แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
ตามหนังสือสัญญาค้ำประกัน จำเลยที่ 3 ตกลงกับโจทก์ว่า หากมีการผ่อนเวลาชำระหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อ ภายในประเทศ หรือขยายเวลาอนุญาตให้ไปศึกษาต่อแก่ จำเลยที่ 1 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ตกลง ให้ความยินยอมในการผ่อนชำระหนี้หรือขยายระยะเวลานั้น ด้วยทุกครั้งและยังรับเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าว ตลอดไป เป็นข้อตกลงของจำเลยที่ 3 ที่ให้ความยินยอมล่วงหน้า ดังนั้น สัญญารับสภาพหนี้ซึ่งโจทก์ขยายเวลาชำระหนี้ ให้แก่จำเลยที่ 1 จึงถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 แล้ว ซึ่งการทำสัญญารับสภาพหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นการทำขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่ง จำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้อายุความ สะดุดหยุดลงเท่านั้น มิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ ได้ตกลงเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำ ให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 1 เป็นอาจารย์โรงเรียนวัดเขาทองสำนักงานการประถมศึกษาอำเภอควนขนุน สำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดพัทลุง จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตจากโจทก์ให้ไปศึกษาต่อภายในประเทศระดับปริญญาตรี สาขาวิชาครุ ศาสตร์ วิชาเอกเทคโนโลยีทางการศึกษาที่วิทยาลัยครูสงขลา มีกำหนด 2 ปี จำเลยที่ 1 ทำสัญญาให้ไว้ต่อโจทก์ว่า เมื่อการศึกษาของจำเลยที่ 1 ต้องยุติลงด้วยประการใด ๆ จำเลยที่ 1 จะกลับเข้าปฏิบัติราชการตามคำสั่งของทางราชการทันทีและจะปฏิบัติราชการต่อไปอีกเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 2 เท่าของเวลาที่จำเลยที่ 1 รับเงินเดือนระหว่างไปศึกษาต่อ ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญายินยอมชดใช้เงินให้แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 รับราชการแล้ว แต่ไม่ครบกำหนดเวลาดังกล่าวแล้ว จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินทุนหรือเงินเดือนหรือเงินอื่นใดลดลงตามส่วนของเวลาที่จำเลยที่ 1 รับราชการไปบ้างแล้วและเบี้ยปรับอีกหนึ่งเท่าของเงินที่ต้องชดใช้ดังกล่าวทันทีนับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์หากไม่ชำระภายในกำหนดจำเลยที่ 1 ยอมให้คิดดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี หากจำเลยที่ 1 ประพฤติผิดวินัยจน ถูกไล่ออกปลดออกหรือให้ออกจากราชการในระหว่างที่จำเลยที่ 1 กลับมาปฏิบัติราชการ จำเลยที่ 1 ยินยอมชดใช้เงินและเบี้ยปรับให้โจทก์เป็นจำนวนลดลงตามส่วนเช่นเดียวกัน ในการไปศึกษาต่อดังกล่าวจำเลยที่ 2 ทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ว่าถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยที่ 2 ยินยอมชดใช้เงินตามที่ระบุไว้ให้โจทก์ทันทีโดยโจทก์มิต้องเรียกร้องให้จำเลยที่ 1 ชำระหนี้ก่อนจำเลยที่ 1 เรียนไม่จบหลักสูตรตามเวลาที่ขออนุญาตไว้จึงขอขยายเวลาศึกษาต่อออกไปอีก 1 ภาคเรียน โจทก์อนุญาต จำเลยที่ 1 ทำสัญญามีข้อความทำนองเดียวกับสัญญาฉบับแรกให้โจทก์ไว้แต่เงินที่ต้องชดใช้คืนกับเบี้ยปรับดังกล่าวจำเลยที่ 1 จะชำระให้ครบถ้วนภายใน 90 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งจากโจทก์ หากผิดนัดยอมชำระดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ของจำนวนเงินที่ค้างชำระจนกว่าจะชำระครบถ้วน โดยจำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันให้โจทก์ว่า ถ้าจำเลยที่ 1 ผิดสัญญาข้อหนึ่งข้อใด จำเลยที่ 3 ยินยอมชดใช้เงินดังกล่าวแทนทันที หลังจากนั้นจำเลยที่ 1 ขาดเรียนเป็นเหตุให้เวลาเรียนไม่พอจึงไม่มีสิทธิสอบวัดผลปลายภาคทำให้เรียนไม่จบหลักสูตร วิทยาลัยครูสงขลาได้ส่งตัวจำเลยที่ 1 มารายงานตัวกลับเข้าปฏิบัติราชการต้นสังกัดเดิม โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2532 เป็นต้นไป จำเลยที่ 1 ต้องชดใช้แก่โจทก์จำนวน 122,577.50 บาทจำเลยที่ 2 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฉบับแรก ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน 84,664.29 บาท ส่วนจำเลยที่ 3 ค้ำประกันจำเลยที่ 1 ตามสัญญาฉบับที่สอง ต้องรับผิดต่อโจทก์เป็นเงิน37,913.21 บาท โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยทั้งสามเพิกเฉยขอให้บังคับจำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินแก่โจทก์โดยจำเลยที่ 1ชำระเงินจำนวน 122,577.50 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 84,664.29 บาท และอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงินจำนวน 37,913.21 บาท นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ จำเลยที่ 2 ชำระเงิน 84,664.29 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ และจำเลยที่ 3 ชำระเงินจำนวน 37,913.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับแต่วันฟ้องจนกว่าชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การ
