แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ แม้จำเลยไม่ต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด อย่างไร จำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โดยมีการตกลงให้เช่าได้ถึง 10 ปี ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โดยมีข้อตกลงให้โจทก์สามารถเช่าพื้นที่ได้เป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นบุคคลสิทธิมีผลผูกพันจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่าได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องขอบังคับให้จำเลยดำเนินการจดทะเบียนการเช่าพื้นที่เลขที่ L2 – 7 และ L2 – 8 แก่โจทก์ ต่อไปอีกรวมเป็นระยะเวลา 10 ปี นับแต่วันที่ทำสัญญาเช่าพื้นที่ฉบับเดิมทั้งสองฉบับ หากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ขอให้ถือเอาคำพิพากษาเป็นการแสดงเจตนาแทนจำเลย
จำเลยให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ
โจทก์อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษากลับ ให้จำเลยไปจดทะเบียนสิทธิการเช่าพื้นที่โครงการ 304 พลาซ่า เลขที่ L2 – 8 และ L2 – 7 หมู่ที่ 10 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2547 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 ตามสัญญาเช่ามีกำหนดสัญญาละ 10 ปี ตามลำดับหากจำเลยไม่ปฏิบัติตาม ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของจำเลย ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลให้เป็นพับ
จำเลยฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อท็จจริงที่คู่ความไม่ได้โต้เถียงกันรับฟังเป็นยุติว่า เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2547 และวันที่ 1 พฤษภาคม 2547 โจทก์เช่าพื้นที่ส่วนหนึ่งของอาคารในโครงการ 304 พลาซ่าของจำเลย ซึ่งตั้งอยู่บนที่ดินโฉนดเลขที่ 17718 ตำบลท่าตูม อำเภอศรีมหาโพธิ จังหวัดปราจีนบุรี ล็อกเลขที่ L2 – 8 และ L2 – 7 ตามสำเนาสัญญาเช่าพื้นที่ โจทก์ได้ว่าจ้างนายวิโรจน์รัตน์ เป็นผู้ก่อสร้างอาคารชั้นเดียว 2 ห้อง ในพื้นที่ดังกล่าว เสียค่าใช้จ่ายไปห้องละ 350,000 บาท และค่าใช้จ่ายในการตกแต่งห้องอีกห้องละ 500,000 บาท สัญญาเช่าพื้นที่ทั้งสองฉบับดังกล่าวระบุว่า การเช่ามีกำหนดระยะเวลา 2 ปีครึ่ง นับแต่วันทำสัญญา อัตราค่าเช่าห้องละ 3,500 บาทต่อเดือน แต่นายสุรศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้จัดการโครงการ 304 พลาซ่า ของจำเลยแจ้งว่า โจทก์สามารถเช่าพื้นที่ทั้งสองห้องได้เป็นระยะเวลา 10 ปี
คดีมีปัญหาประการแรกที่จำเลยฎีกาว่า นายสุรศักดิ์ไม่ใช่ตัวแทนหรือผู้มีอำนาจกระทำการแทนจำเลย จึงไม่มีอำนาจตกลงให้ผู้หนึ่งผู้ใดเช่าที่ดินของจำเลย จำเลยจึงไม่มีความผูกพันที่จะต้องรับผิดต่อโจทก์นั้น เห็นว่า คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์ แม้จำเลยไม่ต้องอุทธรณ์ในประเด็นข้ออื่นที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยเป็นคุณแก่โจทก์ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์ยังอุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นอยู่ หากจำเลยไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ให้จำเลยเป็นฝ่ายแพ้ในประเด็นข้อใด อย่างไร จำเลยก็ชอบที่จะโต้แย้งไว้ในคำแก้อุทธรณ์ เมื่อจำเลยไม่ได้โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้นที่วินิจฉัยว่า สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โดยมีการตกลงให้เช่าได้ถึง 10 ปี ปัญหาดังกล่าวจึงยุติตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น จำเลยจะยกขึ้นฎีกาอีกไม่ได้ เพราะเป็นข้อที่ไม่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลอุทธรณ์ภาค 2 ต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 วรรคหนึ่ง ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัยให้ ส่วนปัญหาประการสุดท้ายที่จำเลยฎีกาว่า โจทก์ไม่มีสิทธิบังคับให้จำเลยไปจดทะเบียนการเช่านั้น เห็นว่า เมื่อข้อเท็จจริงฟังเป็นยุติว่า สัญญาเช่าพื้นที่ระหว่างโจทก์กับจำเลย เป็นสัญญาต่างตอบแทนยิ่งกว่าสัญญาเช่าธรรมดา โดยมีข้อตกลงให้โจทก์สามารถเช่าพื้นที่ได้เป็นระยะเวลา 10 ปี จึงเป็นบุคคลสิทธิมีผลผูกพันจำเลย โจทก์ย่อมมีสิทธิขอให้บังคับจำเลยไปจดทะเบียนการเช่าได้ ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น
พิพากษายืน ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นฎีกาให้เป็นพับ