คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1022/2552

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อจำเลยที่ 1 ในคำฟ้องของโจทก์ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกาจาก “บริษัทโกลเด้นไพล จำกัด” เป็น “บริษัทโกลเด้นไฟล จำกัด” เป็นการขอแก้ไขเพียงตัวพยัญชนะ “พ” ในคำว่า “ไพล” เป็น “ฟ” ในคำว่า “ไฟล” เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย ศาลฎีกาอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามขอ
จำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องโดยโต้เถียงความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามได้แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว และจำเลยทั้งสามมิได้สืบพยานอีกด้วย คดีในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ติดใจโต้เถียงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และต้องฟังว่าโจทก์มอบอำนาจฟ้องถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า โจทก์เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด (มหาชน) โจทก์มอบอำนาจให้นายปรีชาและนายอภิชัยเป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ รวมทั้งมีอำนาจแต่งตั้งตัวแทนหรือผู้รับมอบอำนาจช่วง ผู้รับมอบอำนาจโจทก์มอบอำนาจช่วงให้นายสมชายเป็นผ็มีอำนาจฟ้องและดำเนินคดีนี้แทนจำเลยที่ 1 เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด มีจำเลยที่ 3 ลงลายมือชื่อและประทับตราสำคัญกระทำการแทน เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2539 จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินโจทก์จำนวน 1,000,000 บาท ตกลงดอกเบี้ยในอัตรา เอ็ม อาร์ อาร์+2 ขณะทำสัญญาเท่ากับร้อยละ 15.50 ต่อปี กำหนดชำระเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยเดือนละ 30,000 บาท รวม 60 เดือนทุกๆ วันสิ้นสุดของเดือน เริ่มชำระเดือนแรกในวันสุดท้ายของเดือนตุลาคม 2539 และจะต้องชำระเงินกู้และดอกเบี้ยให้แล้วเสร็จภายในเดือนตุลาคม 2541 การทำสัญญาเงินกู้ดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 ทำสัญญาค้ำประกันหนี้ของจำเลยที่ 1 ที่มีต่อโจทก์ในปัจจุบันและอนาคต โดยยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ในวงเงินคนละ 1,000,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยและอุปกรณ์แห่งหนี้ และในวันเดียวกันจำเลยที่ 2 ทำหนังสือมอบสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 14/121-122 บนที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ไว้เป็นประกันต่อโจทก์ ต่อมาจำเลยที่ 1 ผิดนัด โดยชำระเงินกู้ให้โจทก์ไม่ตรงตามเงื่อนไขในสัญญาและชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 จำนวนเงิน 700 บาท โจทก์จึงได้มอบอำนาจให้ทนายความมีหนังสือทวงถามบอกเลิกสัญญาทุกชนิดต่อจำเลยทั้งสาม หนี้เงินกู้ค้างชำระเฉพาะดอกเบี้ยถึงวันฟ้อง เป็นเงินจำนวน 265,198.64 บาท รวมต้นเงินและดอกเบี้ยถึงวันฟ้องเป็นเงินจำนวน 1,046,740.05 บาท ขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชำระเงินจำนวน 1,046,740.05 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 14 ต่อปี ของต้นเงินจำนวน 781,541.41 บาท นับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จสิ้น หากจำเลยทั้งสามไม่ชำระหรือชำระไม่ครบถ้วนให้ยึดสิทธิการเช่าอาคารเลขที่ 14/121-122 หมู่ 6 แขวงจอมทอง เขตจอมทอง กรุงเทพมหานคร บนที่ดินโฉนดเลขที่ 3662 ออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้แก่โจทก์ หากไม่พอให้ยึดทรัพย์สินอื่นของจำเลยทั้งสามออกขายทอดตลาดนำเงินมาชำระหนี้จนกว่าจะครบถ้วน
จำเลยทั้งสามให้การทำนองเดียวกันว่า หนังสือมอบอำนาจของโจทก์ไม่ถูกต้อง ลายมือชื่อนายบัณฑูร ผู้มอบอำนาจเป็นลายมือชื่อปลอมและไม่มีตราประทับสำคัญของโจทก์ หนังสือมอบอำนาจดังกล่าวจึงไม่สมบูรณ์ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง จำเลยที่ 1 ไม่เคยทำสัญญากู้เงินจากโจทก์ จำเลยที่ 2 และที่ 3 ไม่เคยค้ำประกันมูลหนี้ตามคำฟ้องโจทก์ ลายมือชื่อผู้กู้และผู้ค้ำประกันเป็นลายมือชื่อปลอม ธนาคารแห่งประเทศไทยไม่เคยมีประกาศกำหนดเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย ประกาศอัตราดอกเบี้ยและส่วนลดเงินให้กู้ยืมของโจทก์เป็นเอกสารที่โจทก์ทำขึ้นเอง เพื่อให้มีอำนาจในการคิดดอกเบี้ยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระเงินจำนวน 781,541.41 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 10.25 ต่อปี ของต้นเงินดังกล่าวนับตั้งแต่วันที่ 6 มิถุนายน 2541 เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ ให้จำเลยทั้งสามใช้ค่าฤชาธรรมเนียมแทนโจทก์ โดยกำหนดค่าทนายความให้ 10,000 บาท คำขออื่นให้ยก
