คำสั่งคำร้องที่ 105/2531

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ความว่า โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางสั่งว่า อุทธรณ์โจทก์เป็นอุทธรณ์ในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 54 จึงไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์
โจทก์เห็นว่า อุทธรณ์ของโจทก์ข้อ 2.2 เป็นปัญหาข้อกฎหมายว่าจำเลยในฐานะตัวแทนของนายจ้างต้องรับผิดในเงินค่าเสียหายหรือค่าขาดประโยชน์ต่อโจทก์แทนนายจ้างตามหลักในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 824 หรือไม่ โปรดมีคำสั่งให้รับอุทธรณ์ของโจทก์ไว้พิจารณาต่อไป
หมายเหตุ จำเลยแถลงคัดค้าน (อันดับ 64)
ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยใช้ค่าเสียหายให้โจทก์เป็นเงิน 75,000 บาท พร้อมทั้งดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีในต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องเป็นต้นไปจนกว่าชำระเสร็จ
โจทก์อุทธรณ์ ศาลแรงงานกลางมีคำสั่งดังกล่าว (อันดับ 57)
โจทก์จึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 62)

คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว เฉพาะประเด็นที่ว่าจำเลยเป็นนายจ้างของโจทก์และต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาจ้างหรือไม่นั้น ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่าโจทก์นำสืบไม่ได้ชัดแจ้งว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทจำเลยมาก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2529 ฟังได้เพียงว่า บริษัทจำเลยเป็นตัวแทนในประเทศไทยขององค์การเทคโนโลยีเซ็นเตอร์(แห่งประเทศลิเบีย) และกำหนดค่าเสียหายให้จำเลยชดใช้ให้โจทก์จำนวน 75,000 บาท ดังนั้น ที่โจทก์อุทธรณ์โต้แย้งว่าโจทก์เป็นลูกจ้างประจำของบริษัทจำเลยมาก่อนวันที่ 19 สิงหาคม 2529 และโจทก์ไปทำงานในประเทศลิเบียในฐานะลูกจ้างของบริษัทจำเลยโดยอ้างพยานหลักฐานต่าง ๆ ขึ้นสนับสนุน จึงเป็นอุทธรณ์ในข้อเท็จจริง ส่วนที่โจทก์อุทธรณ์ขอให้ศาลฎีกากำหนดจำนวนเงินค่าเสียหายให้โจทก์เป็นค่าขาดประโยชน์รวมเป็นเงินทั้งสิ้น399,900 บาท ก็เป็นการอุทธรณ์โต้เถียงดุลพินิจในการกำหนดค่าเสียหายของศาลแรงงานกลางเป็นอุทธรณ์ข้อเท็จจริงเช่นกัน อุทธรณ์โจทก์ต้องห้ามตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงานพ.ศ. 2522มาตรา 54 ศาลแรงงานกลางไม่รับอุทธรณ์ของโจทก์ชอบแล้ว ให้ยกคำร้อง

Share