แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ค่าชดเชยเป็นเงินที่ลูกจ้างจะได้รับเมื่อถูกเลิกจ้างเป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ถูกเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมดังนั้น แม้นายจ้างจะได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างเมื่อได้เลิกจ้างแล้วก็ตาม แต่ถ้าการเลิกจ้างนั้นเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ก็มีอำนาจให้นายจ้างชดใช้ค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้างได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ ฯ
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้าง ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เป็นบทกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายเป็นกฎหมายคนละส่วน มิได้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยเป็นคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์ ลูกจ้างโจทก์ได้ยื่นคำร้องต่อจำเลยกล่าวหาว่าโจทก์กลั่นแกล้งเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรม ขอให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้ จำเลยวินิจฉัยว่าโจทก์เลิกจ้างเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม มีคำสั่งให้โจทก์จ่ายค่าเสียหายให้แก่ลูกจ้าง โจทก์เห็นว่าคำชี้ขาดของจำเลยไม่ชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ เนื่องจากลูกจ้างละทิ้งหน้าที่การงานโดยไม่มีเหตุผล จงใจทำให้โจทก์เสียหายฝ่าฝืนคำสั่งของนายจ้างซึ่งได้ว่ากล่าวตักเตือนแล้ว ในการเลิกจ้างโจทก์ได้จ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้างแล้ว ขอให้เพิกถอนคำชี้ขาดของจำเลย
จำเลยให้การว่า จำเลยกำหนดค่าเสียหายชอบด้วยความเป็นธรรมชอบด้วยระเบียบและหลักเกณฑ์แล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า การเลิกจ้างของโจทก์เป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรมค่าเสียหายตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ คือค่าชดเชยตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ลูกจ้างได้รับค่าชดเชยจากโจทก์แล้วไม่มีสิทธิได้รับค่าเสียหายอีก พิพากษาให้เพิกถอนคำสั่งของจำเลยเฉพาะค่าเสียหายเป็นว่าโจทก์ไม่ต้องจ่ายค่าเสียหายให้ลูกจ้าง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า คำสั่งของจำเลยชอบด้วยพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์ฯ มาตรา 41(4) พิพากษากลับให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ค่าชดเชยที่โจทก์จ่ายให้ลูกจ้างเป็นเงินที่ลูกจ้างมีสิทธิจะได้รับเมื่อเลิกจ้างตามที่กำหนดไว้ในประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน เป็นคนละส่วนกับค่าเสียหายที่ลูกจ้างควรจะได้รับเมื่อถูกโจทก์เลิกจ้าง ซึ่งเป็นการกระทำอันไม่เป็นธรรม และคณะกรรมการแรงงานสัมพันธ์มีอำนาจกำหนดให้ชดใช้ได้ตามพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 มาตรา 41(4)
ประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงานเป็นบทกฎหมายที่กำหนดการคุ้มครองแรงงานแก่ลูกจ้าง ส่วนพระราชบัญญัติแรงงานสัมพันธ์พ.ศ. 2518 เป็นบทกฎหมายที่กำหนดความสัมพันธ์รวมทั้งวิธีการแก้ไขข้อขัดแย้งระหว่างนายจ้างกับลูกจ้างให้เป็นไปโดยวิธีปรองดองและเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย จึงเป็นกฎหมายคนละส่วน มิได้ขัดแย้งหรือซ้ำซ้อนกันแต่อย่างใด
พิพากษายืน