คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 902-999/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

เมื่อจำเลยเห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองมิใช่ศาลแรงงานกลางก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนวันสืบพยาน เพื่อให้ศาลแรงงานกลางจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยมิได้ดำเนินการแสดงว่าจำเลยยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิพากษาคดีนี้ได้ และเมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้เนื่องจากเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว

ย่อยาว

โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 และที่ 3 เป็นพนักงานตรวจแรงงาน จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 มีตำแหน่งและอัตราค่าจ้างตามคำฟ้องแต่ละสำนวน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 28 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 1 และโจทก์ที่ 29 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ยื่นคำร้องต่อจำเลยที่ 3 ว่าจำเลยที่ 2 ค้างจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ย โดยจำเลยที่ 2 ไม่ปรับค่าจ้างให้แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติตามหนังสือด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 และไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปี เป็นเหตุให้จำเลยที่ 2 ค้างจ่ายค่าจ้างดังกล่าว ต่อมาจำเลยที่ 1 และที่ 3 ได้ออกคำสั่งพนักงานตรวจแรงงานกลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 3 ที่ 42/2548 และคำสั่งพนักงานตรวจแรงงาน กลุ่มงานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานพื้นที่ 1 ที่ 73/2548 ตามลำดับเรื่องค่าจ้าง ลงวันที่ 23 กันยายน 2548 โดยมีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 คำสั่งดังกล่าวทำให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 เสียประโยชน์ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างค้างจ่ายจากจำเลยที่ 2 ซึ่งการปรับอัตราเงินเดือนถือเป็นสภาพการจ้างและเป็นค่าจ้างที่นายจ้างต้องจ่ายให้แก่โจทก์แต่ละคนตามสัญญาจ้างหรือข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยที่ 2 ไม่ปรับค่าจ้างให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามมติคณะรัฐมนตรีและไม่ปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ซึ่งจำเลยที่ 2 ได้ปฎิบัติมาตลอดเมื่อมีการปรับโครงสร้างเงินเดือนข้าราชการและรัฐวิสาหกิจโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 เสียประโยชน์ไม่ได้รับการปรับเงินขึ้นร้อยละ 3 บวกอีก 2 ขั้น ของฐานเงินเดือนเดิมนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2547 จำนวน 6 เดือน ไม่ได้รับการปรับ 1 ขั้น ของฐานเงินเดือนนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2547 ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2548 จำนวน 6 เดือน และไม่ได้รับการปรับเงินขึ้นของฐานเงินเดือนปัจจุบันนับแต่วันที่ 1 เมษายน 2548 ถึงวันที่ 30 กันยายน 2548 จำนวน 6 เดือน จำเลยที่ 2 ได้ปรับค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีให้แก่ลูกจ้างสังกัดสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิการภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ขึ้นตรงต่อเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาไปแล้ว ขอให้เพิกถอนคำสั่งที่ 42/2548 ของจำเลยที่ 1 และคำสั่งที่ 73/2548 ของจำเลยที่ 3 เรื่องค่าจ้าง ลงวันที่ 23 กันยายน 2548 และให้จำเลยที่ 2 จ่ายค่าจ้างตามคำขอท้ายฟ้องของโจทก์แต่ละคนพร้อมดอกเบี้ย
