แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
1.ฟ้องโจทก์กล่าวถึงข้อที่ว่าจำเลยเคยต้องคำพิพากษาให้จำคุกมาแล้ว อันจะเป็นเหตุให้ถูกเพิ่มโทษ และได้อ้างบทมาตราเรื่องเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย เมื่อจำเลยให้การว่าขอรับสารภาพตามฟ้องก็ถือได้ว่ารับในข้อเท็จจริงที่โจทก์อ้างมาขอให้เพิ่มโทษด้วย
2.บุคคลใดทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะดังที่กล่าวไว้ในมาตรา 487,488 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็เป็นเช็ค เมื่อผู้ทรงนำไปขึ้นเงินไม่ได้ (แม้จะเป็นเพราะบัญชีเงินฝากของบุคคลนั้นปิดเสียแล้วในขณะที่ออกเช็ค) ผู้ออกเช็คก็มีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ. 2497
3.ในกรณีออกเช็คล่วงหน้า วันที่เขียนเช็คยังไม่ถือว่าเป็นวันออกเช็ค ต้องถือเอาวันที่ลงในเช็คเป็นวันออกเช็ค และตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.2497 มาตรา 3 ต้องถือว่าวันออกเช็คเป็นวันที่เริ่มการกระทำอันจะก่อให้เกิดความผิด และความผิดได้เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธการจ่ายเงิน เมื่อยังไม่เกิน 5 ปีนับแต่วันที่พ้นโทษในคดีเรื่องก่อน ย่อมเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 92 ได้
(ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 17/2507 และ18/2507)
อนึ่ง ที่ประชุมใหญ่ ครั้งที่ 24/2507 ได้เห็นชอบให้ออกไปตามร่างคำพิพากษาฎีกานี้ได้
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า (๑)เมื่อวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ จำเลยบังอาจออกเช็คธนาคารแห่งอเมริกา ลงวันสั่งจ่ายในวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ สั่งจ่ายเงินจำนวน ๘,๐๐๐ บาท ให้แก่นางขจี วิริยะวิทย์ ผู้ทรงเช็คเพื่อเป็นการชำระหนี้ ต่อมาวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๐๕ นางขจีผู้ทรงเช็คได้นำเช็คดังกล่าวเข้าบัญชีเงินฝากที่ธนาคารอื่น และในวันเดียวกันนั้นธนาคารแห่งอเมริกาได้ปฏิเสธไม่จ่ายเงินตามเช็คนั้น ทั้งนี้โดยขณะที่จำเลยออกเช็ค จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้โดยบัญชีเงินฝากของจำเลยปิดแล้ว และจำเลยได้ออกเช็คดังกล่าวโดยเจตนาที่จะไม่ให้มีการใช้เงินตามเช็ค ทั้งเมื่อจำเลยได้ทราบความผิดของจำเลยแล้ว จำเลยก็มิได้นำเงินตามจำนวนในเช็คไปชำระแก่นางขจีผู้ทรงเช็ค (๒)นางขจีได้ร้องทุกข์เมื่อวันที่ ๒๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๕ (๓)ก่อนคดีนี้ จำเลยเคยต้องคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกมาแล้วฐานผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.๒๔๔๗ มาตรา ๓ ปรากฎตามใบประวัติฯท้ายฟ้อง พ้นโทษไปยังไม่เกิน ๕ ปี ก็มากระทำผิดในคดีนี้อีก ขอให้เพิ่มโทษจำเลยด้วย อนึ่ง จำเลยเป็นบุคคลเดียวกับจำเลยในคดีอาญาหมายเลยดำที่ ๒๒๑๒/๒๕๐๕
ขอให้ลงโทษตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๓ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ และนับโทษต่อ
จำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้อง และรับว่า-เป็นเลยคนเดียวกับจำเลยในคดีอาญาดำที่ ๒๒๑๒/๒๕๐๕ จริง
