คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 774/2553

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 73 (1) บัญญัติว่า การจ่ายเงินค่าทำศพให้จ่ายแก่ “บุคคล” ตามลำดับดังนี้… มาตรา 73 (2) การจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้จ่ายแก่ “บุคคล”… มาตรา 75 จัตวา การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรแก่ “บุคคล” ตามลำดับ ดังนี้ แต่ในมาตรา 77 จัตวา บัญญัติว่า “ทายาท” ของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ “ทายาท” ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้แก่ (1) (2) (3)… เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “บุคคล” กับ “ทายาท” แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีความแตกต่างกัน และคำว่า “ทายาท” ซึ่งเป็นถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมายจึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า “ทายาท” ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตาม ป.พ.พ. มาตรา 4 และกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีนี้ก็คือบทบัญญัติใน ป.พ.พ. บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ซึ่งมีบทบัญญัติถึงคำว่า “ทายาท” อยู่ในมาตรา 1659, 1603 โดยคำว่า “ทายาท” ในบทบัญญัติดังกล่าวนี้หมายถึงเฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “ทายาท” ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา จึงต้องหมายถึง ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมิได้หมายความรวมถึงทายาทตามความเป็นจริงด้วยแต่ประการใด

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นบิดาของนายสุรัตน์ นายสุรัตน์เป็นลูกจ้างของบริษัทนิวอิมพีเรียลโฮเต็ล สาขา 1 จำกัด สิ้นสภาพการเป็นลูกจ้างเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2546 ส่งเงินสมทบกรณีชราภาพแล้วเป็นเวลา 50 เดือน นายสุรัตน์ถึงแก่ความตายเมื่อวันที่ 8 เมษายน 2547 โจทก์ยื่นคำร้องต่อสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมขอรับเงินบำเหน็จชราภาพ สำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมมีคำสั่งว่า โจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรัตน์ ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ โจทก์อุทธรณ์ คณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 138/2548 ลงวันที่ 28 มกราคม 2548 ยกอุทธรณ์ของโจทก์ด้วยเหตุเดียวกัน โจทก์เห็นว่าพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) เพียงแต่บัญญัติว่าผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพเป็นบิดาโดยไม่ได้บัญญัติว่าเป็นบิดาโดยชอบด้วยกฎหมาย แม้โจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรัตน์ โจทก์ก็มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 138/2548 ลงวันที่ 28 มกราคม 2548 และให้โจทก์เป็นผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ (เงินบำเหน็จชราภาพ) ของนายสุรัตน์
จำเลยให้การว่า มารดาของนายสุรัตน์ถึงแก่ความตายแล้ว นายสุรัตน์ไม่มีภริยาและบุตร โจทก์เป็นบิดาของนายสุรัตน์ แต่โจทก์ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของนายสุรัตน์ ไม่ได้จดทะเบียนรับรองว่านายสุรัตน์เป็นบุตร และศาลไม่ได้พิพากษาว่านายสุรัตน์เป็นบุตรของโจทก์ โจทก์จึงไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรัตน์ ไม่ใช่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ไม่ใช่ทายาทผู้มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา คำวินิจฉัยของสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมตามหนังสือที่ นฐ 0025/60957 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 138/2548 ลงวันที่ 28 มกราคม 2548 ชอบแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณาของศาลแรงงานกลางคู่ความแถลงรับข้อเท็จจริงว่า โจทก์เป็นบิดาของนายสุรัตน์ ตามความเป็นจริงโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับมารดาของนายสุรัตน์ ไม่เคยจดทะเบียนรับรองนายสุรัตน์เป็นบุตร ไม่มีคำพิพากษารับรองว่านายสุรัตน์เป็นบุตร โจทก์เลี้ยงดูส่งเสียนายสุรัตน์จนจบการศึกษาชั้นประกาศนียบัตรวิชาชีพการท่องเที่ยวและพักอาศัยอยู่บ้านเดียวกัน นายสุรัตน์ไม่มีภริยาและบุตรมารดาของนายสุรัตน์ถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยมีหนังสือสำนักงานประกันสังคมจังหวัดนครปฐมที่ นฐ 0025/60957 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 แจ้งว่าโจทก์ไม่ใช่ทายาทของนายสุรัตน์ไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตาย และคณะกรรมการอุทธรณ์มีคำวินิจฉัยที่ 138/2548 ลงวันที่ 28 มกราคม 2548 ว่าโจทก์ไม่ใช่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของนายสุรัตน์ ยกอุทธรณ์ของโจทก์ จำเลยจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีตายให้โจทก์และจ่ายค่าทำศพให้ทายาทของนายสุรัตน์ไปแล้ว
