แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา
ย่อสั้น
ที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 23455ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2336 เมื่อแยกออกมาแล้วทางทิศใต้ของที่ดินทั้ง 2 แปลงต่างอยู่ติดซอยสาธารณะ ต่อมาโจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 23455แล้วเพิ่งแบ่งแยกที่ดินกันเองในเวลาต่อมาออกเป็น 3 แปลงคือ แปลงในสุดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือโฉนดเลขที่ 209886 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แปลงกลางโฉนดเลขที่ 209887เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงในสุดและแปลงกลางไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่23455 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ซอยสาธารณะตามเดิมเช่นนี้โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 209886 และโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 209887 ชอบที่จะเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 23455 ของโจทก์ที่ 3 ที่ได้แบ่งแยกมาตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 หาใช่เรียกร้องทางเดินจากที่ดินตามโฉนดเลขที่ 23455 ของจำเลยไม่ ทางพิพาทในที่ดินของจำเลยจึงไม่ตกเป็นทางจำเป็น
ย่อยาว
โจทก์ทั้งสามฟ้องว่า โจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 209886 โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 209887,23455 โดยมารดาโจทก์ทั้งสามยกให้ จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 2335, 23454 เดิมที่ดินโฉนดเลขที่ 23454ซึ่งเป็นที่ดินพิพาทกับที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ของโจทก์ที่ 3รวมอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 2336 จำเลยมาขอซื้อที่ดินพิพาทจากมารดาโจทก์และญาติเมื่อเดือนมกราคม 2504 เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกที่ดินจำเลยซึ่งอยู่ด้านหลังโฉนดเลขที่ 2336ไปสู่ซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) โดยมีข้อตกลงด้วยวาจาว่าจำเลยยินยอมให้เจ้าของที่ดินแปลงที่ถูกแบ่งแยกใช้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกจำเลยต้องอุทิศที่ดินพิพาทให้เป็นทางสาธารณประโยชน์ด้วย หลังจากนั้นจำเลยทำถนนในที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออก มารดาโจทก์และประชาชนได้ใช้ทางพิพาทเป็นทางสัญจร ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2504 จนถึงปัจจุบันโดยจำเลยไม่ได้หวงห้าม ถนนดังกล่าวจึงเป็นภาระจำยอมหรือทางสาธารณะ ต่อมาเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2519 โจทก์ทั้งสามได้ใช้ถนนบนที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกินกว่า 10 ปีแล้ว เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2530โจทก์ทั้งสามได้ดำเนินการรังวัดแบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ออกเป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 209486, 209887จำเลยอ้างว่าที่ดินของจำเลยเนื้อที่ขาดหายไป 20 เซนติเมตรโดยส่วนที่ขาดหายไปรวมอยู่ในที่ดินของโจทก์ทั้งสาม จำเลยได้ทำรั้วลวดหนามกั้นระหว่างแนวเขตที่ดินของโจทก์ทั้งสามกับแนวเขตที่ดินพิพาท อันเป็นการละเมิดสิทธิของโจทก์ทั้งสามเพราะนอกจากที่ดินพิพาทเป็นทางภารจำยอมแล้วยังเป็นทางจำเป็นเนื่องจากได้แบ่งแยกออกจากที่ดินแปลงเดียวกันเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงหนึ่งไม่มีทางออกสู่ถนนสาธารณะ โจทก์ทั้งสามได้บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนรั้วแล้ว แต่จำเลยเพิกเฉยเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหายไม่อาจเข้าไปใช้ประโยชน์ในที่ดินของโจทก์ทั้งสามและโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่สามารถขายที่ดินโฉนดเลขที่ 209886 ให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดซี.