คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9302/2539

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1312เป็นบทบัญญัติเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่นแต่ตามข้อเท็จจริงในคดีนี้ปรากฎว่าจำเลยสร้างโรงเรือนลงในที่ดินก่อนที่จะมีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมขณะปลูกสร้างยังไม่ทราบว่ามีการรุกล้ำกันอย่างไรหรือไม่หลังจากแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแล้วจึงทราบว่าส่วนที่เป็นครัวของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของก. ซึ่งที่ดินส่วนของก.นี้ต่อมาได้ขายให้แก่โจทก์จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการหากแต่เกิดจากการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมกรณีตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา1312ดังกล่าวข้างต้น ก่อนมีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่างมีข้อตกลงกันให้เจ้าของรวมแต่ละคนรื้อถอนบ้านสิ่งปลูกสร้างไปปลูกในที่ดินส่วนของตนซึ่งทั้งก. และส. เจ้าของรวมต่างก็ได้รื้อถอนบ้านจากที่เดิมไปปลูกในที่ดินส่วนของตนแล้วคงเหลือแต่จำเลยเท่านั้นที่ยังไม่ได้รื้อถอนครัวที่รุกล้ำแม้จำเลยจะอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยเพราะจำเลยมิได้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเพียงแต่มีสิทธิในที่ดินส่วนของท. ก็ตามแต่การที่จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวได้ต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของท.เจ้าของรวมคนหนึ่งและแม้จำเลยจะปลูกสร้างโรงเรือนมาตั้งแต่ปี2502และครัวที่รุกล้ำปลูกสร้างมาก่อนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็หาทำให้ข้อตกลงในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม่ผูกพันจำเลยไม่เมื่อก.เจ้าของที่ดินเดิมและโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกไปจำเลยจึงไม่มีสิทธิใดๆในที่ดินของโจทก์

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2536 โจทก์ซื้อที่ดินโฉนดเลขที่ 4914 เลขที่ดิน 4 หน้าสำรวจ 947 ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก จากนางกอบ ทรัพย์อยู่ ที่ดินแปลงดังกล่าวจำเลยปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 9 ตารางวาโจทก์ไม่ประสงค์จะให้จำเลยปลูกโรงเรือนรุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ จึงบอกกล่าวให้จำเลยและบริวารรื้อถอนโรงเรือนที่รุกล้ำออกไป แต่จำเลยและบริวารเพิกเฉย ขอให้บังคับจำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ออกไปและห้ามจำเลยเกี่ยวข้องกับที่ดินของโจทก์อีกต่อไป จำเลยให้การและฟ้องแย้งว่า เดิมที่ดินตามที่โจทก์ฟ้องเป็นที่ดินแปลงใหญ่มีผู้มีสิทธิครอบครอง 3 คน คือ นางล้อม ปั้นอ่วม นายงัว ทรัพย์อยู่ ต่อมานางกอบ ทรัพย์อยู่ ลูกสะใภ้นายเปิ้นและนางทุเรียน วันพุธ ซึ่งเป็นหลานของนางล้อมได้นำที่ดินแปลงดังกล่าวไปออกโฉนดที่ดินเป็นโฉนดที่ดินเลขที่ 4914 ตำบลตากออก อำเภอบ้านตาก จังหวัดตาก นางกอบและนางทุเรียนได้จดทะเบียนใส่ชื่อนายสอง ทรัพย์อยู่ บุตรนายงัวเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมอีก 1 คน รวมเป็น 