ศาลแรงงานกลางพิจารณาแล้ววินิจฉัยว่า ทายาทผู้มีสิทธิได้รับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพของผู้ประกันตนที่ถึงแก่ความตายก่อนที่จะได้รับประโยชน์ทดแทนตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 มาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) คือบิดามารดา หรือบิดาหรือมารดาที่มีชีวิตอยู่ โดยไม่ได้ให้คำจำกัดความ “บิดามารดา” ว่ามีความหมายอย่างไร แต่พระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 บัญญัติถึงบิดามารดาไว้หลายแห่งเช่นมาตรา 73 (2) มาตรา 75 ตรี โดยไม่ได้บัญญัติให้มีความหมายต่างกัน ต่างกับคำว่า “บุตร” ที่บัญญัติให้มีความหมายต่างกัน โดยมาตรา 75 ตรี และมาตรา 77 จัตวา (1) บัญญัติคำว่า “บุตร” ให้มีความหมายต่างจากมาตรา 73 (2) โดยใช้คำว่า “บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย” หากต้องการความหมายของ “บิดามารดา” ในมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) แตกต่างจากมารดา 73 (2) แล้วก็น่าจะต้องบัญญัติให้ถ้อยคำแตกต่างกัน ในส่วนของประโยชน์ทดแทนในกรณีตายตามมาตรา 73 (2) (เงินสงเคราะห์กรณีตาย) จำเลยก็ได้จ่ายให้โจทก์ซึ่งเป็นบิดาของนายสุรัตน์ เหรียญประชาผู้ประกันตนซึ่งถึงแก่ความตายแล้วตามเอกสารหมาย ล.7 มาตรา 77 จัตวาไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “ทายาท” แต่จะแปลความหมายให้เป็นอย่างเดียวกับทายาทโดยธรรมตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 ไม่ได้ เพราะมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง บัญญัติไว้แล้วและมีความหมายต่างจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1629 คำว่า “ทายาท” ตามมาตรา 77 จัตวา จึงต้องถือตามความหมายทั่วไปในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 ซึ่งให้ความหมายว่าผู้สืบสันดาน ผู้รับสกุล โดยปริยายหมายถึงผู้รับหรือผู้อยู่ในฐานะที่จะรับตำแหน่งหน้าที่ต่อจากบุคคลอื่น ดังนั้น คำว่า “ทายาท” ตามมาตรา 77 จัตวา จึงหมายถึงผู้รับในกรณีผู้ประกันตนถึงแก่ความตาย และทายาทมีใครบ้างก็ได้บัญญัติไว้ในวรรคสองแล้วประกอบกับพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 เป็นกฎหมายที่ออกบังคับใช้เพื่อช่วยเหลือลูกจ้างซึ่งเป็นผู้มีฐานะด้อยในสังคมเป็นส่วนใหญ่ เพื่อให้สวัสดิการแก่ลูกจ้างและครอบครัว และลูกจ้างผู้ประกันตนส่วนใหญ่มักเกิดในครอบครัวที่บิดามารดาอยู่กินฉันสามีภริยาโดยไม่ได้จดทะเบียนสมรส ดังนั้น เจตนารมณ์ของมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) คำว่า “บิดามารดา” จึงหมายถึงบิดามารดาที่ชอบด้วยกฎหมายและรวมถึงบิดามารดาตามความเป็นจริง โจทก์จึงมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตายตามมาตรา 77 จัตวา วรรคสอง (3) พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยตามหนังสือที่ นฐ 0025/60957 ลงวันที่ 29 พฤศจิกายน 2547 และคำวินิจฉัยของคณะกรรมการอุทธรณ์ที่ 138/2548 ให้จำเลยจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพกรณีตายแก่โจทก์
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 ไม่ได้ให้คำจำกัดความคำว่า “บิดา” และคำว่า “ทายาท” ว่ามีความหมายอย่างใด เมื่อพิจารณาบทบัญญัติตามมาตราต่างๆ ในพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 จะเห็นได้ว่ามีการบัญญัติแตกต่างกันชัดเจน กล่าวคือ ในมาตรา 73 (1) การจ่ายเงินค่าทำศพให้จ่ายแก่ “บุคคล” ตามลำดับดังนี้… มาตรา 73 (2) การจ่ายเงินสงเคราะห์กรณีที่ผู้ประกันตนถึงแก่ความตายให้จ่ายแก่ “บุคคล”… มาตรา 75 จัตวา การจ่ายประโยชน์ทดแทนในกรณีสงเคราะห์บุตรแก่ “บุคคล” ตามลำดับ ดังนี้ แต่ในมาตรา 77 จัตวา บัญญัติไว้ชัดเจนแตกต่างจากมาตราดังกล่าวข้างต้น โดยบัญญัติว่า “ทายาท” ของผู้นั้นมีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพ “ทายาท” ผู้มีสิทธิตามวรรคหนึ่งได้แก่ (1) (2) (3)… เมื่อบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวใช้คำว่า “บุคคล” กับ “ทายาท” แสดงว่ากฎหมายมีเจตนารมณ์ที่จะให้มีความหมายแตกต่างกัน และคำว่า “ทายาท” ซึ่งเป็นถ้อยคำในบทบัญญัติของกฎหมาย จึงต้องแปลความหมายโดยเทียบเคียงกับคำว่า “ทายาท” ในกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งตามบทบัญญัติมาตรา 4 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และกฎหมายที่ใกล้เคียงอย่างยิ่งในกรณีนี้ก็คือ บทบัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 ว่าด้วยมรดก ซึ่งมีบทบัญญัติถึงคำว่า “ทายาท” อยู่ในมาตรา 1559, 1603 และ 1629 โดยคำว่า “ทายาท” ในบทบัญญัติดังกล่าวนี้หมายถึงเฉพาะทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้น ดังนั้น คำว่า “ทายาท” ตามพระราชบัญญัติประกันสังคม มาตรา 77 จัตวา จึงต้องหมายถึง ทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายเท่านั้นมิได้หมายความรวมถึงทายาทตามความเป็นจริงด้วยแต่ประการใดและเมื่อโจทก์เป็นบิดาตามความเป็นจริงแต่มิใช่เป็นบิดาที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตนและมิใช่เป็นทายาทที่ชอบด้วยกฎหมายของผู้ประกันตน จึงไม่มีสิทธิได้รับเงินบำเหน็จชราภาพตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 77 จัตวา แห่งพระราชบัญญัติประกันสังคม พ.ศ.2533 อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับเป็นว่า ให้ยกฟ้องโจทก์

Share