จำเลยทั้งสามให้การว่า จำเลยที่ 2 เป็นนิติบุคคลและอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงศึกษาธิการ และตามพระราชบัญญัติสภาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ให้โอนกิจการองค์การค้าของคุรุสภาไปเป็นของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 และองค์การค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นหน่วยงานของรัฐและเป็นส่วนราชการตามพระราชบัญญัติวิธีการงบประมาณ พ.ศ.2522 และความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาซึ่งไม่ตกอยู่ภายใต้บังคับแห่งพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ.2541 และพระราชบัญญัติแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ.2543 โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ไม่ได้เป็นพนักงานเจ้าหน้าที่ของจำเลยที่ 2 แต่เป็นเจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยที่ 2 ซึ่งยังไม่มีระเบียบข้อบังคับเกี่ยวกับพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยที่ 2 สิทธิประโยชน์ต่างๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ขององค์การค้าของจำเลยที่ 2 จึงเป็นไปตามระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 และการเลื่อนเงินเดือนเป็นไปตามระเบียบดังกล่าวข้อ 8 ซึ่งกำหนดให้การเลื่อนขั้นเงินเดือนพนักงานเจ้าหน้าที่ตำแหน่งประจำองค์การค้าของคุรุสภาให้ที่ประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ ดังนั้น คณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นผู้มีอำนาจกำกับดูแลจึงเป็นผู้พิจารณาอนุมัติการเลื่อนขั้นเงินเดือนโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ซึ่งที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษายังไม่มีมติอนุมัติให้เลื่อนขั้นหรือปรับเงินเดือนให้แก่เจ้าหน้าที่องค์การค้าของจำเลยที่ 2 เนื่องจากสถานะทางการเงินขององค์การค้าของจำเลยที่ 2 ขาดสภาพคล่อง จำเลยที่ 2 จึงยังไม่อาจปรับเงินเดือนให้โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ได้ และยังไม่จำต้องนำบันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 ข้อ 17 เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปีของเจ้าหน้าที่องค์การค้ามาใช้เป็นหลักเกณฑ์การพิจารณาให้ความดีความชอบแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 จำเลยที่ 2 มิได้ค้างชำระค่าจ้างโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 จำเลยที่ 1 และที่ 3 มีคำสั่งว่าโจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ไม่มีสิทธิได้รับค่าจ้างจากจำเลยที่ 2 ตามคำสั่งที่ 42/2548 และคำสั่งที่ 73/2548 ชอบด้วยกฎหมายแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกคำพิพากษาศาลแรงงานกลางเฉพาะในประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 (ประเด็นที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด) โดยให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงในปัญหาที่ว่า ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้แก่ลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ประเภทใดบ้าง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หรือมีเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างไร อันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่จำเลยที่ 2 ต้องปฏิบัติตามที่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ฟ้องหรือไม่ แล้วดำเนินการตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 56 วรรคสาม ต่อไปนอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้วฟังข้อเท็จจริงว่า การพิจารณาปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนให้แก่ลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภา (เดิม) หรือลูกจ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จะดำเนินการพิจารณาปรับตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งโดยเริ่มถือเป็นแนวปฏิบัติตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2531 นอกจากนี้ในการประชุมคณะกรรมการองค์การค้าของคุรุสภาครั้งที่ 12/2537-38 วันที่ 27 ธันวาคม 2537 นายสุคนธี รองผู้อำนวยการองค์การค้าของคุรุสภาเสนอต่อที่ประชุมเพื่อทราบว่าคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาได้อนุมัติหลักการว่าหากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในเรื่องอัตราเงินเดือนพนักงานรัฐวิสาหกิจเป็นอย่างไรให้องค์การค้าของคุรุสภาดำเนินการปรับอัตราเงินเดือนเจ้าหน้าที่องค์การค้าของคุรุสภาให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีได้โดยไม่ต้องเสนอขออนุมัติต่อคณะกรรมการอำนวยการคุรุสภาอีก แล้ววินิจฉัยว่าการที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจแล้วจำเลยที่ 2 จะดำเนินการปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ทุกครั้งโดยไม่มีเงื่อนไข จึงเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยาย ที่จำเลยที่ 2 ในฐานะนายจ้างปฏิบัติต่อพนักงานของจำเลยที่ 2 ในฐานะลูกจ้างมาโดยตลอดไม่เคยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างดังกล่าว และเมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับอัตราเงินเดือนของลูกจ้างรัฐวิสาหกิจในอัตราร้อยละ 3 และให้ได้รับค่าจ้างสูงกว่าอัตราที่เพิ่มร้อยละ 3 ตามอัตราค่าจ้างใหม่อีก 2 ขั้นตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2547 สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาก็ได้ยื่นข้อเรียกร้องต่อจำเลยที่ 2 ให้ปรับเงินเดือน 3 เปอร์เซ็นต์ 2 ขั้น จึงเป็นกรณีที่สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาได้แสดงเจตนาให้จำเลยที่ 2 ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง การที่จำเลยที่ 2 ไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างมีสาเหตุมาจากสภาพคล่องทางการเงินของจำเลยที่ 2 ที่เป็นปัญหาการบริหารการจัดการขององค์กรอันนำมาสู่การพิจารณาของคณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับการทบทวนสถานภาพขององค์การค้าของ สกสค. และพนักงานเจ้าหน้าที่ ซึ่งได้ข้อสรุปว่า เจ้าหน้าที่และพนักงานขององค์การค้าของคุรุสภาตามพระราชบัญญัติครู พ.ศ.2488 มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่และพนักงานของสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษารวมทั้งต้องได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งและได้รับเงินเดือนค่าจ้าง และสิทธิประโยชน์ต่างๆ ไม่น้อยกว่าที่เคยได้รับอยู่ในวันที่พระราชบัญญัติศึกษาครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 ใช้บังคับ ตามเอกสารหมาย จ.38 จึงเป็นการที่จำเลยที่ 2 ยอมรับถึงสถานภาพของพนักงานจำเลยที่ 2 มาโดยตลอดว่ามีสถานภาพเช่นเดียวกับที่คณะกรรมการที่ปรึกษากฎหมายของกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้ความเห็นเมื่อจำเลยที่ 2 กำหนดให้ปรับอัตราเงินเดือนให้แก่พนักงานของจำเลยที่ 2 ที่เป็นพนักงานประจำและพนักงานประเภทที่ 1 ซึ่งมีลักษณะเช่นเดียวกับพนักงานประจำจึงเป็นหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติที่จำเลยที่ 2 กำหนดเป็นแนวทางปฏิบัติ จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดชำระค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามอัตราตามฟ้องแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 พิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระค่าจ้างจำนวน 95,340 บาท 106,020 บาท 110,100 บาท 18,420 บาท 34,260 บาท 23,820 บาท 41,700 บาท 23,820 บาท 101,100 บาท 25,080 บาท 46,920 บาท 28,920 บาท 26,160 บาท 27,420 บาท 62,280 บาท 30,540 บาท 18,420 บาท 28,920 บาท 26,160 บาท 57,960 บาท 34,260 บาท 129,840 บาท 44,220 บาท 23,820 บาท 82,860 บาท 32,160 บาท 20,880 บาท 106,020 บาท 149,520 บาท 39,120 บาท 22,440 บาท 27,428 บาท 77,160 บาท 136,800 บาท 41,700 บาท 28,920 บาท 32,160 บาท 28,920 บาท 30,540 บาท 28,920 บาท 71,700 บาท 27,420 บาท 23,820 บาท 28,920 บาท 106,020 บาท 25,080 บาท 77,160 บาท 25,080 บาท 22,440 บาท 77,160 บาท 34,260 บาท 30,540 บาท 34,260 บาท 26,160 บาท 30,540 บาท 26,160 บาท 23,820 บาท 27,420 บาท 46,920 บาท 25,080 บาท 32,160 บาท 32,160 บาท 25,080 บาท 44,220 บาท 28,920 บาท 77,160 บาท 19,560 บาท 95,340 บาท 36,660 บาท 46,920 บาท 32,160 บาท 22,240 บาท 39,120 บาท 26,160 บาท 129,840 บาท 27,420 บาท 34,260 บาท 32,160 บาท 28,920 บาท 34,260 บาท 32,160 บาท 18,420 บาท 32,160 บาท 25,080 บาท 26,160 บาท 136,800 บาท 41,700 บาท 27,420 บาท 23,820 บาท 32,160 บาท 34,260 บาท 22,440 บาท 30,540 บาท 39,120 บาท 32,160 บาท 32,160 บาท และ 20,880 บาท แก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99 ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราตามฟ้องนับแต่วันที่โจทก์แต่ละคนเกิดสิทธิเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ที่ 1 ถึงที่ 91 และที่ 93 ถึงที่ 99
