แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ
ย่อสั้น
ด้านหลังของใบตราส่งทางอากาศมีข้อจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 เที่ยว หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสินค้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัมแล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า การที่ผู้เอาประกันภัยจงใจกรอกข้อความด้านหน้าใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ข้อ 3 ว่าขอแจ้งมูลค่าสินค้าเป็นเงิน 5,430 ดอลลาร์สหรัฐไว้เฉพาะในช่อง “Value for Customs” หรือมูลค่าเพื่อการศุลกากร ส่วนในช่อง “Total Declared Value for Carriage” หรือมูลค่าที่แจ้งทั้งหมดเพื่อการขนส่งไม่ขอแจ้งโดยขีดฆ่าออก เพราะทราบดีกว่า “Value for Customs” มีความหมายแตกต่างกับ “Total Declared Value for Carriage” แต่ผู้เอาประกันภัยก็ยังคงเลือกแสดงเจตนาที่จะไม่ระบุแจ้งมูลค่าเพื่อการขนส่งเพื่อที่จะได้เสียค่าระวางต่ำโดยยอมตกลงให้ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดตามเนื้อความด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้ ประกอบกับในขณะเดียวกันผู้เอาประกันภัยก็ได้ทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ก่อนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งในวงเงินประกันที่คุ้มมูลค่าของสินค้าไว้ก่อนจึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียค่าระวางเพิ่มเพื่อให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีกอันเป็นการลดต้นทุนของผู้เอาประกันภัย จึงเชื่อได้ว่าผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้น อันเป็นเหตุให้ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับได้ เมื่อสินค้าพิพาทมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นผู้ขนส่งจึงรับผิดต่อผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ส่ง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าการคำนวณน้ำหนักของสินค้า
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยสินค้าอัญมณีจากบริษัทบี เค ดับเบิลยู พี เจมส์ จำกัด ผู้เอาประกันภัย สินค้าดังกล่าวมูลค่า 5,430 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ 221,091.61 บาท ผู้เอาประกันภัยว่าจ้างให้จำเลยที่ 1 ซึ่งอยู่ต่างประเทศและมีภูมิลำเนาอยู่ต่างประเทศ แต่มีจำเลยที่ 2 เป็นตัวแทนผู้ติดต่อและทำสัญญาแทนเป็นผู้ขนส่งสินค้าจากประเทศไทยไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จำเลยที่ 2 ได้ออกหลักฐานใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศให้แก่ผู้เอาประกันภัย ต่อมาจำเลยทั้งสองได้แจ้งให้ผู้เอาประกันภัยทราบว่าสินค้าได้สูญหายไปในระหว่างการขนส่ง แต่จะชดใช้ค่าเสียหายให้เพียง 1,816 บาท ผู้เอาประกันภัยจึงเรียกร้องค่าเสียหายจากโจทก์ โจทก์ใช้ค่าสินไหมทดแทนเป็นเงิน 221,091.61 บาท แก่ผู้เอาประกันภัย แล้วรับช่วงสิทธิของผู้เอาประกันภัยซึ่งมีต่อจำเลยทั้งสอง แต่เมื่อโจทก์บอกกล่าวทวงถาม จำเลยทั้งสองกลับเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 229,450.73 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 221,091.61 บาท นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
จำเลยทั้งสองให้การว่า ผู้เอาประกันภัยได้ตกลงไว้อย่างชัดแจ้งให้จำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งในกรณีสินค้าสูญหายหรือเสียหายที่จำนวน 20 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม หรือทั้งหมดไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่า ตามที่ระบุในใบตราส่งทางอากาศและข้อตกลงตามบัญชีเดินสะพัด ผู้ส่งไม่ได้แจ้งราคาหรือสภาพแห่งสินค้าไว้ในขณะส่งมอบสินค้าแก่จำเลยทั้งสอง ความรับผิดของผู้ขนส่งจึงมีเพียงเท่าที่ปรากฏในข้อตกลงจำกัดความรับผิดดังกล่าว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงินจำนวน 100 ดอลลาร์สหรัฐ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าว นับแต่วันที่ 29 กันยายน 2547 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ในกรณีที่จำเลยทั้งสองจะชำระเป็นเงินบาทให้คิดตามอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ถ้าไม่มีอัตราแลกเปลี่ยนในวันใช้เงินจริง