คำวินิจฉัยที่ 182/2560

แหล่งที่มา : ส่วนเลขานุการคณะกรรมการวินิจฉัยฯ

ย่อสั้น

คดีที่เอกชนเป็นโจทก์ฟ้องขอให้บังคับมหาวิทยาลัยมหิดล จำเลย ชำระเงินค่าเสียหายกรณีผิดสัญญาจ้างบริการบำรุงรักษาและให้บริการงานระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่ายและสื่อการเรียน การสอน จึงมีประเด็นต้องพิจารณาว่า สัญญาพิพาทดังกล่าวเป็นสัญญาทางแพ่งหรือสัญญาทางปกครอง เห็นว่า แม้จำเลยเป็นหน่วยงานทางปกครองตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ทำสัญญาว่าจ้างโจทก์โดยสัญญามีสาระสำคัญว่า โจทก์มีหน้าที่ต้องบำรุงรักษาและให้บริการงานระบบคอมพิวเตอร์ เครือข่าย และสื่อการเรียนการสอนแก่เจ้าหน้าที่ อาจารย์ และนักศึกษาที่หมุนเวียนเข้าใช้บริการระบบคอมพิวเตอร์และสื่อการเรียนการสอนของวิทยาลัยการจัดการซึ่งเป็นส่วนงานของจำเลย โดยการให้บริการงานระบบคอมพิวเตอร์และสื่อการเรียนการสอนของวิทยาลัยต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพไม่ติดขัด และสามารถสนองความต้องการของผู้ใช้บริการให้ได้มากที่สุด โจทก์ต้องจัดให้มีเจ้าหน้าที่ของโจทก์เป็นผู้รับผิดชอบ วางแผน กำกับ ดูแลการปฏิบัติงาน โดยโจทก์ทำงานทั้งโครงการในลักษณะการทำงานแบบเบ็ดเสร็จและครบวงจร แต่เมื่อพิจารณารายละเอียดของข้อสัญญาที่โจทก์ต้องดำเนินการให้บริการดังกล่าวแล้ว เป็นเพียงการที่จำเลยมุ่งประสงค์ให้โจทก์เข้ามาจัดการงานทางธุรการเพื่ออำนวยความสะดวกในการจัดการเรียนการสอนตามอำนาจหน้าที่ที่เป็นการจัดทำบริการสาธารณะของจำเลยเท่านั้น ไม่ใช่ให้โจทก์เข้ามาทำหน้าที่ในการจัดทำบริการสาธารณะ เพราะจำเลยสามารถจัดทำบริการสาธารณะอันเป็นภารกิจหลักได้ต่อเนื่องตลอดมาตั้งแต่ก่อนที่จะมีการจัดจ้างโจทก์เข้ามาให้บริการ และแม้ว่าตามข้อตกลงจะมีข้อสัญญาที่ทำให้เข้าใจไปได้ว่าเป็นการที่ฝ่ายปกครองมีอำนาจเหนือเอกชนก็ตาม แต่ลักษณะอำนาจเหนือกว่าคู่สัญญาอีกฝ่ายหนึ่งเป็นไปตามอำนาจต่อรองระหว่างคู่สัญญา ส่วนการที่จำเลยจ้างพนักงานของโจทก์เป็นพนักงานของจำเลยให้ทำงานในตำแหน่งที่มีลักษณะงานเช่นเดียวกับขณะที่เป็นพนักงานของโจทก์ และโจทก์ยกข้อความในใบเสนอราคาในส่วน Remark ข้อ ๒ ที่ว่า “ผู้ว่าจ้างยินยอมที่จะไม่ทำการว่าจ้างพนักงานของทางบริษัทฯที่ลาออกยังไม่ครบ ๑ ปี นับแต่วันที่ลาออกจากทางบริษัทฯ” ซึ่งตามสัญญาจ้าง ข้อ ๘.๓ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของสัญญานั้นมาฟ้องว่าจำเลยผิดสัญญา ก็เป็นข้อสัญญาที่ไม่มีความเกี่ยวข้องใดกับการให้บริการตามสัญญาจ้างระหว่างโจทก์กับจำเลยอีกเช่นกัน ทั้งเป็นข้อสัญญาที่จำเลยซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐอยู่ในฐานะที่ต้องยอมรับเงื่อนไขของโจทก์ซึ่งเป็นเอกชน ไม่มีฐานะเหนือ เอกชน เมื่อสัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยไม่มีลักษณะเป็นการว่าจ้างโจทก์เข้าร่วมในการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรงและไม่มีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ จึงไม่เป็นสัญญาทางปกครอง ตามมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. ๒๕๔๒ ที่จะอยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครอง สัญญาระหว่างโจทก์กับจำเลยในคดีนี้เป็นสัญญาทางแพ่งที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลยุติธรรม

Share