เอส.แอล.ในราคาตารางวาละ 15,000 บาท คิดเป็นเงินจำนวน2,745,000 บาท และต้องเสียเบี้ยปรับวันละ 1,500 บาท เนื่องจากผู้ซื้อได้ทราบว่ามีการปิดกั้นรั้วลวดหนามดังกล่าว จึงแจ้งให้โจทก์เปิดทางเข้าออกที่ดินและให้ใช้เบี้ยปรับตามสัญญาด้วยและขอลดราคาที่ดินลงเหลือตารางวาละ 8,500 บาท ขอให้บังคับจำเลยรื้อถอนรั้วลวดหนามระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่209886, 209887 กับที่ดินพิพาท หากจำเลยไม่ยอมรื้อถอนให้โจทก์ทั้งสามรื้อถอนโดยให้จำเลยเสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยจดทะเบียนภารจำยอมที่ดินพิพาทเพื่อประโยชน์แก่ที่ดินโจทก์ทั้งสามโฉนด หากจำเลยไม่ไปให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนา โดยให้จำเลยเป็นผู้เสียค่าใช้จ่าย ให้จำเลยชำระค่าเสียหายเป็นเงิน 520,445.21 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี จากต้นเงิน 500,000 บาทนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์ให้จำเลยชำระเบี้ยปรับวันละ 1,500 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจำเลยจะปฏิบัติตามคำขอของโจทก์
จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า จำเลยซื้อที่ดินพิพาทจากมารดาโจทก์เพื่อใช้เป็นทางเข้าออกของที่ดินโฉนดเลขที่ 2335ไม่เคยตกลงกับมารดาโจทก์ยอมให้ที่ดินพิพาทเป็นทางเข้าออกสำหรับที่ดินที่แบ่งแยกจากโฉนดเลขที่ 2336 ทั้งไม่เคยตกลงอุทิศที่ดินของจำเลยเป็นทางสาธารณประโยชน์ ผู้ที่ใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออกได้ก็เพราะจำเลยจดทะเบียนภารจำยอมให้จำเลยสงวนสิทธิการใช้ที่ดินของจำเลยเป็นถนนส่วนบุคคลมาโดยตลอด โจทก์ทั้งสามไม่เคยใช้ที่ดินของจำเลยเป็นทางเข้าออก ที่ดินของโจทก์ทั้งสามเดิมติดทางสาธารณะคือซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) โจทก์ทั้งสามเพิ่งมาแบ่งแยกโฉนดเลขที่ 23455 ภายหลังเป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 209886,209887 ไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ โจทก์ทั้งสามแบ่งแยกที่ดินกันเองจนเป็นเหตุให้ที่ดินแปลงที่ถูกแบ่งแยกไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะ จึงต้องเรียกร้องทางออกจากที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยกโจทก์ที่ 3 เข้าออกผ่านที่ดินของจำเลยตั้งแต่ปี 2531โดยละเมิดสิทธิของจำเลย ทำให้จำเลยเสียหายเข้าออกไม่สะดวกขอให้ยกฟ้องและบังคับโจทก์ที่ 3 รื้อถอนประตูทางเข้าออกระหว่างบ้านเลขที่ 1328 กับที่ดินพิพาท ให้โจทก์ที่ 3ชำระค่าเสียหายจำเลยวันละ 1,500 บาท จนกว่าโจทก์ที่ 3จะรื้อถนนและปิดกั้นประตูทางเข้าออกบ้านเลขที่ 1328 และห้ามโจทก์ทั้งสามเข้าเกี่ยวข้องกับที่ดินจำเลย
โจทก์ที่ 3 ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า โจทก์ทั้งสามและประชาชนทั่วไปใช้ที่ดินพิพาทจนกลายเป็นทางสาธารณะหรือทางภารจำยอมหรือทางภารจำยอมหรือทางจำเป็น โจทก์ที่ 3มิได้ทำละเมิดต่อจำเลย ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ทั้งสาม ห้ามโจทก์ทั้งสามใช้ที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 ตำบลพระโขนง (บางจาก) อำเภอพระโขนง(บางจาก) กรุงเทพมหานคร เป็นทางเข้าออก ส่วนคำขออื่นตามฟ้องแย้งนอกจากนี้ให้ยก โจทก์ทั้งสามอุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนโจทก์ทั้งสามฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงเบื้องต้นฟังได้ว่าโจทก์ที่ 1 และที่ 2 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 209886โจทก์ที่ 3 เป็นเจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 209887 