ ยังคงเหลือหนี้ภาษีอากรค้างอีก 261,929.25 บาท โจทก์ทวงถามให้จำเลยทั้งสามชำระแต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์
จำเลยทั้งสามขาดนัดยื่นคำให้การ โจทก์ยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำพิพากษาให้โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดี ศาลมีคำสั่งให้โจทก์ส่งเอกสารแทนการสืบพยาน
ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยทั้งสองไม่ชำระหรือชำระไม่ครบให้จำเลยที่ 3 ชำระเทนจนครบถ้วนกับให้จำเลยทั้งสามร่วมกันใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความ 800 บาท คำขออื่นให้ยก
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรวินิจฉัยว่า “คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษาให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันหรือแทนกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 และที่ 2 ไม่ชำระหรือชำระไม่ครบ ให้จำเลยที่ 3 ชำระแทนจนครบถ้วนนั้นชอบหรือไม่ เห็นว่า ตามสัญญาค้ำประกันการผ่อนชำระภาษีอากรเอกสารหมาย จ.14 แผ่นที่ 48 และ 49 จำเลยที่ 3 ให้สัญญาไว้ในข้อ 4 ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ไม่ชำระค่าภาษีอากร เมื่อสรรพากรภาค 10 ได้แจ้งจำนวนเงินภาษีอากรที่ต้องชำระของจำเลยที่ 1 ให้จำเลยที่ 3 ทราบแล้ว จำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แก่โจทก์ภายใน 15 วัน นับแต่วันได้แจ้ง โดยจำเลยที่ 3 จะนำเงินมาชำระให้แทนจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้ขอผ่อนชำระภาษีอากรโดยมิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ต้องชำระก่อน ข้อสัญญาดังกล่าวเป็นกรณีที่จำเลยที่ 3 ซึ่งเป็นผู้ค้ำประกันสละสิทธิที่จะขอให้เรียกจำเลยที่ 1 ผู้เป็นลูกหนี้ชำระหนี้ก่อนและสละสิทธิที่จะให้โจทก์บังคับการชำระหนี้เอาจากทรัพย์สินของจำเลยที่ 1 ก่อนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 688 และ 689 อันมีผลทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 หรือที่ 3 คนใดคนหนึ่งชำระหนี้สิ้นเชิง โดยจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 3 ยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์จนกว่าโจทก์จะได้รับชำระหนี้เสร็จสิ้นเชิง จำเลยที่ 3 จึงต้องร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 691 ที่ศาลภาษีอากรกลางพิพากษามาศาลฎีกาแผนกคดีภาษีอากรไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังขึ้น
อนึ่ง โจทก์อุทธรณ์ขอให้จำเลยที่ 3 ร่วมรับผิดกับจำเลยที่ 1 และที่ 2 อย่างลูกหนี้ร่วม จึงเป็นคดีที่มีคำขอให้ปลดเปลื้องทุกข์อันไม่อาจคำนวณเป็นราคาเงินได้ต้องเสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์จำนวน 200 บาท เท่านั้น ตามตาราง 1 ท้ายประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ข้อ (2) (ก) ประกอบพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลภาษีอากรและวิธีพิจารณาคดีภาษีอากร พ.ศ.2528 มาตรา 24 แต่โจทก์เสียค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ตามจำนวนทุกทรัพย์ที่โจทก์ฟ้องทั้งๆ ที่โจทก์เป็นฝ่ายชนะคดีในศาลภาษีอากรกลางอันเป็นการไม่ถูกต้องและต้องคืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกินมาให้แก่โจทก์”
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยทั้งสามร่วมกันหรือแทนกันชำระเงิน 261,929.25 บาท แก่โจทก์ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลภาษีอากรกลาง คืนค่าขึ้นศาลชั้นอุทธรณ์ส่วนที่เกิน 200 บาท แก่โจทก์ ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์ให้เป็นพับ

Share