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “คดีนี้ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานพิพากษาย้อนสำนวนไปให้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า ในทางปฏิบัติเท่าที่ผ่านมาองค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีทุกครั้งที่มีมติให้ปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนลูกจ้างรัฐวิสาหกิจให้แก่ลูกจ้างขององค์การค้าของคุรุสภาหรือจำเลยที่ 2 ประเภทใดบ้าง โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ หรือมีเงื่อนไขอย่างอื่นอีกหรือไม่ อย่างไรอันจะถือได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายที่จำเลยที่ 2 ต้องปรับโครงสร้างอัตราเงินเดือนหรืออัตราค่าจ้างตามมติคณะรัฐมนตรีที่มีมติตามหนังสือสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ด่วนที่สุด ที่ นร 0504/16226 ลงวันที่ 3 พฤศจิกายน 2547 หรือไม่ ทั้งนี้เพื่อที่จะวินิจฉัยประเด็นข้อพิพาทข้อ 2 ที่ศาลแรงงานกลางกำหนดไว้ว่าจำเลยที่ 2 จะต้องจ่ายค่าจ้างพร้อมดอกเบี้ยตามฟ้องหรือไม่ เพียงใด ดังนั้น ประเด็นที่ศาลแรงงานกลางจะต้องพิจารณาและวินิจฉัยในชั้นนี้จึงมีเฉพาะเรื่องข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างโดยปริยายเท่านั้น การที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ว่า บันทึกข้อตกลงฉบับลงวันที่ 29 มิถุนายน 2525 เรื่องการพิจารณาความดีความชอบประจำปี ไม่มีข้อความครบถ้วนตามมาตรา 11 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ถือไม่ได้ว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้าง หรือหากถือว่าเป็นข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างข้อตกลงดังกล่าวก็ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อครบกำหนดเวลา 1 ปี ตามมาตรา 12 วรรคหนึ่ง แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ก็ดี การที่สหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภายื่นข้อเรียกร้องให้จำเลยที่ 2 ปรับเงินเดือนตามมติคณะรัฐมนตรีเท่ากับสหภาพแรงงานองค์การค้าของคุรุสภาซึ่งโจทก์ทั้งหลายเป็นสมาชิกรับรองการยื่นข้อเรียกร้องดังกล่าวว่าไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างก็ดี มติคณะรัฐมนตรีให้ปรับเงินเดือนให้แก่พนักงานรัฐวิสาหกิจไม่ใช่ข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างเนื่องจากจำเลยที่ 2 ไม่เคยตกลงด้วยเป็นลายลักษณ์อักษรหรือโดยปริยายก็ดี ล้วนเป็นอุทธรณ์ในเรื่องที่มิได้เกี่ยวกับประเด็นที่ศาลแรงงานกลางจะต้องวินิจฉัยชี้ขาดในชั้นนี้ ถือว่าเป็นอุทธรณ์ในข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลแรงงานกลาง ต้องห้ามมิให้อุทธรณ์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 225 วรรคหนึ่ง ประกอบด้วยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.2522 มาตรา 31 ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย
ส่วนที่จำเลยที่ 2 อุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า คณะกรรมการของจำเลยที่ 2 ใช้อำนาจตามพระราชบัญญัติครูและบุคลากรทางการศึกษา พ.ศ.2546 มาตรา 63 (5), 90 และระเบียบคุรุสภาว่าด้วยการบริหารองค์การค้าของคุรุสภา พ.ศ.2503 ข้อ 8 ซึ่งเป็นกฎหมายมหาชนในการปรับสภาพการจ้าง การที่จะออกคำสั่งให้เปลี่ยนแปลงสภาพการจ้างโดยอำนาจตามพระราชบัญญัติและระเบียบดังกล่าวซึ่งเป็นกฎหมายมหาชน จึงเป็นอำนาจพิจารณาของศาลปกครองมิใช่ศาลยุติธรรม ศาลแรงงานกลางไม่อาจก้าวล่วงการใช้คำสั่งทางปกครองของคณะกรรมการของจำเลยที่ 2 นั้น หากจำเลยที่ 2 เห็นว่าคดีนี้อยู่ในเขตอำนาจศาลปกครองก็ชอบที่จะยื่นคำร้องต่อศาลแรงงานกลางก่อนวันสืบพยานเพื่อให้ศาลแรงงานกลางจัดทำความเห็นส่งไปให้ศาลปกครองพิจารณาตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการวินิจฉัยชี้ขาดอำนาจหน้าที่ระหว่างศาล พ.ศ.2542 มาตรา 10 เมื่อจำเลยที่ 2 มิได้ดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวแสดงว่าจำเลยที่ 2 ยอมรับอำนาจของศาลแรงงานกลางที่จะพิจารณาคดีนี้ได้ และเมื่อศาลแรงงานกลางพิจารณาพิพากษาคดีนี้แล้ว จำเลยที่ 2 ก็ไม่อาจยกปัญหาดังกล่าวขึ้นอุทธรณ์ได้ เนื่องจากเป็นการล่วงเลยเวลาที่จะพิจารณาปัญหานี้แล้ว จำเลยที่ 2 จึงไม่มีสิทธิอุทธรณ์ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยเช่นกัน”
พิพากษายกอุทธรณ์ของจำเลยที่ 2

Share