คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10293/2546

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยร่วมเป็นพนักงานของโจทก์ระดับผู้บริหารและได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนโจทก์ ถือว่าจำเลยร่วมเป็นนายจ้างตามความหมายของคำว่า นายจ้าง ใน พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 แต่สถานะความเป็นนายจ้างของจำเลยร่วมตามความในมาตราดังกล่าวใช้เฉพาะแก่บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างที่แท้จริง ความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมยังต้องถือว่าโจทก์เป็นนายจ้างและจำเลยร่วมเป็นลูกจ้างเช่นเดิม จำเลยร่วมจึงมีสิทธิร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อโจทก์ได้ การลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องของจำเลยร่วมมีผลตามกฎหมาย จำเลยร่วมจึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
บทบัญญัติตามมาตรา 31 แห่ง พ.ร.บ.แรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ไม่ลบล้างหรือทำให้บทบัญญัติตามมาตรา 121 ไม่มีผลใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องด้วยทั้งมาตรา 31 และมาตรา 121 กล่าวคือ ลูกจ้างมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้โดยตรงกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 31 หรือลูกจ้างมีสิทธิไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 121 โดยลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิดังกล่าวในทางใดทางหนึ่ง เมื่อเลือกใช้สิทธิในทางใดแล้ว ต้องถือว่าสละสิทธิทางอื่นอยู่ในตัว

