แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
ความว่า จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นสั่งว่า ฎีกาจำเลยทั้งสองในประเด็นแรกจำเลยมิได้ยกขึ้นต่อสู้ไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ จึงต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 249 ส่วนประเด็นสุดท้าย จำเลยฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล จึงเป็นปัญหาข้อเท็จจริง จึงต้องห้ามฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 248 จึงไม่รับฎีกาจำเลยทั้งสอง คืนค่าธรรมเนียมทั้งหมด
จำเลยทั้งสองเห็นว่า ฎีกาของจำเลยทั้งสองในประเด็นแรก จำเลยทั้งสองได้ว่ากล่าวไว้ในศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์แล้ว และยังเป็นข้อกฎหมายที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยและ ศีลธรรมอันดีของประชาชน ส่วนประเด็นสุดท้าย จำเลยทั้งสอง มิได้ฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาล หากแต่ ฎีกาคำวินิจฉัยของศาลที่ขัดกับข้อกฎหมายตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 84 โปรดมีคำสั่ง ให้รับฎีกาของจำเลยทั้งสองไว้พิจารณาต่อไปด้วย
หมายเหตุ ไม่ปรากฏหลักฐานว่าโจทก์ได้รับสำเนาคำร้องหรือไม่
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนสัญญาขายที่ดินโฉนดเลขที่ 7574 ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์ ลงวันที่ 29 เมษายน 2534 ระหว่างจำเลยที่ 1 กับจำเลยที่ 2และให้จำเลยที่ 1 โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด ดังกล่าวให้แก่โจทก์โดยให้โจทก์โอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนด เลขที่ 5641 ตำบลบ้านด่าน อำเภอเมืองบุรีรัมย์จังหวัดบุรีรัมย์ ให้แก่จำเลยที่ 1 เป็นการตอบแทน หากจำเลย ทั้งสองเพิกเฉย ให้ถือเอาคำพิพากษาแทนการแสดงเจตนาของ จำเลยทั้งสอง
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษายืน
จำเลยทั้งสองฎีกา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งไม่รับฎีกาดังกล่าว(อันดับ 132)
จำเลยทั้งสองจึงยื่นคำร้องนี้ (อันดับ 136)
คำสั่ง
พิเคราะห์แล้ว คดีนี้โจทก์ฟ้องว่า ที่พิพาทมี สัญญาแลกเปลี่ยนระหว่างโจทก์กับนายชุนแล้วโจทก์เข้าครอบครองที่พิพาทเกิน 10 ปี จึงได้กรรมสิทธิ์และต่อมาทายาทนายชุน กับจำเลยที่ 1 ตกลงโอนที่พิพาทให้โจทก์ แต่จำเลยที่ 1 ผิดสัญญาโดยนำที่พิพาทขายให้จำเลยที่ 2 โดยไม่สุจริต ขอเพิกถอนนิติกรรมซื้อขาย จำเลยทั้งสองให้การว่า จำเลยที่ 1 และทายาทนายชุนไม่เคยบันทึกตกลงแลกเปลี่ยนที่พิพาทกับโจทก์จำเลยที่ 1 และที่ 2 ซื้อขายที่พิพาทกันโดยสุจริต จำเลยทั้งสองฎีกาว่า ฟ้องโจทก์กล่าวอ้างว่าโจทก์เป็นผู้ได้มาซึ่ง อสังหาริมทรัพย์คือที่พิพาทโดยนิติกรรมแลกเปลี่ยน แต่การได้มาของโจทก์มิได้มีการจดทะเบียนการได้มากับพนักงานเจ้าหน้าที่ การได้มาของโจทก์ไม่บริบูรณ์ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1299 วรรคหนึ่ง โจทก์ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่พิพาท จำเลยที่ 2 ในฐานะทายาทของนายชุน มีอำนาจจำหน่ายที่พิพาทได้ตามกฎหมาย จึงเป็นข้อที่มิได้ยกขึ้นว่ากันมาแล้วโดยชอบใน ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค 1 ทั้งมิใช่ปัญหาอันเกี่ยวด้วย ความสงบเรียบร้อยของประชาชน เป็นฎีกาต้องห้าม
ส่วนฎีกาจำเลยทั้งสองที่ว่า จำเลยทั้งสองซื้อที่พิพาทจาก จำเลยที่ 1 โดยสุจริตตามราคากลางของทางราชการตามหนังสือ ราคาประเมินที่ดินพิพาทของสำนักงานที่ดินจังหวัดบุรีรัมย์ เป็นฎีกาโต้แย้งการรับฟังพยานหลักฐานของศาล เป็นฎีกา ข้อเท็จจริง ศาลชั้นต้นไม่รับฎีกา จำเลยทั้งสองชอบแล้วให้ยกคำร้องจำเลยทั้งสอง