แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
จำเลยที่ 1 ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงงานคน แล้วฝ่าฝืนข้อกำหนดในใบอนุญาตกลับใช้เครื่องเลื่อยวงเดือนและเครื่องไสกลไฟฟ้าซึ่งเป็นเครื่องจักรกล แปรรูปไม้เช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามมาตรา 48 แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ ฯ เมื่อโจทก์ไม่ได้ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานนี้ จึงลงโทษจำเลยที่ 2 ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไม่ได้
เมื่อจำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการโรงงานแปรรูปไม้ของจำเลยที่ 1 มีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ฯ มาตรา 48 ประกอบด้วยมาตรา 73 ส่วนจำเลยที่ 1 ผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้และมีไม้ดังกล่าวไว้ในโรงงาน ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา 51 ประกอบด้วยมาตรา 72 ทวิ หามีความผิดตามมาตรา 48 อีกไม่ (อ้างฎีกาที่ 1483/2503) แม้โจทก์จะอ้างบทมาตราผิด ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ 1 ตามฐานความผิดที่ถูกต้องได้
จำเลยที่ 4 และที่ 6 รับจ้างแปรรูปไม้โดยไม่มีใบคู่มือแสดงฐานเป็นคนงานหรือผู้รับจ้างซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้โดยเจ้าพนักงานป่าไม้ ย่อมรู้ดีว่าการทำการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต มีความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ 1 ย่อมต้องรับผิดในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ตามที่ตนได้รับอนุญาตตามมาตรา 49 ทวิ การกระทำของจำเลยที่ 1 และที่ 2 ซึ่งเป็นผู้จัดการ จึงฟังได้ว่าเป็นผู้ว่าจ้าง มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ 4 ที่ 6 แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (ก) จำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงคน บังอาจปฏิบัติฝ่าฝืนข้อกำหนดในการอนุญาต โดยใช้เครื่องจักรกลทำการแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ (ข) จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันมีไม้สักแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต (ค) จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันก่อให้ผู้อื่นกระทำผิดด้วยการจ้างให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ แปรรูปไม้สักดังกล่าว และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ได้ร่วมกันแปรรูปไม้สักตามที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ จ้าง โดยจำเลยทุกคนมิได้รับอนุญาต ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗, ๑๘ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อ ๔ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓, ๘๔ และริบของกลาง
จำเลยทั้ง ๖ ให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้นเป็นว่า จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีความผิดฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรกลโดยมิได้รับอนุญาต กระทงหนึ่ง ร่วมกันมีไม้สักแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต กระทงหนึ่ง ร่วมกันใช้ให้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต กระทงหนึ่ง และจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ ร่วมกับจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ แปรรูปไม้โดยมิได้รับอนุญาต ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ มาตรา ๔๘, ๗๓, ๗๔ พระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๗, ๑๘ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อ ๔ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๕ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๓ ให้ลงโทษจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ทุกกระทง ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ จำคุกจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ กระทงละ ๖ เดือน รวม ๓ กระทง เป็นจำคุกคนละ ๑ ปี ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ ที่ ๖ คนละ ๖ เดือน ริบของกลาง
จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ที่ ๔ ที่ ๖ ฎีกา
ศาลฎีกาฟังข้อเท็จจริงว่า จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้เพื่อประดิษฐกรรมโดยใช้แรงงานคน มีคนงานหรือผู้รับจ้าง ๔ คน โรงงานแห่งนี้ใช้เครื่องเลื่อยวงเดือน ๓ เครื่อง และเครื่องไสกบไฟฟ้า ๑ เครื่อง จำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ ๓ ถึงที่ ๖ เป็นคนงานทำการแปรรูปไม้ เจ้าพนักงานตรวจยึดไม้สักแปรรูปได้ ๓.๕๙ ลูกบาศก์เมตร ท้องที่เกิดเหตุอยู่ในเขตควบคุมการแปรรูปไม้
