แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ
ย่อสั้น
จำเลยเชื่อ โดยสุจริตว่าผู้เสียหายลักสติกเกอร์ ราคา 1 บาท ของห้างฯ ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ดูแล กิจการอยู่ไป การที่จำเลยเรียกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับแก่ห้างฯ จำนวน 30 บาท มิฉะนั้นจะส่งตัวให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น เป็นกรณีที่จำเลยชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายในทางอาญาได้ คำพูดของจำเลยดังกล่าวเท่ากับเป็นข้อเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายเพื่อตกลงเลิกคดีตามที่ห้างฯถือปฏิบัติ จึงไม่เป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหาย จำเลยไม่มีความผิดฐานกรรโชก.
ย่อยาว
โจทก์ฟ้องว่า จำเลยกับพวกร่วมกันข่มขืนใจผู้เสียหายให้ยอมมอบเงินจำนวน 30 บาท แก่จำเลย หากไม่ยอมจำเลยกับพวกจะจับกุมผู้เสียหายส่งให้เจ้าพนักงานตำรวจดำเนินคดีฐานลักทรัพย์จนผู้เสียหายเกิดความกลัวจึงยอมมอบเงิน 30 บาท ให้จำเลยกับพวกไปขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 83,337 และให้จำเลยคืนเงิน30 บาท ให้ผู้เสียหาย
จำเลยปฏิเสธ
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 83,337 จำคุก 6 เดือน จำเลยเป็นหญิงไม่เคยต้องโทษมาก่อนโทษจำคุกให้รอไว้ 1 ปี ให้จำเลยคืนเงิน 30 บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงในเบื้องต้นฟังได้ว่าในวันเวลาเกิดเหตุ ขณะที่ผู้เสียหายกำลังจะออกไปจากห้างสรรพสินค้า องค์วิศิษฐนางสาวนาฏยาได้ขอตรวจค้นผู้เสียหายพบสติกเกอร์ แผ่นเล็ก 1 แผ่นราคา 1 บาท ซึ่งไม่ได้ชำระเงิน รวมอยู่ในถุงใส่สิ่งของที่ผู้เสียหายซื้อจากห้าง นางสาวนาฏยาจึงบอกผู้เสียหายว่าลักเอาสติกเกอร์ดังกล่าวไปจะต้องเสียค่าปรับ 50 บาท และพาผู้เสียหายไปที่โต๊ะของนางสาวสุนันพนักงานเก็บเงินเพื่อให้ชำระค่าปรับ พอดีจำเลยเดินมาพบเข้าและบอกให้ปรับผู้เสียหายเพียง 30 บาท นางสาวสุนันจึงปรับ 30 บาทและออกใบเสร็จรับเงินให้ผู้เสียหายตามเอกสารหมาย จ.1 ต่อมานางสว่างจิตต์มารดาผู้เสียหามาต่อว่าที่ห้าง นายเฉลิมชัยผู้จัดการห้างชี้แจงให้ฟัง แต่มารดาผู้เสียหายไม่ยอมรับฟังนายเฉลิมชัยจึงให้พนักงานเก็บเงินคืนเงินค่าปรับให้ผู้เสียหายซึ่งตามคำฟ้องก็รับว่าจำเลยคืนเงินให้ผู้เสียหายไปแล้ว หลังจากนั้นก็ได้มอบให้พนักงานสอบสวนดำเนินคดีแก่ผู้เสียหาย แต่พนักงานสอบสวนเห็นว่าผู้เสียหายไม่มีเจตนาลักทรัพย์ ได้มีความเห็นควรสั่งไม่ฟ้องตามรายงานการสอบสวนเอกสารสารบาญที่ 29 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยมีว่าจำเลยได้กระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ ข้อนี้เด็กหญิงวันวิสาเกียรติณรงค์รบ ผู้เสียหายเบิกความว่า เมื่อนางสาวนาฏยาพาผู้เสียหายมาที่โต๊ะของนางสาวสุนันพนักงานเก็บเงินและบอกว่าผู้เสียหายลักเอาสติกเกอร์แผ่นเล็กไปจะต้องเสียค่าปรับ 50 บาท ผู้เสียหายปฏิเสธโดยอ้างว่านางสาวนาฏยาแถมให้ และได้ถามว่าสติกเกอร์นั้นราคาเท่าไรผู้เสียหายจะจ่ายเงินให้พอดีจำเลยเดินเข้ามาและพูดว่าจะปรับผู้เสียหาย 30 บาท ถ้าไม่ให้จะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจผู้เสียหายกลัว จึงยอมให้เงิน 30 บาท พนักงานเก็บเงินได้ออกใบเสร็จรับเงินให้ตามเอกสารหมาย จ.1 เห็นว่า กรณีตามที่โจทก์จำเลยนำสืบมีเหตุที่จำเลยเชื่อโดยสุจริตว่าผู้เสียหายได้ลักเอาสติกเกอร์ของห้างสรรพสินค้าองค์วิศิษฐ์ซึ่งจำเลยมีหน้าที่ช่วยดูแลกิจการอยู่ไป เพราะใบเสร็จรับเงินค่าสิ่งของที่ผู้เสียหายซื้อไม่มีรายการชำระค่าสติกเกอร์ดังกล่าว ทั้งห้างก็ไม่เคยให้ของแถมเป็นสติกเกอร์การที่จำเลยบอกให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับให้ห้าง 30 บาท ถ้าไม่ยอมเสียค่าปรับ จะส่งตัวผู้เสียหายให้เจ้าพนักงานตำรวจนั้น พฤติการณ์เช่นนี้ยังถือไม่ได้ว่าเป็นการข่มขืนใจหรือขู่เข็ญผู้เสียหายจนผู้เสียหายให้เงิน 30 บาท เพราะจำเลยมีหน้าที่ดูแลกิจการของห้างชอบที่จะใช้สิทธิตามกฎหมายดำเนินคดีแก่ผู้เสียหายทางอาญาในความผิดฐานลักทรัพย์ได้ การที่จำเลยให้ผู้เสียหายเสียค่าปรับตามที่ห้างได้ถือปฏิบัติเท่ากับเสนอให้ชดใช้ค่าเสียหายอันเป็นข้อแลกเปลี่ยนเพื่อตกลงเลิกคดีกัน จำเลยจึงไม่มีความผิดฐานกรรโชกตามฟ้องศาลอุทธรณ์พิพากษาชอบแล้ว ฎีกาของโจทก์ฟังไม่ขึ้น”
พิพากษายืน.