คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3995/2542

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนที่ได้รับการ ยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้าง จำต้องมีลักษณะเข้าข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ กล่าวคือนายจ้างและลูกจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้างด้วย จำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์เป็นหนังสือตั้งแต่แรกที่เริ่มจ้างแต่เพิ่งจะมาทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือในภายหลัง จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่ มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทย ข้อ 46 วรรคสี่ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ จึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ7.5 ต่อปี นับแต่วันเลิกจ้างซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ การเลิกจ้างที่ต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 582 วรรคหนึ่งต้องเป็นการจ้างที่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดระยะเวลาจ้างลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าใด จำเลยจ้างโจทก์โดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีกำหนด ระยะเวลาจ้างไว้และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ในวันที่ครบกำหนดใน สัญญาจ้าง จำเลยจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการ เลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

ย่อยาว

คดีทั้งยี่สิบสามสำนวนนี้ ศาลแรงงานกลางมีคำสังให้รวมพิจารณาพิพากษาเข้าด้วยกัน โดยเรียกโจทก์เรียงตามลำดับสำนวนว่า โจทก์ที่ 1 ถึงโจทก์ที่ 23
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนฟ้องว่า เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2540 จำเลยในฐานะประธานกรรมการผู้ชำระบัญชีขององค์การเหมืองแร่ในทะเลกับคณะได้มีมติให้จ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเข้าทำงานเป็นลูกจ้างทำหน้าที่เกี่ยวกับการเงินและการชำระบัญชี ต่อมาจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามโดยโจทก์ทั้งยี่สิบสามไม่มีความผิดและไม่บอกกล่าวล่วงหน้า โจทก์ทั้งยี่สิบสามมีสิทธิได้รับค่าชดเชยตามอายุงานและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า นอกจากนี้การเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามดังกล่าวเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม ทำให้โจทก์ทั้งยี่สิบสามได้รับความเสียหายขอให้บังคับจำเลยจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหนา และค่าเสียหายเนื่องจากการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามพร้อมดอกเบี้ยตามกฎหมายนับแต่วันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จตามตารางท้ายคำฟ้อง
จำเลยทั้งยี่สิบสามสำนวนให้การว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างขององค์การเหมืองแร่ในทะเล จำเลยไม่ใช่นายจ้างของโจทก์ทั้งยี่สิบสาม เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2540 ได้มีพระราชกฤษฎีกาให้ยุบองค์การเหมืองแร่ในทะเลมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 และคณะรัฐมนตรีมีมติให้องค์การเหมืองแร่ในทะเลชำระบัญชีให้เสร็จภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2540 ต่อมาขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 กันยายน 2541 ในการนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมได้ตั้งคณะกรรมการผู้ชำระบัญชีโดยมีจำเลยซึ่งเป็นอธิบดีกรมทรัพยากรธรณีเป็นประธานกรรมการจำเลยได้ลงนามในหนังสือว่าจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นลูกจ้างชั่วคราวระหว่างชำระบัญชีโดยกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนต่อมาได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเมื่อครบกำหนดตามที่ระบุในสัญญาการชำระบัญชีขององค์การเหมืองแร่ในทะเลเป็นงานในโครงการเฉพาะไม่ใช่งานปกติของธุรกิจที่มีกำหนดเวลาเริ่มและสิ้นสุดแน่นอนและเป็นงานอันมีลักษณะเป็นครั้งคราวมีกำหนดสิ้นสุดไม่เกินสองปีเข้าข้อยกเว้นที่นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย โจทก์ทั้งยี่สิบสามทราบดีก่อนเข้าทำสัญญาเป็นลูกจ้างชั่วคราว การเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงเป็นธรรมแล้ว ขอให้ยกฟ้อง
ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยว่า จำเลยอยู่ในฐานะนายจ้าง โจทก์ทั้งยี่สิบสามมีอำนาจฟ้องจำเลยส่วนการชำระบัญชีขององค์การเหมืองแร่ในทะเลเกิดขึ้นโดยสภาพบังคับตามบทบัญญัติของพระราชกฤษฎีกายุบเลิกองค์การเหมืองแร่ในทะเล และคณะรัฐมนตรีมีมติให้องค์การเหมืองแร่ในทะเลชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นภายในวันที่ 30 ธันวาคม 2540ดังนั้น สภาพของงานชำระบัญชีจึงเป็นงานโครงการเฉพาะกิจที่มิใช่งานปกติในธุรกิจหรือการค้าขององค์การเหมืองแร่ในทะเล และอาจกำหนดเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอนได้ การชำระบัญชีอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้เสร็จในเวลาไม่เกิน 2 ปี จำเลยกระทำการแทนองค์การเหมืองแร่ในทะเลจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเพื่อช่วยชำระบัญชีในงานโครงการเฉพาะกิจที่มิใช่งานอันเป็นปกติธุรกิจหรือการค้าขององค์การเหมืองแร่ในทะเล มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดของสัญญาจ้างแน่นอนและระยะเวลาจ้างไม่เกิน 2 ปี ทั้งเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเมื่อครบกำหนดตามสัญญาจำเลยจึงไม่ต้องจ่ายค่าชดเชย สินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม พิพากษายกฟ้อง
โจทก์ทั้งยี่สิบสามสำนวนอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา
ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งยี่สิบสามอุทธรณ์ข้อแรกว่า องค์การเหมืองแร่ในทะเลมีทรัพย์สินและหนี้สินจำนวนมากมีมูลค่าหลายร้อยล้านบาทต้องขยายระยะเวลาการชำระบัญชีออกไปเป็นช่วง ๆระยะเวลาผ่านมาเกือบ 2 ปีแล้ว แต่ไม่มีทีท่าว่าจะชำระบัญชีเสร็จ ประกอบกับมีการต่ออายุสัญญาออกไปคราวละ 3 เดือนหลายครั้ง สัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามจึงไม่เป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและระยะเวลาสิ้นสุดของงานไว้แน่นอน ถือไม่ได้ว่าเป็นสัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนนั้น ประเด็นนี้ศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงเป็นยุติว่า เดิมจำเลยจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามทำงานตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2540 โดยมิได้ทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือต่อมาภายหลังจึงได้เริ่มทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นหนังสือฉบับแรกตามสัญญาจ้างที่มีกำหนดเวลาจ้างตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2540 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2540 เมื่อสัญญาจ้างดังกล่าวถึงกำหนดจำเลยเลิกจ้างโจทก์ที่ 1 และโจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 19 ส่วนโจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 20 ถึงโจทก์ที่ 23 จำเลยทำสัญญาจ้างต่อไปอีกรวมคนละ 3 ครั้งแล้ว จึงเลิกจ้างโจทก์ดังกล่าว เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2541 ซึ่งเป็นวันครบกำหนดสัญญาจ้างฉบับสุดท้าย คณะรัฐมนตรีมีมติกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการชำระบัญชีขององค์การเหมืองแร่ในทะเลไว้ชัดเจน