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องและแก้ไขคำฟ้องว่า โจทก์เลิกจ้างนางนุสรา ลูกจ้างซึ่งมีตำแหน่งเป็นผู้อำนวยการฝ่ายทรัพยากรบุคคล ต่อมานางนุสราได้ยื่นคำร้องกล่าวหาโจทก์ต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ว่า โจทก์เลิกจ้างเพราะเหตุที่นางนุสรายื่นข้อเรียกร้องและเป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้อง จำเลยทั้งแปดในฐานะคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ได้พิจารณาข้อเท็จจริงแล้ววินิจฉัยว่า โจทก์เลิกจ้างนางนุสราเนื่องจากนางนุสรายื่นข้อเรียกร้องและเป็นผู้แทนเจรจาข้อเรียกร้อง เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 121 มีคำสั่งที่ 170/2544 ลงวันที่ 18 เมษายน 2544 ให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายแก่นางนุสรา 603,336 บาท คำสั่งของจำเลยทั้งแปดไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะนางนุสรากระทำความผิดตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 31 (1) (2) (3) และโจทก์เลิกจ้างนางนุสราในระหว่างการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน หากนางนุสราเห็นว่าไม่ถูกต้องนางนุสราจะต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงาน มิใช่ยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของนางนุสรา และนางนุสราได้รับมอบหมายให้กระทำการแทนโจทก์ มีอำนาจบังคับบัญชาผู้ใต้บังคับบัญชา จึงเป็นนายจ้าง ไม่อาจยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ การยื่นข้อเรียกร้องของนางนุสราไม่มีผลตามกฎหมาย ไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 ขอให้เพิกถอนคำสั่งคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ที่ 170/2544 ลงวันที่ 18 เมษายน 2544
จำเลยทั้งแปดให้การขอให้ยกฟ้อง
ระหว่างการพิจารณา นางนุสรา อมราภิบาล ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นจำเลยร่วม ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งอนุญาต
ศาลแรงงานกลางพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า ที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 4 ว่า จำเลยร่วมเป็นพนักงานระดับบริหาร ตำแหน่งผู้อำนวยการฝ่าย ทำหน้าที่เป็นตัวแทนของโจทก์ มีผู้ใต้บังคับบัญชา จึงเป็นนายจ้างตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 ไม่มีสิทธิร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องต่อโจทก์ การลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องของจำเลยร่วมไม่มีผลตามกฎหมาย จำเลยร่วมจึงไม่ได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 นั้น เห็นว่า จำเลยร่วมเป็นลูกจ้างโดยเป็นพนักงานของโจทก์ แม้จะมีระดับเป็นผู้บริหารและได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่แทนโจทก์ ซึ่งถือว่าเป็นนายจ้างตามความหมายของคำว่า นายจ้าง ในพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 มาตรา 5 สถานะความเป็นนายจ้างของจำเลยร่วมตามความในมาตราดังกล่าวก็ใช้เฉพาะแก่บุคคลอื่น ซึ่งไม่ใช่โจทก์ผู้เป็นนายจ้างที่แท้จริง ในความสัมพันธ์ระหว่างโจทก์กับจำเลยร่วมยังต้องถือว่าโจทก์เป็นนายจ้างและจำเลยร่วมเป็นลูกจ้างเช่นเดิม จำเลยร่วมจึงมีสิทธิร่วมลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงข้อตกลงเกี่ยวกับสภาพการจ้างต่อโจทก์ได้ การลงลายมือชื่อยื่นข้อเรียกร้องของจำเลยร่วมมีผลตามกฎหมาย จำเลยร่วมจึงได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518
ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ในข้อ 2 ว่า โจทก์เลิกจ้างจำเลยร่วมในระหว่างการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงาน จึงต้องบังคับตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ. 2518 มาตรา 31 ไม่ใช่กรณีตามมาตรา 121 จำเลยร่วมต้องนำคดีไปฟ้องต่อศาลแรงงาน ไม่มีสิทธิร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ไม่มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยคำร้องของจำเลยร่วม คำวินิจฉัยของคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์จึงเป็นคำวินิจฉัยที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น เห็นว่า บทบัญญัติตามมาตรา 121 แห่งพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ พ.ศ.2518 เป็นบทบัญญัติเพื่อคุ้มครองลูกจ้าง ผู้แทนลูกจ้าง กรรมการสหภาพแรงงาน กรรมการสหพันธ์แรงงาน สหภาพแรงงานและสหพันธ์แรงงานไม่ให้ถูกนายจ้างกระทำการอันเป็นการขัดขวางการใช้สิทธิต่าง ๆ โดยตรง จึงได้กำหนดให้ผู้ที่ได้รับความเสียหายยื่นคำร้องกล่าวหานายจ้างผู้ฝ่าฝืนต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และให้คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์วินิจฉัยชี้ขาดและออกคำสั่งตามมาตรา 124, 125 ถ้าการกระทำของนายจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม คณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ย่อมมีอำนาจตามมาตรา 41 (4) ที่จะสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างกลับเข้าทำงาน หรือให้จ่ายค่าเสียหาย หรือให้ปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติอย่างใดอย่างหนึ่งได้ตามที่เห็นสมควร อันเป็นวิธีการแก้ไขเยียวยาอีกทางหนึ่งนอกเหนือจากการลงโทษทางอาญาแก่นายจ้างผู้ฝ่าฝืน ส่วนบทบัญญัติตามมาตรา 31 เป็นบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำอันมีผลกระทบต่อกระบวนการเจรจา การไกล่เกลี่ย หรือการชี้ขาดข้อพิพาทแรงงานเกิดขึ้น ดังจะเห็นได้จากการที่มีข้อห้ามทั้งฝ่ายนายจ้างและฝ่ายลูกจ้าง และมีแต่บทลงโทษทางอาญาแก่ผู้ฝ่าฝืน โดยมิได้มีบทกำหนดวิธีการเยียวยาแก่ผู้ที่ได้รับความเสียหายไว้ในทำนองเดียวกับกรณีการฝ่าฝืนมาตรา 121 เพียงแต่ข้อห้ามไม่ให้นายจ้างกระทำตามมาตรา 31 นั้น มีผลให้ฝ่ายลูกจ้างได้รับการคุ้มครองไม่ต้องถูกเลิกจ้างหรือโยกย้ายหน้าที่การงานไปด้วยอยู่ในตัว เช่นเดียวกับที่ข้อห้ามของฝ่ายลูกจ้างก็มีผลให้นายจ้างได้รับการคุ้มครองจากการนัดหยุดงานอยู่ในตัวด้วยเท่านั้น บทบัญญัติตามมาตรา 31 จึงไม่ลบล้างหรือทำให้บทบัญญัติตามมาตรา 121 ไม่มีผลใช้บังคับแก่กรณีที่ต้องด้วยทั้งมาตรา 31 และมาตรา 121 กล่าวคือ ลูกจ้างมีสิทธินำคดีขึ้นสู่ศาลแรงงานได้โดยตรงกรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 31 หรือลูกจ้างมีสิทธิไปยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์กรณีที่นายจ้างฝ่าฝืนมาตรา 121 โดยลูกจ้างจะต้องเลือกใช้สิทธิดังกล่าวในทางใดทางหนึ่ง เมื่อเลือกใช้สิทธิในทางใดแล้ว ต้องถือว่าสละสิทธิทางอื่นอยู่ในตัว เมื่อการกระทำของโจทก์ในคดีนี้ต้องด้วยมาตรา 121 จำเลยร่วมซึ่งเป็นผู้ได้รับความเสียหายจึงมีสิทธิยื่นคำร้องต่อคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจพิจารณาวินิจฉัยชี้ขาดคำร้องของจำเลยร่วมได้
พิพากษายืน.

Share