คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 5360/2546

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

พระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ได้กำหนดช่องทางให้บุคคลเสนอคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลต่อศาลได้เพียง 2 กรณี กรณีแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้งเห็นว่าผู้ไม่มีสิทธิรับเลือกตั้งผู้ใดไปสมัครรับเลือกตั้งและมีการประกาศชื่อให้รับผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง กรณีที่สองผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดในเขตเลือกตั้งนั้นเห็นว่า การเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยไม่ชอบ แต่โจทก์ซึ่งเป็นเทศบาลตำบลเสนอคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้พิจารณาและวินิจฉัยคุณสมบัติของสมาชิกสภาเทศบาล จึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอคำฟ้องได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายให้อำนาจโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องเช่นนี้ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2543 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 โจทก์ทำหนังสือถึงจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ ให้ทำการสอบสวนและวินิจฉัยสมาชิกภาพของนางขางิกหรือบุญญาพร เก็งเกตุ เนื่องจากบุคคลดังกล่าวมีบิดาเป็นคนต่างด้าว และมีวุฒิการศึกษาสูงสุดเพียงชั้นประถมปรศึกษาปีที่ 4 ซึ่งขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาล ต่อมาวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 จำเลยโดยนายวิรุณ ทิพากร รองผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ซึ่งปฏิบัติหน้าที่แทนจำเลย มีหนังสือถึงนายอำเภอคูเมืองเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบว่านางขางิกหรือบุญญาพร เก็งเกตุ เป็นผู้ที่ไม่ขาดคุณสมบัติ คำวินิจฉัยของจำเลยจึงไม่ชอบด้วยกฎหมายขัดต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 9/2541 ขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและสั่งการของจำเลยที่ บร 0018/11604เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสภาเทศบาล และให้ทำการวินิจฉัยใหม่ให้ถูกต้องตามกฎหมายและตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ
จำเลยให้การว่า ได้มีการทักท้วงและขอให้จำเลยทำการสอบสวนและวินิจฉัยสมาชิกภาพของนางขางิกหรือบุญญาพร เก็งเกตุ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหินเหล็กไฟและจำเลยได้หารือคุณสมบัติของผู้สมัครรับเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลไปยังกรมการปกครองซึ่งต่อมากรมการปกครองได้แจ้งแนวทางพิจารณาเกี่ยวกับคุณสมบัติโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาได้พิจารณาแล้วเห็นว่า ตามมาตรา 20 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ที่แก้ไขแล้ว ได้กำหนดคุณสมบัติของผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งว่าต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิด แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรอีกด้วย แต่เนื่องจากขณะนี้กฎหมายที่บังคับใช้แก่การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรคือพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรและสมาชิกวุฒิสภา พ.ศ. 2541 มิได้มีบทบัญญัติใดบังคับว่าผู้มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งซึ่งเป็นบุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติอย่างใดเพิ่มขึ้นอีก เหมือนเช่นที่เคยบัญญัติไว้ในมาตรา 19 แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2522 ซึ่งถูกยกเลิกไปแล้ว กล่าวคือ ผู้มีสัญชาติไทยโดยการเกิดตามมาตรา 20(1) แห่งพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลไม่ต้องนำข้อความว่า “แต่บุคคลผู้มีสัญชาติไทยซึ่งมีบิดาเป็นคนต่างด้าว ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” มาพิจารณาแต่อย่างใด และข้อเท็จจริงตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญตามฟ้องไม่ตรงกับข้อเท็จจริงในคดีนี้ นอกจากนี้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กล่าวถึงมาตรา 25 แห่งพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 (ที่ถูกพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482) กำหนดให้ผู้เลือกตั้งในเขตเลือกตั้งร้องขอต่อศาลชั้นต้นที่เขตเลือกตั้งอยู่ในเขตอำนาจร้องขอถอดถอนการสมัครของบุคคลผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งได้ก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ล่วงเลยมาแล้ว โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่มีสิทธิโดยข้อกฎหมายนี้ ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและสั่งการที่ บร 0018/11604 ลงวันที่3 กรกฎาคม 2543 ของจำเลย เรื่องการตรวจสอบคุณสมบัติของสมาชิกสภาเทศบาล ค่าฤชาธรรมเนียมให้เป็นพับ คำขออื่นนอกจากนี้ให้ยก
