คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1029/2532

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

จำเลยมีเจตนาขอกู้ยืมเงินโจทก์ โจทก์ไม่ยอมให้กู้แต่ประสงค์ให้ทำสัญญาขายฝาก เมื่อจำเลยตกลงทำสัญญาขายฝากที่ดินตามความประสงค์ของโจทก์โดยความสมัครใจของจำเลยเอง สัญญาขายฝากจึงมิได้กระทำขึ้นด้วยการสมรู้ของโจทก์ – จำเลยเพื่ออำพรางการกู้ยืมหรือจำนองสัญญาขายฝากจึงมิใช่นิติกรรมอำพราง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยขายฝากที่ดินโจทก์ ครบกำหนดแล้วไม่ไถ่ถอนและไม่ยอมออกไปจากที่ดินที่ขายฝาก ขอให้จำเลยและบริวารขนย้ายทรัพย์ออกจากที่พิพาท ส่งมอบที่พิพาทให้โจทก์ และใช้ค่าเสียหาย
จำเลยให้การว่า จำเลยกู้เงินโจทก์โดยเอาที่พิพาทเป็นหลักทรัพย์จำนองประกันหนี้ แต่โจทก์ขอให้จำเลยขายฝากไว้แทนจำนองโดยโจทก์คิดดอกเบี้ยร้อยละ ๕ ต่อเดือน และคิดดอกเบี้ยซ้อนดอกเบี้ย สัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้เงินและจำนอง
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้ว พิพากษาให้จำเลยและบริวารออกไปจากห้องแถวและที่พิพาท ให้จำเลยชำระค่าเสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า มีปัญหาในชั้นฎีกาว่าสัญญาขายฝากเป็นนิติกรรมอำพรางสัญญากู้และสัญญาจำนองหรือไม่ จำเลยเบิกความว่า ก่อนกู้เงินโจทก์ โจทก์และสามีให้จำเลยนำโฉนดที่ดินไปดูก่อน เมื่อดูแล้วโจทก์ให้จำเลยทำสัญญาขายฝากที่ดินเป็นประกันเงินกู้ยืม แล้วจำเลยทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดิน เป็นเงิน ๗๐,๐๐๐ บาท จำเลยรับเงินเพียง ๕๕,๐๐๐ บาท โดยโจทก์จ่ายเงินให้นายสวัสดิ์ คำนึง ๔๘,๐๐๐ บาท โจทก์หักเป็นค่าดอกเบี้ยล่วงหน้าในอัตราร้อยละ ๕ ต่อเดือน มีกำหนด ๑ เดือน เป็นเงิน ๒,๗๕๐ บาท นอกจากนั้นโจทก์หักไว้เป็นค่าธรรมเนียม และต่อมาจำเลยชำระดอกเบี้ยให้แก่โจทก์อีก ๒ เดือน เดือนละ ๒,๗๕๐ บาท นายไสว ดวงแก้ว สามีจำเลยเบิกความว่า ในการติดต่อขอกู้เงินสามีโจทก์ สามีโจทก์บอกว่าถ้าเขียนแต่สัญญากู้ธรรมดา จะไม่ให้กู้ ต้องทำเป็นเรื่องขายฝากจึงจะให้กู้ เห็นว่า ตามคำเบิกความของจำเลยและนายไสวพยานจำเลยไม่ปรากฎว่าคู่กรณีได้กล่าวถึงเรื่องจำนอง แม้จำเลยจะมีเจตนาขอกู้ยืมเงิน แต่โจทก์ไม่ยอมให้กู้ตามวิธีดังกล่าว โดยโจทก์ประสงค์ให้ทำเป็นเรื่องขายฝาก และจำเลยตกลงทำหนังสือสัญญาขายฝากที่ดินตามความประสงค์ของโจทก์ ข้อนำสืบของจำเลยในข้อที่ว่าโจทก์ให้กู้ยืมเงินโดยเรียกดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ ๕ ต่อเดือนของต้นเงิน ๕๕,๐๐๐ บาท เป็นเงินเดือนละ ๒,๗๕๐ บาท จำเลยได้ชำระดอกเบี้ยให้แล้ว ๓ เดือนนั้น เป็นข้อนำสืบที่ขัดกับคำให้การของจำเลยที่อ้างว่าเงินที่จำเลยกู้จากโจทก์แท้จริงเพียง ๕๕,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ได้คิดดอกเบี้ยล่วงหน้าเพื่อที่จำเลยจะไม่ต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือนบอกเข้าไว้ในสัญญาอีก ๑๕,๐๐๐ บาท ยอดเงินกู้ตามสัญญาขายฝากจึงเป็น ๗๐,๐๐๐ บาท ตามคำให้การแสดงว่าจำเลยไม่ต้องส่งดอกเบี้ยเป็นรายเดือน แต่ตามข้อนำสืบแสดงว่าโจทก์ได้เรียกดอกเบี้ยซ้ำซ้อนเป็นรายเดือนอีกเท่ากับเพิ่มดอกเบี้ยขึ้นอีกมาก และไม่ปรากฏว่าจำเลยโต้แย้งแต่อย่างใด เป็นเรื่องที่ผิดปกติเป็นพิรุธ จำเลยเคยขายฝากที่ดินบุคคลอื่นมาแล้วประมาณ ๑๐ ราย ย่อมเข้าใจในเรื่องการขายฝากดีและไม่ปรากฏว่าบุคคลอื่นได้เรียกดอกเบี้ยหรือไม่ โดยเฉพาะนายสวัสดิ์ไม่ได้เรียกดอกเบี้ยหากเป็นเรื่องกู้ยืมไม่มีเหตุผลที่จำเลยจะกู้ยืมเงินโจทก์ ซึ่งต้องเสียดอกเบี้ยซ้ำซ้อนรวมแล้วประมาณร้อยละเจ็ดต่อเดือน ข้ออ้างที่ว่าได้ชำระดอกเบี้ยไปแล้วก็เป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการชำระเงินแต่อย่างใด นางหนู สีดาทอง พยานจำเลยเบิกความว่า เคยกู้ยืมเงินโจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่จดทะเบียนสัญญาขายฝาก ๑๗,๐๐๐ บาท ได้ส่งดอกเบี้ยให้โจทก์ ๑ ปี และนายเมือง กิ่งก้าน พยานจำเลยเบิกความว่า กู้ยืมเงินโจทก์ ๑๐,๐๐๐ บาท แต่จดทะเบียนสัญญาขายฝาก ๑๗,๐๐๐ บาท และต้องเสียดอกเบี้ยทุกเดือน พยานได้เสียดอกเบี้ยให้แก่โจทก์ ๒ – ๓ เดือน เป็นการนำสืบที่อ้างว่าโจทก์เรียกดอกเบี้ยซ้ำซ้อน เป็นพิรุธเช่นเดียวกับข้ออ้างของจำเลย ทั้งเป็นข้ออ้างลอย ๆ ไม่มีหลักฐานการชำระเงิน ข้อเท็จจริงฟังไม่ได้ว่าโจทก์ให้กู้ยืมเงินและเรียกดอกเบี้ยจากจำเลย การที่โจทก์ไม่เข้าครอบครองทรัพย์ที่ซื้อฝากทันทีก็ไม่ใช่เหตุผลที่แสดงว่าคู่สัญญามิได้มีเจตนาจะให้มีการบังคับตามสัญญาขายฝากหรืออำพรางนิติกรรมจำนอง ดังที่จำเลยอ้างแต่อย่างใด เพราะเป็นสิทธิของโจทก์ที่จะใช้สิทธินั้นทันทีหรือไม่ นายระเบียบ หรหมประดิษฐ์ พยานจำเลยเบิกความว่า พยานได้ขายฝากที่ดินแก่โจทก์และสามี ขณะนี้พยานไม่ได้ชำระหนี้ ที่ดินตกเป็นของโจทก์และสามี สามีโจทก์ให้คนอื่นเช่าทำนาแล้วเป็นการนำสืบที่เจือสมพยานโจทก์ ที่แสดงว่าโจทก์ได้บังคับตามสัญญาขายฝาก ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยทำสัญญาขายฝากโดยความสมัครใจของจำเลยเอง สัญญาขายฝากมิได้กระทำขึ้นด้วยการสมรู้ของโจทก์ จำเลยที่ทำเพื่ออำพรางการกู้ยืมเงินหรือจำนอง สัญญาขายฝากจึงมิใช่นิติกรรมอำพราง ที่พิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ เมื่อโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยออกไปแล้ว จำเลยไม่มีสิทธิที่จะอยู่ในที่พิพาทอีกต่อไป
พิพากษายืน

Share