จำเลยที่ 2 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 3 ให้การว่า จำเลยที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันจำเลยที่ 1 ให้โจทก์ตามฟ้อง แต่จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 ให้โจทก์โดยไม่ได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 และโจทก์มิได้แจ้งให้จำเลยที่ 3 ทราบถึงการทำสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าว โจทก์ยินยอมขยายระยะเวลาให้จำเลยที่ 1 ทำให้จำเลยที่ 3 หลุดพ้นจากความรับผิดขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษาให้จำเลยที่ 1 ชำระเงินจำนวน 122,577 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี ในต้นเงิน 84,664 บาท และอัตราร้อยละ 15 ต่อปี ในต้นเงิน 37,913 บาท นับถัดจากวันฟ้อง (วันที่ 4 มิถุนายน 2540) เป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ หรือชำระไม่ครบถ้วนให้จำเลยที่ 2 ชำระแทนเป็นเงิน 84,664 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 12 ต่อปี และให้จำเลยที่ 3 ชำระแทน เป็นเงิน 37,913 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 15 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ
จำเลยที่ 3 อุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงตามที่โจทก์และจำเลยที่ 3มิได้โต้แย้งกันในชั้นนี้ฟังได้ว่า เมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2528จำเลยที่ 1 ทำสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศกับโจทก์มีกำหนด 2 ปี นับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2528 ถึงวันที่3 มิถุนายน 2530 โดยจำเลยที่ 2 เป็นผู้ค้ำประกัน แต่จำเลยที่ 1เรียนไม่จบหลักสูตรตามเวลาที่ขออนุญาตไว้จึงขอขยายเวลาศึกษาต่อออกไปอีก 1 ภาคเรียนนับแต่วันที่ 4 มิถุนายน 2530 ถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2530 โดยจำเลยที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน ปรากฏว่าจำเลยที่ 1 ขาดเรียนเป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ถูกส่งตัวกลับต้นสังกัดเดิมในวันที่ 9 พฤศจิกายน 2530 โจทก์แต่งตั้งคณะกรรมการทำการสอบสวนจำเลยที่ 1 ต่อมาโจทก์มีคำสั่งปลดจำเลยที่ 1 ออกจากราชการตั้งแต่วันที่ 29 ธันวาคม 2532เป็นต้นไป ครั้นวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 จำเลยที่ 1 ทำสัญญารับสภาพหนี้ให้โจทก์โดยจำเลยที่ 3 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยคดีมีประเด็นต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ว่าการที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ทำสัญญารับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 ซึ่งสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวโจทก์ขยายเวลาการชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 โดยจำเลยที่ 3 มิได้รู้เห็นยินยอมด้วยเป็นผลให้จำเลยที่ 3 ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกันหรือไม่นั้น เห็นว่า ตามหนังสือสัญญาค้ำประกันเอกสารหมาย จ.5ข้อ 2 จำเลยที่ 3 ตกลงกับโจทก์ว่า หากมีการผ่อนเวลาชำระหนี้ตามสัญญาข้าราชการไปศึกษาต่อภายในประเทศหรือขยายเวลาอนุญาตให้ไปศึกษาต่อแก่จำเลยที่ 1 ไม่ว่ากรณีใด ๆ ให้ถือว่าจำเลยที่ 3 ได้ตกลงให้ความยินยอมในการผ่อนชำระหนี้หรือขยายระยะเวลานั้นด้วยทุกครั้งและยังรับเป็นผู้ค้ำประกันตามสัญญาดังกล่าวตลอดไป เห็นได้ว่า ข้อตกลงดังกล่าวเป็นความยินยอมของจำเลยที่ 3 ที่ให้ไว้ล่วงหน้าในกรณีหากจะมีการผ่อนเวลาการชำระหนี้ หรือผ่อนผันการปฏิบัติตามสัญญาให้แก่จำเลยที่ 1 ดังนั้น สัญญารับสภาพหนี้ฉบับลงวันที่ 7 พฤษภาคม 2533 ซึ่งโจทก์ขยายเวลาชำระหนี้ให้แก่จำเลยที่ 1 ถือว่าได้รับความยินยอมจากจำเลยที่ 3 แล้ว ส่วนที่จำเลยที่ 3 อ้างว่าสัญญารับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่นั้น เห็นว่าการทำสัญญารับสภาพหนี้ระหว่างจำเลยที่ 1 กับโจทก์เป็นการทำขึ้นเพื่อรับสภาพตามสิทธิเรียกร้องซึ่งจำเลยที่ 1 ต้องรับผิดต่อโจทก์อันเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงเท่านั้นมิใช่เป็นเรื่องที่จำเลยที่ 1 กับโจทก์ได้ตกลงกันเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่แต่อย่างใด จำเลยที่ 3 จึงยังต้องรับผิดตามสัญญาค้ำประกันต่อโจทก์ ที่ศาลชั้นต้น พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยที่ 3 ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน