คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 8835/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่ากฎหมายของเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอยู่ด้วยดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม ฟ้องของโจทก์ก็ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและ การค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่ต้องบรรยายในคำฟ้องตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 ซึ่งถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้ว ซึ่งมาตรา 61 แห่ง พ.ร.บ. ดังกล่าวมิได้บัญญัติให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศอีกต่อไป

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 4, 15, 28, 61, 69, 75 และ 76 ประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง การกำหนดรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 ป.อ. มาตรา 33 และสั่งริบวีดีโอเทป ภาพยนตร์ของกลาง จ่ายค่าปรับให้แก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง และนับโทษจำเลยนี้ต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก. 9/2541 ของศาลชั้นต้น
จำเลยให้การรับสารภาพ
ศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศกลางพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 69 วรรคสอง จำคุก 6 เดือน และปรับ 100,000 บาท จำเลยให้การรับสารภาพ เป็นประโยชน์แก่การพิจารณา มีเหตุบรรเทาโทษ ลดโทษให้กึ่งหนึ่ง ตาม ป.อ. มาตรา 78 คงจำคุก 3 เดือน และปรับ 50,000 บาท เมื่อพิเคราะห์พฤติการณ์แห่งคดีประกอบกับไม่ปรากฏว่าจำเลยเคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน จึงเห็นสมควรให้โอกาสจำเลยกลับตัวต่อไป โทษจำคุกให้รอการลงโทษมีกำหนด 1 ปี ตาม ป.อ. มาตรา 56 หากจำเลยไม่ชำระค่าปรับ ให้จัดการตาม ป.อ. มาตรา 29 และ 30 จ่ายค่าปรับแก่เจ้าของลิขสิทธิ์กึ่งหนึ่ง ให้ม้วนวิดีโอเทปของกลางตกเป็น ของเจ้าของลิขสิทธิ์ตามมาตรา 75 ยกคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ศปก. 9/2541 ของศาลชั้นต้น เพราะศาลมิได้พิพากษาลงโทษจำคุก ยกคำขอให้ริบของกลาง
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศวินิจฉัยว่า พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 มาตรา 61 บัญญัติว่า “งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์… ของประเทศที่เป็นภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์… ซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย… ย่อมได้รับความคุ้มครองตามพระราชบัญญัตินี้
ให้รัฐมนตรีมีอำนาจประกาศรายชื่อประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์… ใน ราชกิจจานุเบกษา” จากข้อเท็จจริงโจทก์ได้กล่าวในฟ้องว่า งานอันมีลิขสิทธิ์ของผู้สร้างสรรค์ตามคำฟ้องเป็นงานอันมีลิขสิทธิ์ของเมืองฮ่องกง ประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นประเทศภาคีแห่งอนุสัญญากรุงเบอร์นว่าด้วยการ คุ้มครองวรรณกรรมและศิลปกรรมซึ่งประเทศไทยเป็นภาคีอยู่ด้วย ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดรายชื่อ ประเทศภาคีแห่งอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองลิขสิทธิ์หรืออนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของนักแสดง ลงวันที่ 15 พฤษภาคม 2539 จึงได้รับความคุ้มครองตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ดังนี้ ถือได้ว่าโจทก์ได้บรรยายข้อเท็จจริงใน คำฟ้องครบถ้วนตามบทบัญญัติมาตรา 61 แห่งกฎหมายดังกล่าวแล้ว แม้โจทก์จะไม่ได้กล่าวในคำฟ้องว่า กฎหมายของเมืองฮ่องกงซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสาธารณรัฐประชาชนจีนได้ให้ความคุ้มครองเช่นเดียวกันแก่งานอันมีลิขสิทธิ์ของประเทศไทยซึ่งเป็นภาคีอยู่ด้วยดังที่จำเลยอุทธรณ์ก็ตาม ฟ้องของโจทก์ก็ชอบด้วย ป.วิ.อ. มาตรา 158 (5) ประกอบด้วย พ.ร.บ. จัดตั้งศาลทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศและวิธีพิจารณาคดีทรัพย์สินทางปัญญาและการค้าระหว่างประเทศ พ.ศ. 2539 มาตรา 26 เพราะข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดที่ต้องบรรยายในคำฟ้องตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2521 มาตรา 42 ซึ่งถูกยกเลิกโดย พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำละเมิดลิขสิทธิ์และขอให้ลงโทษจำเลยตาม พ.ร.บ. ลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2537 ซึ่งมาตรา 61 แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวมิได้บัญญัติให้ข้อเท็จจริงดังกล่าวเป็นข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิดฐานละเมิดลิขสิทธิ์ระหว่างประเทศอีกต่อไป โจทก์จึงไม่จำต้องบรรยายข้อเท็จจริงดังที่จำเลยอุทธรณ์ในคำฟ้อง
พิพากษายืน.

Share