แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
เครื่องแบบตำรวจครบถ้วนมีระบุไว้หลายสิ่งหลายอย่าง จำเลยเพียงแต่แต่งตัวสวมกางเกงขาสั้นสีกากีสวมเสื้อเชิ๊ตแขนยาวสีกากีมีเครื่องหมาย “น.” และ”ร”ติดที่ปกคอเสื้อ 2 ข้าง ยังไม่เรียกว่าจำเลยได้แต่งเครื่องแบบตำรวจตามความหมายในพระราชบัญญัติเครื่องแบบตำรวจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2483 มาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 6 เดิม จึงยังไม่เป็นผิด
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นความผิด 2 กระทง กระทงหนึ่งฐานมีอาวุธปืนโดยมิได้รับอนุญาต อีกกระทงหนึ่งฐานแต่งเครื่องแบบตำรวจโดยไม่มีสิทธิจะแต่งได้ จำเลยปฏิเสธ ศาลพิพากษาลงโทษจำเลยฐานมีอาวุธปืนโดยไม่ได้รับอนุญาตเด็ดขาดไปแล้ว แต่ในกระทงหลังศาลล่างทั้ง 2 ฟังข้อเท็จจริงว่า การที่จำเลยแต่งตัวสวมกางเกงสีกากีขาสั้น สวมเสื้อเชิ๊ตแขนยาวสีกากี มีเครื่องหมายสังกัดกรมตำรวจอักษร “น” และ “ร” ติดที่ปกคอเสื้อ 2 ข้าง อักษร “น” หมายความว่าตำรวจนครบาลอักษร “ร” หมายความว่า โรงเรียนพลตำรวจ เช่นนี้ ไม่พอที่จะถือว่าจำเลยแต่งเครื่องแบบตำรวจตามความในมาตรา 6, 11 แห่งพระราชบัญญัติเครื่องแบบตำรวจ พ.ศ. 2477 เพราะเครื่องแบบตำรวจครบถ้วนมีระบุไว้หลายสิ่งหลายอย่าง เสื้อกางเกงสีกากีสามัญชนก็มีสิทธิแต่งได้ เพียงมีเครื่องหมายสังกัด “น” “ร” ติดที่ปกคอเสื้อไม่เอาผิดจำเลยในกระทงนี้ โจทก์จึงฎีกาขึ้นมา
ศาลฎีกาเห็นว่า การที่จำเลยแต่งกายดังกล่าวข้างต้นนี้ ยังไม่เรียกว่าจำเลยได้แต่งเครื่องแบบตำรวจตามความหมายในพระราชบัญญัติเครื่องแบบตำรวจ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2483 มาตรา 3 ซึ่งแก้ไขมาตรา 6 เดิม ดังที่ศาลอุทธรณ์ได้วินิจฉัยไว้เป็นการชอบแล้ว
จึงพิพากษายืน