แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ที่โจทก์อุทธรณ์ว่า การประเมินภาษีอากรไม่ชอบด้วยมาตรา ๔๙แห่ง ป.รัษฎากร เพราะมิได้รับอนุมัติจากอธิบดีนั้น แม้จะมิใช่ปัญหาที่ยกขึ้นว่ากันมาแล้วในศาลภาษีอากรกลาง แต่เป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน ศาลฎีกาจึงรับวินิจฉัยให้
คดีนี้เจ้าพนักงานประเมินมิได้ใช้วิธีพิเศษกำหนดจำนวนเงินได้สุทธิขึ้นเองโดยถือเงินหรือทรัพย์สินซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์หรือเข้ามาอยู่ในครอบครองของผู้มีเงินได้เป็นหลักในการพิจารณาซึ่งจะต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากรตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๔๙ แต่เป็นกรณีออกหมายเรียกตรวจสอบไต่สวนและแจ้งประเมินตามวิธีปกติตามมาตรา ๑๙, ๒๐, ๒๓, ๒๔ แห่ง ป.รัษฎากร จึงไม่ต้องได้รับอนุมัติจากอธิบดีกรมสรรพากร
โจทก์มอบเงินจำนวน ๑๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ให้ ด.ไปหาผลประโยชน์ร่วมกับบุคคลอื่น แล้ว ด.ได้นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นดังกล่าวไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงินจากบริษัทเงินทุนต่าง ๆ ต่อมา ด.จึงได้นำเงินมาคืนให้โจทก์จำนวน ๑๖,๓๐๑,๙๔๖.๔๘ บาท ซึ่งแม้โจทก์จะได้เงินเพิ่มขึ้นจากเดิมจำนวน๑,๓๐๑,๙๔๖.๔๘ บาท น่าเชื่อว่าเป็นเงินดอกเบี้ยจากตั๋วเงินที่ ด.นำเงินของโจทก์กับบุคคลอื่นไปซื้อตั๋วสัญญาใช้เงิน และโจทก์ก็อ้างว่า ด.ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้ว ซึ่งตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๕๐ ก็ได้บัญญัติให้บริษัทผู้จ่ายดอกเบี้ยตั๋วเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายไว้ เมื่อ ด.ในฐานะผู้จัดการของคณะบุคคลที่มอบหมายให้นำเงินไปหาผลประโยชน์ได้เสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้แล้ว โจทก์จึงไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้ในส่วนนี้อีก ตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๖, ๔๒ (๑๔) และ ๕๖ วรรคสุดท้าย
เช็คของขวัญที่โจทก์ได้รับในปี ๒๕๓๓ จำนวน ๔๖ ฉบับ รวมเป็นเงิน ๘๓,๑๐๒,๕๐๐ บาท นั้น โจทก์นำสืบว่า บริษัท ส.จำกัด มอบให้โจทก์เป็นค่าซื้อที่ดิน โดยบริษัท ส.รับเช็คของขวัญดังกล่าวมาจากลูกค้าของบริษัทอีกต่อหนึ่งเช่นนี้ แม้บริษัท ส.จะได้ซื้อที่ดินจากโจทก์เป็นเงินถึง ๘๕,๐๐๐,๐๐๐ บาทเศษดังที่โจทก์นำสืบจริง ก็ไม่มีเหตุผลใดที่บริษัท ส.จะต้องชำระค่าที่ดินให้โจทก์โดยใช้เช็คแบ่งย่อยออกเป็นหลายฉบับ โดยเฉพาะเป็นเช็คของขวัญที่มิใช่เช็คของบริษัทเองหรือแคชเชียร์เช็ค ซึ่งน่าจะใช้เป็นหลักฐานในการชำระเงินได้ดีกว่าดังนี้เมื่อพยานหลักฐานโจทก์พิรุธไร้น้ำหนักไม่น่าเชื่อ การที่เจ้าพนักงานประเมินและคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ถือว่าเงินตามเช็คดังกล่าวเป็นเงินได้พึงประเมินตาม ป.รัษฎากร มาตรา ๔๐ (๘) ของโจทก์จึงชอบแล้ว