จำเลยทั้งสามอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้องโจทก์ ให้โจทก์ใช้ค่าฤชาธรรมเนียมทั้งสองศาลแทนจำเลยทั้งสาม โดยกำหนดค่าทนายความรวม 25,000 บาท
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ปรากฏว่าระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขชื่อจำเลยที่ 1 ในคำฟ้องของโจทก์จาก “บริษัทโกลเด้นไพล จำกัด” เป็น “บริษัทโกลเด้นไฟล จำกัด” เห็นว่า ตามหลักฐานที่ปรากฏในสำนวนชื่อจำเลยที่ 1 ที่ถูกต้องเป็นไปตามที่โจทก์ยื่นคำร้องขอแก้ไขโดยเป็นการขอแก้ไขเพียงตัวพยัญชนะ “พ” ในคำว่า “ไพล” เป็น “ฟ” ในคำว่า “ไฟล” เท่านั้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ไขเพียงเล็กน้อย จึงอนุญาตให้โจทก์แก้ไขคำฟ้องตามคำร้องดังกล่าวได้ ส่วนปัญหาที่ต้องวินิจฉัยตามฎีกาของโจทก์ว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องหรือไม่นั้น เห็นว่า จำเลยทั้งสามได้ให้การต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องโดยโต้เถียงความถูกต้องของหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไว้ แม้เป็นปัญหาอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน แต่ระหว่างการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำเลยทั้งสามได้แถลงขอสละประเด็นข้อต่อสู้เรื่องอำนาจฟ้องของโจทก์แล้ว ปรากฏตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้น ลงวันที่ 17 ตุลาคม 2544 และจำเลยทั้งสามมิได้สืบพยานอีกด้วย คดีในศาลชั้นต้นจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทในเรื่องอำนาจฟ้องตามคำให้การของจำเลยทั้งสามโดยจำเลยทั้งสามไม่ติดใจโต้เถียงเกี่ยวกับหนังสือมอบอำนาจดังกล่าวอีกต่อไป การที่จำเลยทั้งสามยังคงอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลชั้นต้นว่าหนังสือมอบอำนาจให้ฟ้องคดีของโจทก์ไม่ถูกต้องอีก จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบในศาลชั้นต้น แม้ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยให้ก็เป็นการไม่ชอบ และต้องฟังว่าโจทก์มอบอำนาจฟ้องถูกต้องตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น แต่เนื่องจากข้อเท็จจริงในคดีนี้พอแก่การวินิจฉัยในประเด็นอื่นได้แล้ว เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลา ศาลฎีกาจึงเห็นสมควรวินิจฉัยในประเด็นที่เหลือไปเสียทีเดียว
ปัญหาที่ต้องพิจารณาต่อไปคือ จำเลยทั้งสามต้องรับผิดต่อโจทก์หรือไม่เพียงใด จากคำเบิกความของนายดนัย พนักงานโจทก์ได้ความว่า จำเลยที่ 1 ทำสัญญากู้เงินไปจากโจทก์ เป็นเงิน 1,000,000 บาท กำหนดผ่อนชำระคืนเป็นรายเดือน รวม 60 งวด โดยยินยอมเสียดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 15.5 ต่อปี หากผิดนัดยอมให้โจทก์คิดดอกเบี้ยในอัตราผิดนัด การทำสัญญากู้เงินดังกล่าวมีจำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นผู้ค้ำประกัน รายละเอียดปรากฏตามเอกสารหมาย จ.5 ถึง จ.9 จำเลยที่ 1 ผิดสัญญากู้เงินชำระเงินคืนไม่ตรงตามกำหนด โดยชำระครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ 5 มิถุนายน 2541 และยังคงค้างเงินต้นโจทก์อยู่ 781,541.41 บาท ดอกเบี้ย 265,198.64 บาท รวม 1,046,740.05 บาท โจทก์ทวงถามจากจำเลยทั้งสามแล้ว แต่จำเลยทั้งสามเพิกเฉย ในชั้นพิจารณาจำเลยทั้งสามไม่สืบพยาน เห็นว่า จากพยานบุคคลและเอกสารที่โจทก์นำสืบมาเชื่อได้ว่าจำเลยทั้งสามเป็นหนี้โจทก์ตามสัญญากู้เงินและสัญญาค้ำประกันตามฟ้องจริง ที่ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสามชำระเงินให้โจทก์โดยปรับลดอัตราดอกเบี้ยผิดนัด คงเหลือร้อยละ 10.25 ต่อปี นั้นจึงชอบแล้ว”
พิพากษากลับ ให้บังคับไปตามคำพิพากษาของศาลชั้นต้น ค่าฤชาธรรมเนียมชั้นอุทธรณ์และฎีกาให้เป็นพับ

Share