จำเลยอุทธรณ์เฉพาะปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลชั้นต้น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 223 ทวิ
ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “ข้อเท็จจริงรับฟังได้ในเบื้องต้นว่า โจทก์เป็นเทศบาลตำบลมีฐานะเป็นทบวงการเมือง และมีอำนาจหน้าที่ตามพระราชบัญญัติเทศบาล พ.ศ. 2496 และกฎหมายอื่น จำเลยเป็นข้าราชการสังกัดกระทรวงมหาดไทยโดยดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดบุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2543 และวันที่ 5 กรกฎาคม 2543 โจทก์มีหนังสือถึงจำเลยให้สอบสวนและวินิจฉัยสมาชิกภาพของนางขางิกหรือบุญญาพร เก็งเกตุ สมาชิกสภาเทศบาลตำบลหินเหล็กไฟว่าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติในการสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาเทศบาลหรือไม่ ถ้าเป็นผู้ขาดคุณสมบัติก็ขอให้มีคำสั่งเพิกถอนสมาชิกภาพด้วยตามสำเนาเอกสารท้ายฟ้อง และเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม 2543 จำเลยมีหนังสือถึงนายอำเภอคูเมืองเพื่อแจ้งให้โจทก์ทราบว่านางขางิกหรือบุญญาพร เก็งเกตุ เป็นผู้ที่ไม่ขาดคุณสมบัติตามหนังสือที่ บร 0018/11604 ของจำเลย คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของจำเลยเสียก่อนว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยและสั่งการของจำเลยที่ บร 0018/11604 ของจำเลยหรือไม่ ตามพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่ใช้บังคับในขณะที่มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลตำบลหินเหล็กไฟครั้งล่าสุดก่อนที่จะมีการฟ้องคดีนี้ในมาตรา 25 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งใดเห็นว่าตามประกาศการสมัครตามมาตรา 24 ปรากฏชื่อบุคคลผู้ไม่มีสิทธิสมัครรับเลือกตั้งสมัครรับเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้น อาจยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ในเขตอำนาจก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน ขอให้ศาลมีคำสั่งให้ถอนการสมัครของบุคคลนั้นได้” และตามมาตรา 57 บัญญัติว่า “ภายในสิบห้าวัน นับตั้งแต่เทศบาลประกาศผลของการเลือกตั้งผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคนก็ดี ผู้สมัครคนใดก็ดี ในเขตเลือกตั้งใด เห็นว่าการเลือกตั้งในเขตนั้นเป็นไปโดยมิชอบ มีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้นซึ่งเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ในเขตอำนาจ เพื่อขอให้สั่งว่าบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดมิได้รับเลือกตั้งโดยชอบและหรือว่าผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบหรือว่าไม่มีบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ” จากบทบัญญัติดังกล่าวพึงเห็นได้ว่าพระราชบัญญัติการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาล พ.ศ. 2482 ได้กำหนดช่องทางให้บุคคลเสนอคดีเกี่ยวกับการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลต่อศาลชั้นต้นซึ่งเขตเลือกตั้งนั้นอยู่ในเขตอำนาจได้เพียง 2 กรณี กรณีแรกผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เห็นว่า ผู้ไม่มีสิทธิรับสมัครเลือกตั้งผู้ใดได้ไปสมัครรับเลือกตั้งและมีการประกาศชื่อให้รับผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง ผู้มีสิทธิเลือกตั้งในเขตนั้นอาจยื่นคำร้องต่อศาลขอให้เพิกถอนการสมัครของผู้นั้นได้ โดยต้องยื่นคำร้องก่อนวันเลือกตั้งไม่น้อยกว่ายี่สิบวัน กรณีที่สองผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคน หรือผู้สมัครรับเลือกตั้งคนใดในเขตเลือกตั้งนั้น เห็นว่าการเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งนั้นเป็นไปโดยมิชอบ ผู้เลือกตั้งไม่น้อยกว่าสิบคนหรือผู้สมัครรับเลือกตั้งดังกล่าวมีสิทธิยื่นคำร้องต่อศาล ขอให้มีคำสั่งว่า บุคคลผู้หนึ่งผู้ใดมิได้รับเลือกตั้งโดยชอบและหรือผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ หรือไม่มีบุคคลผู้หนึ่งผู้ใดได้รับเลือกตั้งโดยชอบ โดยต้องยื่นคำร้องภายในสิบห้าวันนับตั้งแต่เทศบาลประกาศผลการเลือกตั้งแต่คดีนี้โจทก์ซึ่งเป็นเทศบาลตำบลเสนอคำฟ้องขอให้เพิกถอนคำวินิจฉัยของจำเลยในฐานะผู้ว่าราชการจังหวัดที่ได้พิจารณาและวินิจฉัยคุณสมบัติของสมาชิกสภาเทศบาลจึงไม่อยู่ในหลักเกณฑ์ที่จะเสนอคำฟ้องได้ ทั้งไม่มีบทบัญญัติใดแห่งกฎหมายให้อำนาจโจทก์ที่จะเสนอคำฟ้องเช่นนี้ได้ โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ที่ศาลชั้นต้นรับคำฟ้องโจทก์ไว้พิจารณาและพิพากษามานั้นไม่ต้องด้วยความเห็นของศาลฎีกา ไม่จำต้องวินิจฉัยอุทธรณ์ของจำเลยในข้ออื่นต่อไป อุทธรณ์ของจำเลยฟังขึ้น”
พิพากษากลับ ให้ยกฟ้อง

Share