3 คน ครั้นวันที่ 11 กันยายน2533 นางกอบ นางทุเรียน และนายสองได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมที่สำนักงานที่ดินจังหวัดตาก ก่อนที่จะมีการออกโฉนดที่ดินจำเลยได้ปลูกสร้างโรงเรือนในที่ดินแปลงดังกล่าวเมื่อประมาณปี 2502 โดยไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือคัดค้าน แม้จะมีการออกโฉนดและแบ่งแยกกรรมสิทธิ์แล้วก็ไม่มีผู้ใดโต้แย้งหรือคัดค้านจำเลยปลูกสร้างโรงเรือนนี้มาโดยสุจริต ต่อมานางกอบ ได้ขายที่ดินเฉพาะส่วนของตนให้โจทก์ ก่อนซื้อโจทก์ทราบดีว่าบ้านที่จำเลยปลูกรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนางกอบแต่โจทก์ยังซื้อการซื้อขายระหว่างโจทก์กับนางกอบไม่สุจริต โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยสร้างโรงเรือนที่พิพาท จำนวน 9 ตารางวา มากว่า 30 ปีแล้วจำเลยย่อมได้รับความคุ้มครองตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา 1312 จำเลยจึงมีสิทธิใช้ที่ดินพิพาทโดยให้ค่าที่ดินพิพาท ขอให้ยกฟ้อง และขอให้บังคับโจทก์ไปจดทะเบียนภาระจำยอมมีกำหนดเวลาตลอดอายุของโรงเรือนโดยจำเลยยอมให้ค่าที่ดินเดือนละ10 บาท หากโจทก์ไม่ยอมไปจดทะเบียนภาระจำยอม จำเลยขอถือเอาคำพิพากษาของศาลเป็นการแสดงเจตนาแทนโจทก์
โจทก์ให้การแก้ฟ้องแย้งว่า จำเลยปลูกโรงเรือนในที่ดินดังกล่าวโดยอาศัยสิทธิการครอบครองในส่วนของนางล้อมซึ่งเป็นย่าของจำเลยต่อมานางล้อมตาย ที่ดินส่วนของนางล้อมตกแก่นางทุเรียนและจำเลย ที่ดินส่วนของนายเปิ้น ทรัพย์อยู่ตกแก่นางกอบ ทรัพย์อยู่ ที่ดินส่วนของนายงัว ทรัพย์อยู่ตกแก่นายสอง ทรัพย์อยู่ ทุกคนครอบครองที่ดินร่วมกันโดยมิได้แบ่งแยกกรรมสิทธิ์ต่อมานางกอบและนางทุเรียนได้ขอออกโฉนดที่ดินแปลงใหญ่โดยถือกรรมสิทธิ์ร่วมกันและนายสองได้จดทะเบียนระบุชื่อตนเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินแปลงใหญ่รวมเป็น 3 คน โดยจำเลยมิได้โต้แย้ง แต่มีข้อตกลงกันทั้งสามฝ่ายว่าจำเลยได้ที่ดินในส่วนของนางล้อมร่วมกับนางทุเรียนด้วยเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2533 นางกอบ นางทุเรียนและนายสองได้แบ่งที่ดินออกเป็น 3 แปลง ซึ่งจำเลยก็ทราบดีหลังจากรังวัดแบ่งแยกแล้ว โรงเรือนของจำเลยรุกล้ำที่ดินของนางกอบ จำเลยตกลงจะรื้อถอนออกไปเนื่องจากจำเลยมีสิทธิในส่วนของนางทุเรียนแต่ภายหลังจำเลยไม่รื้อถอน การครอบครองที่ดินส่วนที่รุกล้ำจึงเป็นการครอบครองโดยไม่สุจริตตั้งแต่วันที่ทำการรังวัดแบ่งแยก โจทก์ไม่สามารถจดทะเบียนภาระจำยอมแก่จำเลยได้จำเลยไม่มีสิทธิปลูกโรงเรือนรุกล้ำที่ดินโจทก์อีกต่อไป ขอให้ยกฟ้องแย้ง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยและบริวารรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ออกไป ยกฟ้องแย้ง
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 2 พิพากษายืน