และ 23455จำเลยเป็นเจ้าของที่ดินพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่ 23454ที่ดินทุกแปลงตั้งอยู่ที่ตำบลพระโขนง (บางจาก) อำเภอพระโขนง(บางจาก) กรุงเทพมหานคร ที่ดินโฉนดเลขที่ 209886อยู่ทางทิศเหนือ ถัดมาทางทิศใต้เป็นที่ดินโฉนดเลขที่ 209887และ 23455 ตามลำดับ ส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 เป็นทางพิพาทอยู่ทางทิศตะวันออกติดที่ดินของโจทก์ทั้งสามทางทิศใต้ของที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 และทางพิพาทตามโฉนดที่ดินเลขที่23454 ติดทางสาธารณประโยชน์ซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50)รายละเอียดปรากฏตามแผนผังแสดงการแบ่งแยกที่ดินและทางเดินเข้าออกโดยสังเขปเอกสารหมาย จ.10 เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2530 จำเลยได้กั้นรั้วลวดหนามเป็นแนวเขตระหว่างทางพิพาทตามโฉนดเลขที่ 23454 กับที่ดินโฉนดเลขที่209886 และ 209887 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ทั้งสามมีว่า ทางพิพาทตามโฉนดเลขที่ 23454 ตกเป็นทางภารจำยอมหรือทางจำเป็นแก่ที่ดินโฉนดเลขที่ 209886, 209887 และ 23455 หรือไม่ ในปัญหาดังกล่าวพยานโจทก์ทั้งสามมีโจทก์ที่ 1 นางสุวลัย ทศานนท์ และนายอภิโชติ จิตรานนท์มาเบิกความเป็นพยานว่า จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 23454จากยายของโจทก์ทั้งสามเมื่อ พ.ศ. 2504 เพื่อทำถนนโดยจำเลยได้ตกลงกับยายของโจทก์ทั้งสามว่าจำเลยยินยอมให้ลูกหลานของยายโจทก์ทั้งสามใช้ทางพิพาทเข้าออกได้ ต่อมาวันที่19 กรกฎาคม 2519 มารดาโจทก์ทั้งสามได้ยกที่ดินโฉนดเลขที่23455 ให้โจทก์ทั้งสามซึ่งสภาพที่ดินในขณะนั้นเป็นสวนมะพร้าวโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกไปดูแลสวนมะพร้าวมาเกิน10 ปีแล้ว ครั้นปี 2530 โจทก์ทั้งสามได้แบ่งแยกที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ออกเป็น 3 แปลง คือที่ดินโฉนดเลขที่ 209886เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ที่ดินโฉนดเลขที่ 209887เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 กับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 23455เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 เมื่อจำเลยทำรั้วลวดหนามปิดกั้นระหว่างที่ดินโฉนดเลขที่ 209886 และ 209887 กับทางพิพาททำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสามไม่มีทางออกสู่ทางสาธารณะจำเลยเบิกความว่า ขณะที่จำเลยซื้อที่ดินพิพาท จำเลยมิได้มีข้อตกลงกับผู้ขายว่าให้ลูกหลานของผู้ขายเข้าออกที่ดินพิพาทได้เนื่องจากขณะนั้นที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ซึ่งยังเป็นของมารดาโจทก์ทั้งสามอยู่ติดถนนซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50)อยู่แล้ว ทั้งที่ดินก็รกร้างว่างเปล่า โจทก์ทั้งสามมิได้ใช้ที่ดินพิพาทเข้าออกที่ดินแต่อย่างใด เห็นว่าขณะที่จำเลยซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 เมื่อปี 2504 ที่ดินโฉนดเลขที่ 23455อยู่ติดถนนซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) เจ้าของที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 จึงสามารถเข้าออกที่ดินทางซอยเกษมสุวรรณ(สุขุมวิท 50) ได้สะดวกอยู่แล้ว ทั้งขณะนั้นที่โฉนดเลขที่ 209886และ 209887 ก็ยังมิได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 23455จึงไม่มีความจำเป็นที่ยายของโจทก์ทั้งสามจะตกลงกับจำเลยให้ลูกหลานใช้ที่ดินพิพาทเข้าออกเพื่อไปออกซอยเกษมสุวรรณ(สุขุมวิท 50) อีก นอกจากนี้หากจะมีข้อตกลงกันไว้เช่นนั้นจริงก็น่าจะมีการบันทึกข้อตกลงเช่นนั้นให้ปรากฏไว้ในสัญญาแบ่งขายที่ดินเอกสารหมาย ล.3 จึงไม่น่าเชื่อว่าจะมีข้อตกลงดังกล่าวระหว่างยายของโจทก์ทั้งสามกับจำเลยคดีได้ความอีกว่าที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 