และนโยบายของรัฐได้แสดงแจ้งชัดถึงกรอบเวลาการชำระบัญชีไม่เกิน 2 ปี ทั้งปริมาณงานตลอดจนหนี้สินที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามกล่าวอ้างมิใช่อุปสรรคที่ทำให้ไม่อาจกำหนดเวลาชำระบัญชีให้เสร็จสิ้นได้แน่นอนเชื่อว่าการชำระบัญชีอยู่ในวิสัยที่สามารถทำได้เสร็จในเวลาไม่เกิน 2 ปี ศาลฎีกาเห็นว่า สัญญาจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนที่จะได้รับการยกเว้นไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้างนั้นจำต้องมีลักษณะเข้าข้อกำหนดตามประกาศกระทรวงมหาดไทย เรื่อง การคุ้มครองแรงงาน ข้อ 46 วรรคสี่ด้วย กล่าวคือนายจ้างและลูกจ้างจะต้องทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง เมื่อจำเลยไม่ได้ทำสัญญาจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามเป็นหนังสือตั้งแต่แรกที่เริ่มจ้างในวันที่ 1 เมษายน 2540 แต่เพิ่งจะมาทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือฉบับแรกในวันที่ 1 พฤษภาคม 2540 จึงถือไม่ได้ว่าเป็นการจ้างที่มีกำหนดระยะเวลาการจ้างไว้แน่นอนตามประกาศกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแม้ข้อเท็จจริงจะเป็นตามที่ศาลแรงงานกลางวินิจฉัยทุกประการก็ยังไม่เข้าข้อยกเว้นของกฎหมายดังกล่าวเมื่อจำเลยเลิกจ้างจึงต้องจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ทั้งยี่สิบสามพร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีนับแต่วันเลิกจ้างซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ ส่วนที่โจทก์ทั้งยี่สิบสามอุทธรณ์ข้อสุดท้ายว่า เคยปรากฏตัวอย่างการชำระบัญชีขององค์การเหมืองแร่ในทะเลที่ยุบเลิกไปแล้วใช้เวลาชำระบัญชีถึง 9 ปีเศษ ซึ่งลักษณะงานและสภาพขององค์การคล้ายกับกิจการขององค์การเหมืองแร่ในทะเล โจทก์ทั้งยี่สิบสามเชื่อว่ามีโอกาสทำงานกับจำเลยไปอีกนานจึงมิได้เตรียมตัวหางานสำรองไว้ เมื่อจำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามภายหลังจากระยะเวลาการจ้างเดิมสิ้นสุดไปแล้วจำเลยจึงมีหน้าต้องจ่ายสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และถือว่าเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เห็นว่า การเลิกจ้างที่จะต้องมีการบอกกล่าวล่วงหน้าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 582 วรรคหนึ่งนั้นจะต้องเป็นการจ้างที่คู่สัญญาไม่ได้กำหนดลงไว้ในสัญญาว่าจะจ้างกันนานเท่าไร เมื่อศาลแรงงานกลางฟังข้อเท็จจริงยุติแล้วว่า จำเลยจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามโดยทำสัญญาจ้างเป็นหนังสือมีกำหนดระยะเวลาจ้างไว้และจำเลยได้เลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามในวันที่ครบกำหนดในสัญญาจ้างเช่นนี้จึงเป็นกรณีที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ทั้งยี่สิบสามตามข้อกำหนดในสัญญาจ้างดังกล่าวจึงไม่จำต้องบอกกล่าวล่วงหน้าและไม่เป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม
พิพากษาแก้เป็นว่า ให้จำเลยจ่ายค่าชดเชยแก่โจทก์ที่ 1 ถึง โจทก์ที่ 23 จำนวน16,950 บาท 57,330 บาท 29,750 บาท 16,950 บาท 10,730 บาท 23,020 บาท16,950 บาท23,020 บาท 23,020 บาท 11,990 บาท 10,150 บาท 7,210 บาท11,340 บาท 23,020 บาท15,990 บาท 17,990 บาท 16,950 บาท 21,620 บาท17,990 บาท 123,360 บาท 119,190 บาท73,560 บาท และ 53,970 บาท ตามลำดับ พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี ของต้นเงินแต่ละจำนวนดังกล่าวนับแต่วันเลิกจ้าง(โจทก์ที่ 1 และ โจทก์ที่ 3 ถึงโจทก์ที่ 19 วันที่ 31 กรกฎาคม 2540โจทก์ที่ 2 และโจทก์ที่ 20 ถึงโจทก์ที่ 23 วันที่ 31 มีนาคม 2541) ซึ่งเป็นวันผิดนัดเป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จนอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลแรงงานกลาง

Share