โจทก์จำเลยไม่สืบพยาน
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คพ.ศ.๒๔๙๗ มาตรา ๓ ให้จำคุก ๑ เดือน รับลดกึ่ง คงจำคุก ๑๕ วันนับโทษต่อคดีอาญาดำที่ ๒๒๑๒/๒๕๐๒ (แดง ๑๙๘๑/๒๕๐๕ของศาลอาญา)
โจทก์อุทธรณ์ขอให้เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๙๒ ด้วย
ศาลอุทธรณ์เห็นว่า คำรับสารภาพของจำเลยหาได้หมายความไปถึงข้อเคยต้องโทษตามฟ้องว่าเป็นความจริงหรือไม่ จะเพิ่มโทษไม่ได้ ตายนัยฎีกาที่ ๖/๒๔๘๗ และ๔๐๖/๒๕๐๐
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาเห็นว่า ข้อเท็จจริงได้ความว่าในขณะที่จำเลยออกเช็คนั้น จำเลยไม่มีเงินอยู่ในบัญชีอันจะพึงให้ใช้เงินตามเช็คได้ โดยบัญชีเงินฝากของจำเลยปิดแล้ว เช่นนี้ คดีจึงมีปัญหาที่ควรวินิจฉัยในเบื้องต้นว่า จะเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯหรือไม่ ได้ประชุมใหญ่แล้วเห็นว่า เมื่อบุคคลใดทำเป็นหนังสือตราสารซึ่งมีรายการครบถ้วนบริบูรณ์ตามลักษณะดังกล่าวไว้ในมาตรา ๙๘๗.๙๘๘ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แล้วก็เป็นเช็ค ผู้ทรงนำไปขึ้นเงินไม่ได้ ผู้ออกเช็คก็ย่อมมีความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๔๗
ในปัญหาเรื่องคำรับสารภาพของจำเลยนั้น ศาลฎีกาเคยประชุมใหญ่ เห็นว่าโจทก์ได้กล่าวข้อเท็จจริงมาในฟ้องข้อ ๓ โดยชัดแจ้ง และได้อ้างประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๒ อันเป็นเรื่องเพิ่มโทษมาในคำขอท้ายฟ้องด้วย เมื่อจำเลยให้การรับสารภาพตามฟ้องโดยมิได้โต้แย้งประการใด ก็ถือได้ว่าจำเลยรับในข้อเท็จจริงที่โจทก์ขอให้เพิ่มโทษนั้นด้วย
ส่วนปัญหาในข้อที่ว่าจะถือว่าจำเลยลงมือกระทำความผิดเมื่อใด คามผิดเกิดขึ้นเมื่อใด จะเพิ่มโทษได้หรือไม่นั้น ได้ความว่าเป็นกรณีออกเช็คล่วงหน้า โดยจำเลยเขียนเช็คเมื่อ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๐๒ ลงวันสั่งจ่ายวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ จำเลยต้องโทษจำคุกฐานกระทำผิดพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็คฯ ในปี พ.ศ.๒๕๐๓ รวม ๓ สำนวน พ้นโทษคดีสุดท้ายเมื่อ๒๘ มกราคม ๒๕๐๔ ดังนี้ ศาลฎีกาโดยที่ประชุมใหญ่เห็นว่า ในกรณีเรื่องออกเช็คล่วงหน้านั้น วันที่เขียนเช็คยังไม่ถือว่าเป็นวันออกเช็ค ต้องถือวันที่ลงในเช็คเป็นวันออกเช็ค คือ วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ แลตามบทบัญญัติมาตรา ๓ แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดอันเกิดจากการใช้เช็ค พ.ศ.๒๔๔๗ ต้องถือว่าวันออกเช็คคือวันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๐๔ เป็นวันที่จำเลยเริ่มต้นกระทำการอันจะก่อให้เกิดความผิด และความผิดได้เกิดขึ้นเมื่อธนาคารปฏิเสธกาจ่ายเงินในวันที่ ๒๓ มกราคม ๒๕๐๕ ซึ่งยังไม่เกิด ๕ ปี นับแต่จำเลยพ้นโทษในคดีก่อน ย่อมเพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๒ ได้
พิพากษาแก้เฉพาะให้จำคุก ๑ เดือน เพิ่มโทษตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๔๒ อีกหนึ่งในสาม รวมเป็นจำคุก ๔๐ วันลดตามมาตรา ๗๘ กึ่งหนึ่ง คงจำคุก ๒๐ วัน