กับที่ดินโฉนดเลขที่23455 ได้แบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2336 เมื่อปี 2504สภาพที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ถูกปล่อยทิ้งร้างไว้ตลอดมาโจทก์ทั้งสามได้รับโอนมาจากมารดาเมื่อปี 2519 ก็ไม่ได้เข้าไปอยู่ในที่ดินดังกล่าว ที่โจทก์ที่ 1 อ้างว่าที่ดินดังกล่าวเป็นสวนมะพร้าว โจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกไปดูแลสวนมะพร้าวมาเกิน 10 ปีแล้ว ข้อนี้หากมีการใช้ทางพิพาทเข้าออกที่ดินดังกล่าวจริงก็น่าจะเข้าออกเพื่อมาออกซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) อีกต่อหนึ่ง เพราะที่ดินดังกล่าวอยู่ติดซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) อยู่แล้ว การเข้าออกที่ดินดังกล่าวทางซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) ก็สะดวกและระยะทางสั้นกว่า ไม่มีเหตุที่จะต้องไปใช้ทางพิพาทแต่อย่างใดจึงไม่น่าเชื่อว่าโจทก์ที่ 1 ได้ใช้ทางพิพาทเข้าออกไปดูแลสวนมะพร้าวมาเกิน 10 ปีแล้ว ยิ่งกว่านั้นที่ดินตามโฉนดเลขที่239886 ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 กับที่ดินตามโฉนดเลขที่ 209887ของจำเลยที่ 3 ก็เพิ่งแบ่งแยกจากที่ดินโฉนดเลขที่ 23455เมื่อปี 2530 โจทก์ที่ 1 และที่ 2 มิเคยเข้าไปอยู่ในที่ดินของตนเลย ส่วนโจทก์ที่ 3 เพิ่งเข้าไปปลูกบ้านอยู่ในที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ของโจทก์ที่ 3 เมื่อปี 2529 โดยทำประตูรั้วบ้านเข้าออกทางพิพาท โจทก์ที่ 1 และที่ 2 ไม่ได้ใช้ทางพิพาทแต่อย่างใด โจทก์ที่ 3 ใช้ทางพิพาทตั้งแต่ปี 2529ถึงวันฟ้อง (วันที่ 14 กันยายน 2532) ยังไม่ครบ 10 ปี ดังนั้นไม่ว่าโดยข้อตกลงหรือโดยอายุความ ทางพิพาทตามโฉนดเลขที่ 23454 ย่อมไม่ตกเป็นทางภารจำยอมแก่ที่ดินโฉนดเลขที่209886, 209887 และ 23455 ส่วนปัญหาที่ว่าทางพิพาทตามโฉนดเลขที่ 23454 เป็นทางจำเป็นแก่ที่ดินของโจทก์ทั้งสามหรือไม่ เห็นว่าเมื่อปี 2504 ที่ดินโฉนดเลขที่ 23454 กับที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ได้แบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่ 2336เมื่อแยกออกมาแล้วทางทิศใต้ของที่ดินทั้ง 2 แปลงต่างก็อยู่ติดซอยเกษมสุวรรณ (สุขุมวิท 50) ซึ่งเป็นทางสาธารณะ ครั้นปี 2519โจทก์ทั้งสามเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมที่ดินโฉนดเลขที่ 23455โจทก์ทั้งสามเพิ่งมาแบ่งแยกที่ดินกันเองเมื่อปี 2530 ออกเป็น3 แปลง คือ แปลงในที่สุดซึ่งอยู่ด้านทิศเหนือโฉนดเลขที่209886 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 1 และที่ 2 แปลงกลางโฉนดเลขที่ 209887 เป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ที่ 3 เป็นเหตุให้ที่ดินแปลงในสุดและแปลงกลางไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะส่วนที่ดินโฉนดเลขที่ 23455 ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ติดซอยเกษมสุวรรณ(สุขุมวิท 50) ซึ่งเป็นทางสาธารณะตามเดิมเช่นนี้ จะเห็นได้ว่าเหตุที่ที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 209886 และ 209887 ไม่มีทางออกไปสู่ทางสาธารณะ ก็เพราะมีการแบ่งแยกมาจากที่ดินโฉนดเลขที่23455 ดังนั้นโจทก์ที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 209886 และโจทก์ที่ 3 ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินแปลงโฉนดเลขที่ 209887 ชอบที่จะเรียกร้องเอาทางเดินได้เฉพาะที่ดินแปลงที่ได้แบ่งแยก คือ แปลงโฉนดเลขที่ 23455ของโจทก์ที่ 3 นั่นเอง ทั้งนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1350 หาใช่เรียกร้องทางเดินจากที่ดินของจำเลยไม่ทางพิพาทตามโฉนดเลขที่ 23454 ของจำเลยจึงไม่ตกเป็นทางจำเป็น ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย”
พิพากษายืน