คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5980-5981/2539

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. ซึ่งเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอ. ให้จำเลยที่1ซึ่งเป็นลูกจ้างไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอ. เพื่อนำไปส่งอีกที่หนึ่งถือว่าบริษัทอ.ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดน. แล้วจำเลยที่1หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่เมื่อจำเลยที่1ร่วมกับจำเลยที่2เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัดน. เป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ส่วนจำเลยที่2มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหายแม้ได้ร่วมกับจำเลยที่1ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างด้วยเพราะความเป็นลูกจ้างเป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่1จำเลยที่2จึงมีความผิดตามมาตรา335(1)(7)วรรคสาม,83เท่านั้น

ย่อยาว

คดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นพิจารณาพิพากษารวมกันโดยให้เรียกจำเลยในสำนวนแรกว่า จำเลยที่ 1 และเรียกจำเลยในสำนวนหลังว่าจำเลยที่ 2
โจทก์ฟ้องทั้งสองสำนวนว่า เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2536เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชล และจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกันลักทรัพย์น้ำยางพาราจำนวน 4,000 กิโลกรัม ราคา 60,000 บาท ซึ่งเป็นของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลไปโดยทุจริต เหตุเกิดที่ตำบลต้นยวน อำเภอพนมจังหวัดสุราษฎร์ธานี ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 334,335, 83
จำเลยทั้งสองให้การปฎิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยทั้งสองมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1), (7), (11) วรรคสาม, 83จำคุก คนละ 5 ปี จำเลยที่ 1 ให้การรับสารภาพชั้นสอบสวน จำเลยที่ 2ให้การชั้นสอบสวนเป็นประโยชน์แก่การพิจารณามีเหตุบรรเทาโทษลดโทษให้หนึ่งในสามตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 78 คงจำคุกคนละ 3 ปี 4 เดือน
จำเลย ทั้ง สอง อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ ภาค 3 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกาโดยผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ” พิเคราะห์แล้ว ข้อเท็จจริงฟังได้ในเบื้องต้นว่า จำเลยที่ 1 และนายนริศ วิเศษ เป็นลูกจ้างของห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลผู้เสียหายซึ่งประกอบกิจการรับขนส่งสินค้าประเภทของเหลว โดยจำเลยที่ 1 ทำหน้าที่ในตำแหน่งคนขับรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 70-0368 สุราษฎร์ธานี มีรถพ่วงหมายเลขทะเบียน 70-0369 สุราษฎร์ธานี พ่วงท้าย ส่วนนายนริศเป็นคนขับรถที่สองและเป็นผู้ช่วยของจำเลยที่ 1 ประจำรถ เมื่อวันที่28 พฤศจิกายน 2536 จำเลยที่ 1 กับคนขับรถคันอื่น ๆ รวม 4 คันของผู้เสียหายได้รับคำสั่งให้ไปบรรทุกน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ซึ่งอยู่ในเขตจังหวัดสุราษฎร์ธานีเพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต ต่อมาเช้าวันที่ 29พฤศจิกายน 2536 ซึ่งเป็นวันเกิดเหตุเจ้าหน้าที่ของท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ตได้โทรศัพท์แจ้งมายังผู้เสียหายว่า รถยนต์บรรทุกน้ำยางพารามาถึงแล้ว 3 คัน ยังขาดอีก 1 คัน คือคันที่จำเลยที่ 1ขับ ในวันเดียวกันนายกุศล หัถถการ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้จัดการของผู้เสียหายไปตรวจสถานที่ที่จำเลยที่ 1 นำรถยนต์บรรทุกไปจอดพบน้ำยางพาราถูกถ่ายใส่ถังน้ำขนาด 200 ลิตร จำนวน 20 ใบ จึงไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานตำรวจสถานีตำรวจภูธรอำเภอพนม แล้วนำเจ้าพนักงานตำรวจไปจับจำเลยที่ 1 ได้ ต่อมาพันตำรวจตรีบัญชาอินทะวงศ์ จับจำเลยที่ 2 ได้
