คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5042/2530

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พนักงานอัยการโจทก์และผู้เสียหายโจทก์ร่วมเคยฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วม ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องคดีถึงที่สุดแล้ว ต่อมาโจทก์ร่วมพบสินค้าของจำเลยใช้เครื่องหมายการค้าเดียวกันนั้นอีกจึงดำเนินการให้โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้โดยอาศัยพยานหลักฐานใหม่และเพิ่มข้อหาอื่นอีกแต่ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยได้ร่วมกันกระทำการเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมขึ้นใหม่ดังนี้เป็นการนำการกระทำของจำเลยที่มีคำพิพากษา เสร็จเด็ดขาดแล้วมาฟ้องใหม่นั่นเองสิทธินำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงระงับไปตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 39 (4)
โจทก์ร่วมจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ย่อมมีสิทธิใช้หรือให้ผู้อื่นใช้เครื่องหมายการค้าที่ตนจดทะเบียนได้โดยชอบ การที่จำเลยที่ 3 ที่ 4 นำเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมมีสิทธิใช้ได้ตามกฎหมายมาใช้กับสินค้าของจำเลยที่ 4 โดยโจทก์ร่วมยินยอมจึงไม่เป็นความผิดฐานเลียนเครื่องหมายการค้า

ย่อยาว

สำนวนแรกโจทก์ฟ้องว่า นายอนันต์เดช เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ซึ่งจดทะเบียนไว้แล้วสำหรับใช้กับสินค้าจำพวกผ้าฝ้าย จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันเลียนเครื่องหมายการค้าดังกล่าวแล้วนำไปใช้กับสินค้าผ้าฝ้ายของจำเลยเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของผู้เสียหายและจำเลยได้ร่วมกันจำหน่ายสินค้าดังกล่าว ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒, ๒๗๔, ๒๗๕
สำนวนหลังโจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์เครื่องหมายการค้าตราควายโดยได้จดทะเบียนไว้แล้ว และเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ด้วย จำเลยทั้งสี่ร่วมกันทำเครื่องหมายตราควายพระอาทิตย์โดยเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์และนำไปใช้กับผ้าฝ้ายของจำเลยออกจำหน่ายแก่ประชาชนเพื่อให้ประชาชนหลงเชื่อว่าเป็นสินค้าของโจทก์ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒, ๒๗๔, ๒๗๕
นายอนันต์เดชยื่นคำร้องขอเข้าเป็นโจทก์ร่วมในคดีแรก ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาต
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นสั่งรวมพิจารณาโดยกำหนดให้เรียกพนักงานอัยการว่าโจทก์นายอนันต์เดช เป็นโจทก์ร่วม ส่วนห้างหุ้นส่วนจำกัดลิ้มเซ้งยู่เชียง นายพิชัย นายเทวาและห้างหุ้นส่วนจำกัดเฮ่งจิบฮั่วเชียง เป็นจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๔ ตามลำดับ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๗๒, ๒๗๔, ๒๗๕ รวม ๓ กระทง
โจทก์ร่วมและจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า ให้ยกฟ้องจำเลยที่ ๓ และที่ ๔ นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์ร่วม และจำเลยที่ ๑, ที่ ๒ ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ปัญหาว่าฟ้องโจทก์เป้นฟ้องซ้ำกับคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๕๑/๒๕๑๘ ของศาลแขวงพระนครใต้หรือไม่ ข้อเท็จจริงรับฟังได้ยุติว่าในคดีดังกล่าวโจทก์และโจทก์ร่วมได้ฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ในคดีนี้ว่าร่วมกันทำเลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมซึ่งได้จดทะเบียนไว้กับกรมทะเบียนการค้าเป็นรูปควายกับพระอาทิตย์ และมีข้อความภาษาไทยด้านบนว่า เฮงจิบฮั่วเชียงส่วนด้านล่างมีข้อความภาษาไทยว่า ตราควายพระอาทิตย์ สำหรับสินค้าจำพวก ๒๔ จำเลยร่วมกันทำเครื่องหมายการค้าเป็นรูปควายกับพระอาทิตย์ และข้อความด้านบนพระอาทิตย์ว่า ควายพระอาทิตย์แท้ ประทับลงบนสินค้าผ้าดำออกจำหน่ายศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าจำเลยไม่ได้เลียนแบบเครื่องหมายการค้าของโจทก์ร่วมและต้องฟังข้อเท็จจริงตามที่จำเลยนำสืบว่าได้กระทำมานานและจำเลยใช้เครื่องหมายการค้ามาก่อนโจทก์ พิพากษายกฟ้อง คดีถึงที่สุด ต่อมาโจทก์ร่วมได้เดินทางไปภาคเหนือได้พบผ้าดำของจำเลยที่ ๑ ปิดเครื่องหมายการค้าอย่างเดียวกับเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ใช้ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๕๑/๒๕๑๘ โจทก์ร่วมจึงร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวน พนักงานอัยการและโจทก์ร่วมจึงฟ้องจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ เป็นคดีนี้ซึ่งฟ้องกล่าวหาว่าจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันทำเครื่องหมายการค้ารูปดวงอาทิตย์ฉายรัศมีและมีควายยืนอยู่กับมีข้อความว่าตราควายพระอาทิตย์โดยเจตนาเลียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ของโจทก์ซึ่งจดทะเบียนไว้สำหรับสินค้าจำพวก ๒๔ และโจทก์ร่วมเบิกความว่า เครื่องหมายการค้าที่กล่าวหาจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ร่วมกันทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในคดีนี้เป็นเครื่องหมายการค้าเดียวกันกับเครื่องหมายการค้าที่โจทก์กล่าวหา จำเลยทำเลียนเครื่องหมายการค้าของโจทก์ในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๕๑/๒๕๑๘ และการที่โจทก์กล่าวหาจำเลยทั้งสองกระทำผิดคดีนี้ก็โดยได้สินค้าของจำเลยที่ ๑ มาใหม่แต่ก็ไม่ได้ความแน่ชัดว่าจำเลยทั้งสองได้ร่วมกันกระทำขึ้นใหม่ หากแต่เป็นการกระทำที่จำเลยทั้งสองได้ทำเครื่องหมายการค้ารูปดวงอาทิตย์ฉายรัศมี และมีควายยืนอยู่กับมีข้อความว่า ตราควายพระอาทิตย์ แล้วนำไปใช้ปิดที่สินค้าของจำเลยออกจำหน่ายในคดีอาญาหมายเลขแดงที่ ๑๐๐๕๑/๒๕๑๘ ซึ่งถึงที่สุดแล้วมาฟ้องจำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ใหม่โดยอาศัยพยานหลักฐานใหม่ และเพิ่มข้อหาขึ้นอีก ก็เป็นการนำการกระทำของจำเลยทั้งสองที่มีคำพิพากษาเสร็จเด็ดขาดแล้วมาฟ้องใหม่นั่นเอง สิทธิในการนำคดีอาญามาฟ้องของโจทก์และโจทก์ร่วมจึงระงับไปตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๓๙ (๔) ฎีกาของจำเลยที่ ๑ ที่ ๒ ข้อนี้ฟังขึ้น
ปัญหาว่า จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ กระทำผิดตามที่จำเลยที่ ๑ ฟ้องในสำนวนคดีหลังหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า ฟ้องของจำเลยที่ ๑ ได้บรรยายว่า โจทก์ร่วมในคดีแรก (จำเลยที่ ๑ ในคดีหลัง) เป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ ๔ ร่วมกัน กับจำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ทำเครื่องหมายการค้าเลียนเครื่องหมายการค้าของจำเลยที่ ๑ ข้อเท็จจริงฟังได้ว่าเครื่องหมายการค้าที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ ใช้เป็นเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมทำขึ้นให้จำเลยที่ ๔ นำมาใช้เป็นเครื่องหมายการค้าติดและปิดไว้ที่ผ้าดำในฐานะที่โจทก์ร่วมเป็นหุ้นส่วนในห้างจำเลยที่ ๔ โจทก์ร่วมได้จดทะเบียนเครื่องหมายการค้าตราควายพระอาทิตย์ไว้ตามเอกสารหมาย จ.๑, จ.๒ โจทก์ร่วมจึงมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมจดทะเบียนไว้แล้วโดยชอบด้วยกฎหมายตามพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า พ.ศ. ๒๔๗๔ การที่จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ นำเครื่องหมายการค้าที่โจทก์ร่วมมีสิทธิใช้ได้ตามกฎหมายใช้กับสินค้าของจำเลยที่ ๔ โดยโจทก์ร่วมยินยอมให้ใช้จำเลยที่ ๓ ที่ ๔ จึงไม่มีความผิดตามฟ้อง
พิพากษาแก้เป็นว่า ยกฟ้องโจทก์และโจทก์ร่วมในสำนวนคดีแรก นอกจากที่แก้ให้เป็นตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์

Share