จำเลย ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงฟังได้เป็นยุติตามที่ศาลอุทธรณ์ภาค 2 ฟังมาว่า ที่พิพาทเป็นส่วนหนึ่งของที่ดินที่นางล้อม นายงัว และนายเปิ้นมีสิทธิครอบครอง ต่อมาที่ดินดังกล่าวเป็นมรดกตกทอดโดยที่ดินส่วนของนางล้อมตกได้แก่นางทุเรียนและจำเลย ที่ดินส่วนของนายงัวตกได้แก่นายสองและที่ดินส่วนของนายงัวตกได้แก่นายสอง และที่ดินส่วนของนายเปิ้นตกได้แก่นางกอบ ต่อมานางทุเรียน และนางกอบได้ขอออกโฉนดที่ดินดังกล่าวและได้ระบุชื่อนายสองเป็นผู้ถือกรรมสิทธิ์ร่วมด้วย ก่อนขอออกโฉนดที่ดินมีบ้านนางทุเรียนจำเลยนางกอบ นายสอง และนายสนบุตร นายสอง ปลูกอยู่ในที่ดินรุกล้ำดังกล่าวมิได้เกิดจากการที่จำเลยเป็นผู้สร้างโรงเรือนดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 กันยายน 2533 นางทุเรียน นางกอบและนายสองได้จดทะเบียนแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ปรากฎว่าบ้านของนางกอบอยู่ในส่วนที่ดินของนายสองบ้านของนายสองอยู่ในที่ดินส่วนของนางกอบ บ้านของจำเลยอยู่ในที่ดินของนายสองแต่ครัวล้ำเข้าไปในที่ดินส่วนของนางกอบเป็นเนื้อที่ประมาณ 9ตารางวา ซึ่งเป็นที่พิพาทในคดีนี้ นางกอบและนายสองต่างได้รื้อถอนบ้านของตนจากที่เดิมนำไปปลูกสร้างในที่ดินตามส่วนที่มีการแบ่งแยกแล้ว ส่วนนายสนได้รื้อถอนบ้านไปปลูกในที่ดินแปลงอื่น ต่อมานางกอบได้ขายที่ดินส่วนของตนให้โจทก์ มีปัญหาที่ต้องวินิจฉัยว่า กรณีตามข้อเท็จจริงดังกล่าวอยู่ในบังคับแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312 หรือไม่ ศาลฎีกาเห็นว่า มาตรา 1312 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นบทบัญญัติเรื่องที่ผู้มีสิทธิในที่ดินสร้างโรงเรือนรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของผู้อื่น แต่ตามข้อเท็จจริงคดีนี้ปรากฎว่าจำเลยสร้างโรงเรือนลงในที่ดินก่อนที่จะมีการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม ขณะปลูกสร้างยังไม่ทราบว่ามีการรุกล้ำกันอย่างไรหรือไม่ หลังจากแบ่งกรรมสิทธิ์รวมแล้วจึงทราบว่าส่วนที่เป็นครัวของจำเลยรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของนางกอบซึ่งที่ดินส่วนของนางกอบนี้ต่อมาได้ขายให้แก่โจทก์ จึงเป็นที่เห็นได้ว่าการรุกล้ำดังกล่าวมิได้เกิดจากการที่จำเลยเป็นผู้สร้างโรงเรือน หากแต่เกิดจากการแบ่งกรรมสิทธิ์รวม กรณีตามข้อเท็จจริงแห่งคดีนี้จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1312เมื่อเป็นดังนี้จึงมีปัญหาต่อไปอีกว่า โจทก์มีสิทธิ์ฟ้องจำเลยให้รื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำเข้ามาในที่ดินของโจทก์ได้หรือไม่ เห็นว่า ในการแบ่งกรรมสิทธิ์รวมดังกล่าวก่อนมีการแบ่งแยกผู้ถือกรรมสิทธิ์ต่างมีข้อตกลงกันให้เจ้าของรวมแต่ละคนรื้อถอนบ้านสิ่งปลูกสร้างไปปลูกในที่ดินส่วนของตน ซึ่งทั้งนางกอบและนายสองต่างก็ได้รื้อถอนบ้านจากที่เดิมไปปลูกในที่ดินส่วนของตนแล้ว คงเหลือแต่จำเลยเท่านั้นที่ยังไม่ได้รื้อถอนครัวที่รุกล้ำ แม้จำเลยจะอ้างว่าข้อตกลงดังกล่าวไม่ผูกพันจำเลยเพราะจำเลยมิได้เป็นผู้มีชื่อถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินแปลงที่แบ่งแยกเพียงแต่มีสิทธิในที่ดินส่วนของนางทุเรียนก็ตาม แต่การที่จำเลยอยู่อาศัยในที่ดินดังกล่าวได้ต่อมาก็โดยอาศัยสิทธิของนางทุเรียนเจ้าของรวมคนหนึ่ง และแม้จำเลยจะปลูกสร้างโรงเรือนมาตั้งแต่ปี 2502 และครัวที่รุกล้ำปลูกสร้างมาก่อนแบ่งกรรมสิทธิ์รวมก็หาทำให้ข้อตกลงในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างไม่ผูกพันจำเลยไม่ เมื่อนางกอบเจ้าของที่ดินเดิมและโจทก์บอกกล่าวให้จำเลยรื้อถอนออกไป จำเลยจึงไม่มีสิทธิใด ๆ ในที่ดินของโจทก์
พิพากษายืน

Share