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหามีว่าการกระทำของจำเลยที่ ๑ ซึ่งได้รับอนุญาตให้แปรรูปไม้โดยใช้แรงคน แต่ฝ่าฝืนข้อกำหนดในใบอนุญาตโดยการใช้เครื่องจักรกล เป็นความผิดตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้หรือไม่ ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อ ๔ ซึ่งให้ยกเลิกความในมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ ให้ใช้ความใหม่ว่า “มาตรา ๔๘ ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ ห้ามมิให้ผู้ใดแปรรูปไม้ ตั้งโรงงานแปรรูปไม้ ฯลฯ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ และต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต” เห็นว่าตามบทบัญญัติใหม่นี้ ผู้ขอตั้งโรงงานแปรรูปไม้ภายในเขตควบคุมการแปรรูปไม้ แม้จะได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่แล้ว ยังต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดในกฎกระทรวงและในการอนุญาต หากทำการฝ่าฝืน ย่อมเป็นความผิดและมีโทษตามมาตรา ๗๓ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ การตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงานคน แตกต่างกับการตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักรกล ผู้ขอรับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้เครื่องจักกรต้องมีคุณสมบัติพิเศษที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ เครื่องเลื่อยวงเดือนและเครื่องไสกบไฟฟ้าเป็นเครื่องจักรกลอย่างหนึ่ง ดังนั้น การที่จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงคนแล้วฝ่าฝืนข้อกำหนดในใบอนุญาต กลับใช้เครื่องจักกลแปรรูปไม้เช่นนี้ ย่อมเป็นความผิดฐานตั้งโรงงานแปรรูปไม้ตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติป่าไม้ตามที่แก้ไขใหม่นี้ ส่วนที่ศาลอุทธรณ์ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ด้วยนั้น เห็นว่าโจทก์ไม่ได้ฟ้องและขอให้ลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานนี้ด้วย จึงลงโทษจำเลยที่ ๒ ฐานร่วมกันตั้งโรงงานแปรรูปไม้ไม่ได้
ปัญหาต่อไป จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ มีไม้สักแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ คดีฟังได้มั่นคงว่าจำเลยที่ ๒ มีไม้สักแปรรูปไว้ในความครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต อันเป็นความผิดตามมาตรา ๔๘ ประกอบด้วยมาตรา ๗๓ ส่วนที่จำเลยที่ ๑ ผู้ได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงคนและมีไม้ดังกล่าวไว้ในโรงงาน ย่อมเป็นความผิดตามมาตรา ๕๑ ประกอบด้วยมาตรา ๗๒ ทวิ หามีความผิดตามมาตรา ๔๘ อีกไม้ ตามนัยคำพิพากษาฎีกาที่ ๑๔๘๓/๒๕๐๓ ข้อนี้แม้โจทก์จะอ้างบทมาตราผิด ศาลฎีกาก็มีอำนาจลงโทษจำเลยที่ ๑ ตามฐานความผดที่ถูกต้องได้
ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าขณะเกิดเหตุจำเลยที่ ๒ เป็นผู้จัดการ จำเลยที่ ๔ และที่ ๖ กำลังแปรรูปไม้โดยไม่มีใบคู่มือแสดงฐานะเป็นคนงานหรือผู้รับจ้าง ซึ่งเป็นใบอนุญาตที่ออกให้โดยเจ้าพนักงานป่าไม้ ย่อมรู้ดีว่าทำการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต จำเลยที่ ๔ ที่ ๖ จึงมีความผิดฐานแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต ส่วนจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้รับอนุญาตตั้งโรงงานแปรรูปไม้ย่อมต้องรับผิดชอบในการดำเนินกิจการเกี่ยวกับการแปรรูปไม้ตามที่ตนได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๔๘ ทวิ การกระทำของจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้จัดการ จึงฟังได้ว่าเป็นผู้ว่าจ้าง มีความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๖ แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตด้วย
พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์เป็นว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๔๘๔ แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าไม้ (ฉบับที่ ๔) พ.ศ. ๒๕๐๓ มาตรา ๑๐, ๑๕, ๑๗, ๑๘ ประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑๖ ข้อ ๔ ลงวันที่ ๑๐ เมษายน ๒๕๑๕ ฐานได้รับอนุญาตให้ตั้งโรงงานแปรรูปไม้โดยใช้แรงคนแต่ฝ่าฝืนข้อกำหนดในการอนุญาตโดยใช้เครื่องจักรกลตามมาตรา ๔๘, ๗๓ กระทงหนึ่ง มีไม้สักแปรรูปไว้ในโรงงานโดยมิได้รับอนุญาตตามมาตรา ๕๑, ๗๒ ทวิ , ๗๔ อีกกระทงหนึ่ง และว่าจ้างให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๖ ทำการแปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๘, ๗๓ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ อีกกระทงหนึ่ง จำเลยที่ ๒ ผิดฐานมีไม้สักแปรรูปไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ตามมาตรา ๔๘, ๗๓ และว่าจ้างให้จำเลยที่ ๔ ที่ ๖ แปรรูปไม้โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา ๔๘, ๗๓ และประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘๔ รวม ๒ กระทง ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด ตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ ๑๑ ข้อ ๒ ลงวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๑๔ จำคุกจำเลยที่ ๑ กระทงละ ๖ เดือน รวม ๓ กระทง จำคุก ๑ ปี ๖ เดือน จำเลยที่ ๒ กระทงละ ๖ เดือน รวมเป็นจำคุก ๑ ปี นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์