ให้ถือเอาวันสุดท้ายที่มีอัตราเช่นว่านั้นก่อนวันดังกล่าว ในกรณีที่ธนาคารแห่งประเทศไทยประกาศแจ้งให้ทราบถึงอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยของธนาคารพาณิชย์ (อัตราอ้างอิง) ก็ให้ถืออัตราดังกล่าวเป็นเกณฑ์คำนวณ กับให้จำเลยทั้งสองใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า “…มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์เพียงว่า จำเลยทั้งสองอ้างข้อจำกัดความรับผิดด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้หรือไม่ นางสาวเสาวนีย์ ผู้ช่วยผู้จัดการของบริษัทบี เค ดับเบิลยู พี เจมส์ จำกัด ผู้เอาประกันภัย ซึ่งทำหน้าที่ติดต่อใช้บริการของจำเลยทั้งสองเบิกความรับว่า ผู้เอาประกันภัยใช้บริการของจำเลยทั้งสองในการส่งออกอัญมณีมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี ใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศพนักงานของผู้เอาประกันภัยเป็นผู้กรอกข้อความและลงลายมือชื่อไว้ ผู้เอาประกันภัยทราบว่าด้านหลังของใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีข้อจำกัดความรับผิดไว้ไม่เกิน 100 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อการขนส่ง 1 เที่ยว หรือ 20 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อสินค้าน้ำหนัก 1 กิโลกรัม แล้วแต่จำนวนใดจะมากกว่า ในการกรอกข้อมูลลงในใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศ หากผู้เอาประกันภัยมีข้อสงสัยก็จะโทรศัพท์สอบถามพนักงานของจำเลยทั้งสอง ค่าขนส่งสินค้าพิพาทนี้เพียงประมาณ 1,500 บาท ผู้เอาประกันภัยจะไม่เติมข้อความในช่อง “Total Declared Value for Carriage” ในทุกครั้งที่ว่าจ้างโดยจงใจขีดออก เพราะหากเขียนระบุจำนวนลงไปแล้วต้องเสียเงินค่าขนส่งเพิ่มอีก 0.40 ดอลลาร์สหรัฐ ต่อมูลค่าความรับผิดที่ผู้ขนส่งจะต้องรับผิดเพิ่มขึ้นต่อทุกๆ 100 ดอลลาร์สหรัฐ แบบพิมพ์ใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีอยู่ที่บริษัทผู้เอาประกันภัยหากแบบพิมพ์หมดเมื่อใดก็จะขอจากจำเลยทั้งสอง เมื่อกรอกใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศแล้ว ผู้เอาประกันภัยได้ส่งให้โจทก์ตรวจดูเพื่อดำเนินการรับประกันภัยเสียก่อนจากนั้นจึงส่งมอบสินค้าให้จำเลยทั้งสอง พฤติการณ์ตามคำเบิกความของพยานโจทก์ดังกล่าวแสดงว่า การที่ผู้เอาประกันภัยจงใจกรอกข้อความด้านหน้าใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศ ข้อ 3 ว่าขอแจ้งมูลค่าสินค้าเป็นเงิน 5,430 ดอลลาร์สหรัฐ ไว้เฉพาะในช่อง “Value for Customs” หรือมูลค่าเพื่อการศุลกากร ส่วนในช่อง “Total Declared Value for Carriage” หรือมูลค่าที่แจ้งทั้งหมดเพื่อการขนส่งไม่ขอแจ้งโดยขีดฆ่าออก เพราะทราบดีกว่า “Value for Customs” มีความหมายแตกต่างกับ “Total Declared Value for Carrige” ดังที่พยานเบิกความ แต่ผู้เอาประกันภัยก็ยังคงเลือกแสดงเจตนาที่จะไม่ระบุแจ้งมูลค่าเพื่อการขนส่งที่จะได้เสียค่าระวางต่ำ โดยยอมตกลงให้ผู้ขนส่งจำกัดความรับผิดตามเนื้อความด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศได้ ประกอบกับในขณะเดียวกันผู้เอาประกันภัยก็ได้ทำสัญญาประกันภัยกับโจทก์ก่อนส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ขนส่งในวงเงินประกันที่คุ้มมูลค่าของสินค้าไว้ก่อน จึงไม่มีความจำเป็นต้องเสียค่าระวางเพิ่มเพื่อให้ผู้ขนส่งต้องรับผิดเพิ่มขึ้นอีก เป็นการลดต้นทุนของผู้เอาประกันภัย พฤติการณ์แห่งคดีเชื่อได้ว่าผู้เอาประกันภัยในฐานะผู้ส่งได้แสดงความตกลงด้วยชัดแจ้งในการจำกัดความรับผิดเช่นว่านั้นอันเป็นเหตุให้ข้อตกลงจำกัดความรับผิดของผู้ขนส่งด้านหลังใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับได้เมื่อใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศมีผลใช้บังคับได้เมื่อใบตราส่งทางอากาศระหว่างประเทศระบุว่าสินค้าพิพาทมีน้ำหนัก 1 กิโลกรัม จำเลยทั้งสองผู้ขนส่งจึงรับผิดต่อโจทก์ซึ่งรับช่วงสิทธิมาจากผู้เอาประกันภัยที่เป็นผู้ส่ง 100 ดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเป็นจำนวนที่สูงกว่าการคำนวณตามน้ำหนักของสินค้า ที่ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษามานั้น ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นนี้ให้เป็นพับ