คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 10159-10160/2558

แหล่งที่มา : สำนักวิชาการ

ย่อสั้น

พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ ตาม พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 วรรคหนึ่งบัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จัดการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนธนาคารตามมาตรา 19 ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำการแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร และมาตรา 19 บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้แทนธนาคารในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการธนาคารจะมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหรือผู้จัดการเป็นผู้แทนก็ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับขณะที่โจทย์ยื่นฟ้องแตกต่างจากบทบัญญัติเดิมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 317 ข้อ 10 ที่แก้ไขความในมาตรา 23 ตามที่โจทก์บรรยายอ้างมาในฟ้องซึ่งวรรคหนึ่งบัญญัติว่า ให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารจะมอบหมาย และวรรคสองบัญญัติว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้จัดการเป็นผู้แทนธนาคารเพื่อการนี้ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารผู้ใดปฏิบัติกิจการใดแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร เมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเนื่องมาจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้ ข. ผู้จัดการมีอำนาจดำเนินการแทน และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาเพียงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้ ข. ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้ ข. ดำเนินการแทน ซึ่ง ข. จะมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ตาม พ.ร.บ.ธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้ ข. ดำเนินการแทนได้ การที่ ข. ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี

ย่อยาว

สำนวนแรก โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยคืนเงินค่าจ้างจำนวน 4,892,958.61 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ในต้นเงิน 4,716,571.78 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 1 มิถุนายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
สำนวนหลัง โจทก์ฟ้องให้จำเลยคืนเงินที่จำเลยเบิกค่ารักษาพยาบาลของตนเองและมารดาจำนวน 49,725.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อไป ในต้นเงิน 49,633.70 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 มิถุนายน 2550) จนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์
ศาลแรงงานกลางสั่งให้รวมพิจารณาเป็นคดีเดียวกัน
จำเลยทั้งสองสำนวนให้การขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงว่า นายขรรค์เป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ได้โดยชอบตามสำเนาหนังสือที่ออกโดยสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ลงวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 แล้ววินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง พิพากษาว่า ให้จำเลยคืนเงินตามฟ้อง คดีหมายเลขดำที่ 2553/2550 ที่รับไว้ตั้งแต่วันที่ 11 กันยายน 2545 เป็นต้นมา พร้อมดอกเบี้ยของต้นเงินดังกล่าวในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2549 ถึงวันฟ้องและต่อไปจนกว่าได้ชำระเสร็จ กับให้คืนเงินค่ารักษาพยาบาล 49,725.49 บาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงิน 49,633.70 บาท นับแต่วันฟ้อง (วันที่ 25 มิถุนายน 2550) ไปจนกว่าจะชำระเสร็จแก่โจทก์ คำขออื่นให้ยก
จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า มีปัญหาวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยว่านายขรรค์มีอำนาจฟ้องจำเลยแทนโจทก์หรือไม่ โดยจำเลยอ้างว่า เอกสารท้ายฟ้องหมายเลข 2 เป็นเพียงสำเนาหนังสือของรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีที่ปฏิบัติราชการแทนเลขาธิการคณะรัฐมนตรี มีไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังว่าคณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติแต่งตั้งนายขรรค์ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ต่อไปอีกวาระหนึ่งเท่านั้น เอกสารดังกล่าวไม่ใช่คำสั่งของคณะกรรมการธนาคารและไม่ใช่เอกสารยืนยันฐานะของนายขรรค์ตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยไว้ เห็นว่า ตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่ตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2549 ซึ่งประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 17 มกราคม 2549 บัญญัติว่า ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของธนาคารตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารมอบหมาย และมีอำนาจบังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของธนาคารทุกตำแหน่ง วรรคสองบัญญัติว่า ในกรณีที่ผู้จัดการได้รับมอบหมายให้เป็นผู้แทนธนาคารตามมาตรา 19 ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้บุคคลใดกระทำการแทนก็ได้ แต่ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร และมาตรา 19 บัญญัติว่า ให้คณะกรรมการธนาคารเป็นผู้แทนธนาคารในส่วนที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก แต่คณะกรรมการธนาคารจะมอบหมายให้คณะกรรมการบริหารหรือผู้จัดการเป็นผู้แทนก็ได้ ซึ่งบทบัญญัติดังกล่าวมีผลใช้บังคับในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้องแตกต่างจากบทบัญญัติเดิมตามประกาศของคณะปฏิวัติ ฉบับที่ 317 ข้อ 10 ที่แก้ไขความในมาตรา 23 ตามที่โจทก์บรรยายอ้างมาในฟ้องว่าให้ผู้จัดการมีอำนาจหน้าที่ตามที่คณะกรรมการธนาคารหรือคณะกรรมการบริหารจะมอบหมายและให้ได้รับเงินเดือนตามที่คณะกรรมการธนาคารกำหนด และวรรคสองบัญญัติว่า ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอก ผู้จัดการเป็นผู้แทนธนาคารเพื่อการนี้ผู้จัดการจะมอบอำนาจให้พนักงานของธนาคารผู้ใดปฏิบัติกิจการใดแทนก็ได้ แต่ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามข้อบังคับของธนาคาร ดังนั้นเมื่อจำเลยให้การต่อสู้ว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องอันเนื่องมาจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ไม่ได้มอบอำนาจให้นายขรรค์ผู้จัดการมีอำนาจดำเนินการแทน และศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงมาเพียงว่าคณะรัฐมนตรีมีมติแต่งตั้งให้นายขรรค์ดำรงตำแหน่งอีกวาระหนึ่งเมื่อวันที่ 7 พฤศจิกายน 2549 โดยไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้นายขรรค์ดำเนินการแทน ซึ่งนายขรรค์จะมีอำนาจกระทำการแทนโจทก์ในกิจการที่เกี่ยวกับบุคคลภายนอกได้ก็ต่อเมื่อได้รับมอบอำนาจจากคณะกรรมการธนาคารของโจทก์ตามพระราชบัญญัติธนาคารอาคารสงเคราะห์ พ.ศ.2496 มาตรา 23 ที่แก้ไขใหม่เมื่อไม่ปรากฏว่าคณะกรรมการธนาคารของโจทก์มอบอำนาจให้นายขรรค์ดำเนินการแทนได้ การที่นายขรรค์ฟ้องคดีนี้จึงเป็นการดำเนินการโดยไม่มีอำนาจ ถือว่าโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดี ที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์มีอำนาจฟ้องเพราะนายขรรค์เป็นกรรมการผู้จัดการที่มีอำนาจกระทำการแทนโจทก์โดยชอบ ศาลฎีกาไม่เห็นพ้องด้วย อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น ส่วนอุทธรณ์ข้ออื่นของจำเลยไม่จำต้องวินิจฉัย
พิพากษายกฟ้องโจทก์แต่ไม่ตัดสิทธิโจทก์ที่จะฟ้องใหม่ภายในอายุความ

Share