คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 489/2493

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

พินัยกรรมที่ระบุในตอนต้นว่ายกทรัพย์ที่มีอยู่และที่จะเกิดมีมาในภายหน้าให้ผู้รับพินัยกรรมคนเดียวนั้น แต่ในตอนต่อไปมีรายการทรัพย์ว่า ยกทรัพย์สิ่งใดให้บ้างแต่ทรัพย์พิพาทไม่มีระบุไว้ในพินัยกรรมซึ่งมีเหตุให้เห็นได้ว่า เจ้ามรดกมิได้มีเจตนาจะยกทรัพย์ที่พิพาทนี้ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมด้วย ดังนี้ทรัพย์พิพาทจึงเป็นทรัพย์มรดกนอกพินัยกรรม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า บิดามารดาโจทก์จำเลยมีที่ดิน 1 แปลง เนื้อที่ 6 ไร่เศษ บิดามารดาได้แบ่งให้โจทก์ 2 ไร่เศษ บิดามารดาตายขอแสดงกรรมสิทธิ์หรือแบ่งให้โจทก์ จำเลยต่อสู้ว่า บิดามารดายกให้จำเลยครอบครองมาทั้งหมด 20 ปีเศษ และต่อมา ส. ได้ทำพินัยกรรมยกให้จำเลยอีก ที่ดิน 2 ไร่เศษนั้นโจทก์ละทิ้งไป 16 ปีแล้ว

ศาลอุทธรณ์และศาลชั้นต้นฟังข้อเท็จจริงต้องกันว่า ที่พิพาทเป็นของ ส. บิดาโจทก์จำเลย เคยให้โจทก์อยู่อาศัย และโจทก์ได้ย้ายไปอยู่ที่อื่นช้านานแล้ว ส.ตายที่พิพาทเป็นมรดก ศาลชั้นต้นเห็นว่าคดีไม่ขาดอายุความ โจทก์มีสิทธิได้เท่าที่ครอบครองเป็นส่วนสัดพิพากษาให้ที่พิพาทในเส้นแดงเป็นสิทธิแก่โจทก์แต่ศาลอุทธรณ์เห็นว่าพินัยกรรมของ ส.ที่ยกทรัพย์ให้จำเลยนั้นรวมถึงที่พิพาทด้วยพิพากษากลับให้ยกฟ้อง

โจทก์ฎีกา

ศาลฎีกาฟังว่า ส.ได้ทำพินัยกรรมให้จำเลย ซึ่งในข้อ (1) มีว่า”ถ้าข้าพเจ้าถึงแก่กรรมไปแล้วบรรดาทรัพย์สินของข้าพเจ้าที่มีอยู่และจะเกิดมีมาในภายหน้า ข้าพเจ้ายอมยกให้เป็นกรรมสิทธิ์แก่นางจำรัส ซึ่งเป็นบุตรสืบสายโลหิตของข้าพเจ้า ให้เป็นผู้รับทรัพย์สินตามจำนวนซึ่งกำหนดไว้ดังต่อไปนี้ คือ

1. ที่นา 1 แปลงอยู่ที่ ฯลฯ โฉนดเลขที่ ฯลฯ เนื้อที่ 48 ไร่”

ศาลฎีกาได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า มีเหตุน่าสงสัยว่าเจ้ามรดกจะมิได้เจตนายกที่บ้าน ซึ่งพิพาทในคดีนี้ให้แก่ฝ่ายจำเลยตามพินัยกรรมด้วย จึงระบุไว้ในพินัยกรรมเพียงเท่านั้น ฉะนั้นที่บ้านพิพาทจึงเป็นทรัพย์นอกพินัยกรรมและเป็นมรดกของนายสน พิพากษากลับศาลอุทธรณ์ ให้บังคับคดีตามศาลชั้นต้น

Share