ปัญหาต่อไปมีว่า จำเลยทั้งสองกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ได้ความจากคำเบิกความของนายนริศ วิเศษ พยานโจทก์ว่าพยานเป็นคนขับรถที่สองของผู้เสียหาย ในวันเกิดเหตุพยานได้ไปกับจำเลยที่ 1ด้วย จำเลยที่ 1 ได้ขับรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุไปบรรทุกน้ำยางพาราที่บริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด โดยมีรถพ่วงไปด้วยเพื่อที่จะนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต ระหว่างทางเมื่อมาถึงเขตอำเภอพนม เป็นเวลาประมาณ 17 นาฬิกา จำเลยที่ 1จอดรถไว้ข้างทางแล้วลงไปคุยกับชายอีกหลายคนประมาณ 1 ชั่วโมงจากนั้นจำเลยที่ 1 ขับรถต่อไปโดยมีชายคนหนึ่งขับรถยนต์กระบะนำหน้าขับไปได้ประมาณ 2 กิโลเมตร จำเลยที่ 1 ปลดรถพ่วงไว้ข้างทางแล้วขับรถยนต์บรรทุกที่ใช้ลากจูงเข้าไปในสวนยางพาราประมาณ 2 กิโลเมตรพบแท็งก์น้ำข้างทาง 1 ใบ และถังน้ำขนาด 200 ลิตร อีก 12 ใบจำเลยที่ 1 ได้สูบน้ำยางพาราจากรถยนต์บรรทุกเข้าแท็งก์น้ำและถังน้ำแล้วจำเลยที่ 1 ขับรถต่อไปอีกประมาณ 1 กิโลเมตร และสูบน้ำจากบ้านหลังหนึ่งเข้าถังน้ำยางพาราจนเต็มเท่าเดิมจากนั้นจำเลยที่ 1ขับรถกลับมาต่อรถพ่วงแล้วขับต่อไปอีกประมาณ 20 กิโลเมตร ก็ถูกเจ้าพนักงานตำรวจจับโดยนายกุศลเป็นผู้นำจับ ส่วนชายคนที่ขับรถยนต์กระบะนำหน้ารถของจำเลยที่ 1 คือจำเลยที่ 2 พยานเห็นจำเลยที่ 2 ตั้งแต่ตอนที่จำเลยที่ 2 คุยกับจำเลยที่ 2 ข้างทางจนถึงตอนขนถ่ายนำยางพาราโดยอาศัยแสงสว่างจากไฟฟ้าหน้าบ้านในบริเวณนั้น พยานจึงเล่าเรื่องให้นายกุศลฟัง เห็นว่า นายนริศอยู่ในรถคันที่จำเลยที่ 1 ขับตลอดเวลาตั้งแต่ตอนที่จำเลยที่ 1ขับรถไปบรรทุกน้ำยางพาราที่บริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ จำกัดจนถึงเวลาที่จำเลยที่ 1 ถูกจับ นายนริศย่อมมีโอกาสเห็นเหตุการณ์ได้อย่างใกล้ชิดเป็นเวลานานย่อมสามารถจดจำจำเลยทั้งสองได้แน่นอนนายนริศรู้จักกับจำเลยที่ 1 มาก่อน และไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกันส่วนจำเลยที่ 2 นั้นนายนริศไม่เคยรู้จัก จึงไม่น่าเชื่อว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยทั้งสอง ที่นายนริศยืนยันว่าจำเลยทั้งสองมีพฤติการณ์ร่วมกันขนถ่ายเอาน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปแล้วสูบน้ำใส่แทนนั้นน่าเชื่อว่าเป็นความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำเบิกความของนายนริศนี้โจทก์มีนายกุศลและพนักงานสอบสวนเบิกความสนับสนุนเชื่อมโยงและมีความสอดคล้องต้องกันกับคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ซึ่งให้การรับสารภาพตามเอกสารหมาย จ.21นอกจากนี้จำเลยที่ 1 ยังได้นำชี้จุดที่จำเลยที่ 1 นำรถไปถ่ายน้ำยางพารา จุดที่จำเลยที่ 1 นำรถไปเติมน้ำและจุดที่รถติดหล่มหลังจากเติมน้ำเข้าถังบรรจุน้ำยางพาราแล้ว ดังปรากฏตามบันทึกการนำชี้ที่เกิดเหตุประกอบคำรับสารภาพเอกสารหมาย จ.22 ด้วยเช่นนี้พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 มีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 1 ได้ลักน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปจริง สำหรับจำเลยที่ 2 นั้น นอกจากโจทก์จะมีนายนริศเป็นประจักษ์พยานยืนยันว่า จำเลยที่ 2 มีพฤติการณ์ร่วมกันขนถ่ายเอาน้ำยางพาราของผู้เสียหายไปแล้วสูบเอาน้ำใส่แทนดังที่ศาลฎีกาได้หยิบยกขึ้นมาวินิจฉัยดังกล่าวข้างต้น ยังได้ความจากคำเบิกความของพันตำรวจตรีบัญชา อินทะวงศ์ พยานโจทก์อีกว่าพยานเป็นผู้จับจำเลยที่ 2 