คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10285/2557

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่ ธ. ซึ่งได้รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลชั้นต้นพิพากษาตามยอมตามที่โจทก์และจำเลยตกลงกัน จำเลยไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงบังคับคดีโดยนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดิน โฉนดเลขที่ 101171 ตำบลหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้างออกขายทอดตลาด
ผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องว่า ผู้ซื้อทรัพย์ประมูลที่ดินโฉนดเลขที่ 101171 ได้จากการขายทอดตลาดในราคา 800,000 บาท ต่อมาจำเลยยื่นคำร้องขอเพิกถอนการขายทอดตลาด ผู้ซื้อทรัพย์จึงขอขยายระยะเวลาวางเงินส่วนที่เหลือสองครั้งโดยเจ้าพนักงานบังคับคดีขยายเวลาวางเงินส่วนที่เหลือสองครั้งให้ถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2555 แต่ในวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์ได้มอบเงินส่วนที่เหลือ 550,000 บาท ให้นายธงชัยไปวางต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี กรมบังคับคดี จนกระทั่งวันที่ 22 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์ได้ทราบว่านายธงชัยไม่ได้นำเงินไปชำระ ดังนั้นในวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์จึงได้ยื่นคำร้องพร้อมนำเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ 550,000 บาท ไปชำระ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่รับ และให้ริบมัดจำส่วนที่วางไว้จำนวน 250,000 บาท ผู้ซื้อทรัพย์ไม่ได้มีเจตนาที่จะไม่ชำระเงินส่วนที่เหลือ แต่เกิดจากการถูกพนักงานของผู้ซื้อทรัพย์ยักยอกเงิน ถือได้ว่ามีพฤติการณ์พิเศษและเป็นเหตุสุดวิสัย คำสั่งของเจ้าพนักงานบังคับคดีไม่เป็นธรรม ขอให้ศาลมีคำสั่งให้เจ้าพนักงานบังคับคดีรับชำระเงินส่วนที่เหลือและออกหนังสือโอนกรรมสิทธิ์ให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์
ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้เพิกถอนคำสั่งริบเงินมัดจำและขยายเวลาการชำระค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือออกไปจนถึงวันที่ 5 ตุลาคม 2555 แจ้งเจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่คู่ความไม่โต้แย้งกันชั้นฎีการับฟังว่า เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดที่ดินโฉนดเลขที่ 101171 ตำบลหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง โดยขายให้แก่ผู้ซื้อทรัพย์ในราคา 800,000 บาท ในขณะซื้อวางมัดจำเป็นเงิน 250,000 บาท ในวันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาชำระเงินส่วนที่เหลืออีก 550,000 บาท เจ้าพนักงานบังคับคดีอนุญาตให้ผู้ซื้อทรัพย์ขยายระยะเวลาวางเงินหลายครั้ง ครั้งสุดท้ายอนุญาตไปถึงวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์ไม่นำเงินมาวางภายในกำหนด ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์ได้ยื่นคำร้องว่า ในวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์มอบเงิน 550,000 บาท ให้แก่นายธงชัย ผู้รับมอบอำนาจของผู้ซื้อทรัพย์นำเงินไปวางต่อกรมบังคับคดี แต่ไม่สามารถติดต่อกับนายธงชัยได้ วันที่ 22 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์ได้แจ้งความดำเนินคดีแก่นายธงชัยในความผิดข้อหายักยอกทรัพย์ที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวาง ผู้ซื้อทรัพย์ขอชำระเงินที่เหลือ แต่เจ้าพนักงานบังคับคดีไม่อนุญาต
มีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยว่า มีเหตุสมควรขยายระยะเวลาวางเงินให้ผู้ซื้อทรัพย์หรือไม่ ผู้ซื้อทรัพย์มีนางธิดา พนักงานของผู้ซื้อทรัพย์เบิกความได้ความว่า ผู้ซื้อทรัพย์ได้ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 101171 ตำบลหนองบอน (พระโขนงฝั่งใต้) อำเภอพระโขนง กรุงเทพมหานคร พร้อมสิ่งปลูกสร้าง จากการขายทอดตลาดในราคา 800,000 บาท วางมัดจำ 250,000 บาท ภายหลังมีการขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือ 550,000 บาท ไปเป็นวันที่ 20 มิถุนายน 2555 ครั้นถึงกำหนดเวลาผู้ซื้อทรัพย์ได้มอบอำนาจให้นายธงชัยนำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดี โดยพยานเป็นผู้เบิกเงินและส่งมอบให้แก่นายธงชัย ภายหลังไม่ได้รับรายงานจากนายธงชัย และติดต่อนายธงชัยไม่ได้ วันที่ 22 มิถุนายน 2555 พยานติดต่อ ไปยังกรมบังคับคดีจึงทราบว่านายธงชัยไม่ได้นำเงินไปชำระให้แก่กรมบังคับคดี วันเดียวกันผู้ซื้อทรัพย์มอบอำนาจให้นางสาวชนิตา ไปแจ้งความร้องทุกข์ที่สถานีตำรวจนครบาลห้วยขวางให้ดำเนินคดีแก่นายธงชัย ต่อมาวันที่ 25 มิถุนายน 2555 ผู้ซื้อทรัพย์มอบอำนาจให้นายวิเชษฐ ยื่นคำร้องขอชำระเงินค่าซื้อทรัพย์ส่วนที่เหลือ เห็นว่า ผู้ซื้อทรัพย์มีนางธิดาเบิกความประกอบรายงานประจำวันที่ยืนยันว่า ได้มีการแจ้งความร้องทุกข์นายธงชัยซึ่งข้อความในรายงานประจำวันระบุว่า นายสม ได้มอบหมายให้นายธงชัย ซึ่งเป็นพนักงานรับจ้างชั่วคราวนำเงิน 550,000 บาท ไปจ่ายค่าซื้อทรัพย์ที่กรมบังคับคดี บางขุนนนท์ ซึ่งนายสมไม่สามารถติดต่อนายธงชัยได้เป็นระยะเวลา 3 วันแล้ว จึงมอบหมายให้นางสาวชนิตา มาแจ้งความดำเนินคดีแก่นายธงชัยข้อหายักยอกทรัพย์ ผู้แจ้งจึงมาแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อให้ดำเนินคดีแก่นายธงชัยในความผิดฐานยักยอกทรัพย์ ซึ่งข้อความที่ระบุไว้ในรายงานประจำวันมีข้อความชัดแจ้งแล้วว่า ผู้แจ้งความประสงค์จะแจ้งความร้องทุกข์เพื่อให้ดำเนินคดีแก่นายธงชัย หาใช่เป็นการแจ้งความไว้เป็นหลักฐานแต่อย่างใด จากคำเบิกความและหลักฐานประกอบกับไม่มีพฤติการณ์ใดบ่งชี้ว่าผู้ซื้อทรัพย์ตกแต่งข้อเท็จจริงเพื่อมาเป็นเหตุในการขอขยายระยะเวลาวางเงิน ทำให้ข้อเท็จจริงรับฟังได้ว่า เหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่นำเงินส่วนที่เหลือไปชำระต่อกรมบังคับคดีภายในเวลาที่กำหนดเกิดจากนายธงชัยที่รับมอบหมายให้นำเงิน 550,000 บาท จากตัวแทนของผู้ซื้อทรัพย์แล้วไม่นำเงินที่รับมอบหมายไปชำระต่อกรมบังคับคดี แต่กลับนำเงินไปเป็นของตนเองจนถูกแจ้งความร้องทุกข์ให้ดำเนินคดีในความผิดฐานยักยอกทรัพย์
มีปัญหาต้องวินิจฉัยต่อไปว่า เหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัยหรือไม่ เห็นว่า ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 8 คำว่า “เหตุสุดวิสัย” หมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้ แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น จากบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวเห็นได้ว่า เหตุที่จะถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัยนั้นต้องเป็นเหตุที่เกิดขึ้นโดยไม่ใช่ความผิดของบุคคลผู้นั้น และต้องเป็นเหตุที่ไม่สามารถป้องกันได้ แม้บุคคลผู้ประสบเหตุนั้นจะได้ใช้ความระมัดระวังตามสมควรแล้ว การที่นายธงชัยที่รับมอบหมายจากผู้ซื้อทรัพย์ให้นำเงิน 550,000 บาท ไปชำระต่อกรมบังคับคดีแล้วกลับยักยอกเงินไปเป็นของตนเองโดยทุจริต ผู้ซื้อทรัพย์คงไม่อาจทราบได้ว่าจะเกิดเหตุการณ์ดังกล่าว ถือได้ว่าเหตุดังกล่าวเป็นเหตุสุดวิสัย เช่นนี้เมื่อเหตุแห่งการไม่ชำระหนี้ตามกำหนดเวลาไม่ใช่ความผิดของผู้ซื้อทรัพย์ และเป็นเหตุที่ผู้ซื้อทรัพย์ไม่อาจคาดหมายได้ ผู้ซื้อทรัพย์จึงอ้างเหตุสุดวิสัยดังกล่าวเพื่อขอขยายระยะเวลาการวางเงินส่วนที่เหลือได้ ที่ศาลอุทธรณ์พิพากษามานั้น ศาลฎีกาเห็นพ้องด้วย ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ

Share