โดยจับตามหมายจับเอกสารหมาย จ.15ขณะจับพยานแจ้งข้อหาแก่จำเลยที่ 2 ว่า ร่วมกับจำเลยที่ 1ลักทรัพย์ของผู้เสียหาย ปรากฎว่าจำเลยที่ 2 ให้การรับสารภาพตามบันทึกการจับกุมเอกสารหมาย จ.16 พันตำรวจตรีบัญชาไม่เคยมีสาเหตุโกรธเคืองกับจำเลยที่ 2 มาก่อน ไม่น่าเชื่อว่าจะกลั่นแกล้งเบิกความปรักปรำจำเลยที่ 2 จึงเชื่อว่าจำเลยที่ 2 ได้ให้การรับสารภาพชั้นจับกุมโดยสมัครใจอันเป็นคำรับที่ทำให้ตนเสียประโยชน์ย่อมมีน้ำหนักรับฟังได้เมื่อพิจารณาประกอบคำให้การรับสารภาพในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 1 ตามเอกสารหมาย จ.20 ถึง จ.22 ซึ่งมีข้อเท็จจริงว่าจำเลยที่ 2 ได้ร่วมกระทำความผิดของจำเลยที่ 1ด้วยและจากคำให้การในชั้นสอบสวนของจำเลยที่ 2 เองก็รับว่าได้ร่วมไปกับจำเลยที่ 1 ในขณะที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกเข้าไปในสวนยางพาราแล้วจำเลยที่ 1 ได้ถ่ายน้ำยางพาราออกจากรถลงใส่ถังเช่นนี้ พยานหลักฐานของโจทก์ที่นำสืบมามีน้ำหนักฟังได้ว่าจำเลยที่ 2ได้ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ตามฟ้องจริง พยานหลักฐานของจำเลยทั้งสองไม่มีน้ำหนักพอที่จะรับฟังหักล้างพยานหลักฐานของโจทก์ได้
ปัญหาต่อไปมีว่าสมควรลงโทษจำเลยทั้งสองในสถานเบาและรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสองหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่าศาลล่างทั้งสองได้ใช้ดุลพินิจในการกำหนดโทษจำเลยทั้งสองเหมาะสมแก่รูปคดีแล้วและเมื่อคำนึงถึงสภาพความผิดและพฤติการณ์แห่งคดีไม่สมควรรอการลงโทษให้แก่จำเลยทั้งสอง ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วส่วนที่จำเลยทั้งสองฎีกาว่า น้ำยางพาราเป็นของบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลจึงไม่ใช่ผู้เสียหายไม่มีอำนาจร้องทุกข์นั้น เห็นว่า ข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลเป็นผู้รับขนส่งน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด เพื่อนำไปส่งที่ท่าเรือน้ำลึกจังหวัดภูเก็ต การที่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลให้จำเลยที่ 1 ไปรับน้ำยางพาราจากบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์จำกัด ถือว่าบริษัทอินเตอร์รับเบอร์ลาเท็กซ์ จำกัด ได้มอบการครอบครองน้ำยางพาราดังกล่าวให้แก่ห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลแล้วจำเลยที่ 1 หาได้รับมอบการครอบครองน้ำยางพารานั้นด้วยไม่จำเลยที่ 1 ร่วมกับจำเลยที่ 2 เอาน้ำยางพาราไปในระหว่างการขนส่งห้างหุ้นส่วนจำกัดนพชลย่อมเป็นผู้เสียหายในฐานะเป็นผู้ครอบครองดูแลรักษาน้ำยางพาราจึงมีอำนาจร้องทุกข์ ฎีกาทุกข้อของจำเลยทั้งสองฟังไม่ขึ้น
อนึ่ง จำเลยที่ 2 มิได้เป็นลูกจ้างของผู้เสียหาย การที่จำเลยที่ 2 ร่วมกับจำเลยที่ 1 ลักทรัพย์ของผู้เสียหายในเวลากลางคืนจำเลยที่ 2 ย่อมมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 225(1)(7)วรรคสาม, 83 เท่านั้น แม้จำเลยที่ 1 จะเป็นลูกจ้างของผู้เสียหายก็ตาม จำเลยที่ 2 ก็ไม่มีความผิดฐานลักทรัพย์ของนายจ้างตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(11) ทั้งนี้เพราะความเป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 1 เป็นเหตุเฉพาะตัวของจำเลยที่ 1 จึงมิได้มีผลถึงจำเลยที่ 2 ด้วย ที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษาว่าจำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 335(1)(7)(11) วรรคสาม, 83นั้นไม่ถูกต้อง ศาลฎีกาเห็นสมควรแก้ไข”
พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยที่ 2 มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 335(1)(7) วรรคสาม, 83 นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค 3

Share