คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1008/2507

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

ตามประมวลรัษฎากรมาตรา 5 นั้น เมื่อมูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีเรื่องนี้อยู่ภายในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลย(กรมสรรพากร) โจทก์จึงฟ้องจำเลยได้
เงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกแทนลูกจ้างไปนั้น ไม่ใช่เป็นเงินได้อันพึงประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากร มาตรา40(1)(2)

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า เมื่อวันที่ ๒๕ พฤศจิกายน ๒๕๐๒ เจ้าพนักงานประเมินภาษีเงินได้เขตจังหวัดพระนครได้ประเมินภาษีเงินได้ของโจทก์สำหรับ พ.ศ.๒๔๙๘,๒๔๙๙,๒๕๐๐,๒๕๐๑ แล้วกำหนดให้โจทก์นำภาษีเงินได้และเงินเพิ่มภาษีไปเสียเพิ่มเติมจากที่จำเลยได้รับชำระไปแล้วนั้น โจทก์เห็นว่าไม่ถูกต้อง คือ ในรายการประเมินภาษีจำนวน พ.ศ.๒๔๙๘,๒๔๙๙ เจ้าพนักงานได้นำเงินภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดบริวเวอรีจำกัดออกแทนโจทก์จำนวน ๘๒,๔๑๕ บาท และ ๓๕๒,๔๗๒.๓๗ บาท ตามลำดับเข้ารวมเป็นเงินได้พึงประเมิน และในรายการประเมินภาษีจำนวน พ.ศ.๒๔๙๙,๒๕๐๐,๒๕๐๑ เจ้าพนักงานได้นำเงินที่บริษัทบุญรอดฯช่วยการศึกษาแก่บุตรโจทก์ ๔๕,๗๗๐.๑๖ บาท ๒๓๕,๘๑๕.๑๓ บาท และ ๑,๒๙๒.๘๒ บาทตามลำดับ เข้ารวมเป็นเงินได้พึงประเมินของโจทก์ โจทก์ได้ยื่นอุทธรณ์การประเมินไปยังคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ คณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์วินิจฉัยว่า เงินภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดฯ ออกแทนให้แก่โจทก์เป็นเงินได้พึงประเมิน ส่วนเงินช่วยการศึกษาในต่างประเทศที่บริษัทบุญรอดฯ ออกให้แก่บุตรผู้เยาว์ของโจทก์ ไม่เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมิน จึงสั่งให้ลดเงินภาษี และยกเว้นเงินเพิ่มภาษีบ้าง และสั่งให้โจทก์นำเงินภาษีไปเสียเพิ่มเติม
๒๕๖,๖๔๒.๘๙ บาทนั้น เป็นการไม่ชอบ ขอให้พิพากษาว่าการประเมินตามหนังสือแจ้งภาษีเงินได้ท้ายฟ้อง หมายเลข ๑,๒ และ ๔ ไม่ถูกต้อง และยกคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์เฉพาะส่วนที่ให้โจทก์นำภาษีเงินได้ไปชำระ ๔ จำนวน รวม ๓๕๖,๖๔๒.๘๙ บาท กับพิพากษาว่า โจทก์ไม่ต้องรับผิดเสียภาษีเพิ่ม
จำเลยให้การว่า โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้อง ภาษีเงินได้ที่บริษัทบุญรอดฯ นายจ้างของโจทก์เป็นผู้ออกชำระให้ เข้าลักษณะเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๓๙,๔๐(๑)(๒)แห่งประมวลรัษฎากร
ศาลแพ่งวินิจฉัยว่า โจทก์มีอำนาจฟ้อง เงินค่าภาษีเงินได้ที่นายจ้างออกให้ไม่ใช่เงินได้อันพึงประเมินตามประมวลรัษฎากรมาตรา๔๐(๑)(๒) พิพากษาว่าโจทก์ไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่บริษัทบุญรอดฯนายจ้างจ่ายค่าภาษีเงินได้แทนโจทก์และไม่ต้องรับผิดชอบชำระค่าภาษีเงินได้ในจำนวนเงินที่บริษัทบุญรอดฯนายจ้างจ่ายเป็นเงินค่าการศึกษาของบุตรโจทก์ ดังที่คณะกรรมการวินิจฉัยให้โจทก์ชำระไว้ ๓๕๖,๖๘๒.๘๕ บาท
จำเลยอุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ วินิจฉัยว่า เงินค่าภาษีที่นายจ้างออกแทนโจทก์นั้น เป็นการจ่าย-หรือให้ประโยชน์เพิ่มแก่โจทก์นั้นเอง จึงเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แต่คำนวณแล้วโจทก์มีหน้าที่รับผิดเสียภาษีเพิ่มเพียง ๒๑๗,๖๙๓.๖๘ บาท พิพากษาแก้ว่าโจทก์มีหน้าที่รับผิดเสียภาษีเงินได้รวม ๒๑๗,๖๙๓.๖๘ บาท นอกจากที่แก้ให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
โจทก์จำเลยฎีกาต่อมา โดยโจทก์ขอให้พิพากษาให้โจทก์ชนะเต็มตามฟ้อง จำเลยฎีกาขอให้เป็นไปตามคำวินิจฉัยอุทธรณ์ของคณะกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ และว่าโจทก์ไม่มีอำนาจ
ศาลฎีกาเห็นว่า ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๕ นั้น เมื่อมูลกรณีเรื่องภาษีอากรในคดีเรื่องนี้อยู่ภายในกรอบอำนาจหน้าที่และการควบคุมของจำเลยโจทก์จึงฟ้องจำเลยได้
ตามมาตรา ๔๐(๑)(๒) ถ้าถือว่าเงินที่นายจ้ายชำระค่าภาษีไปนั้นต้องเสียภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรแล้ว กรณีที่นายจ้างสัญญากับลูกจ้างยอมชำระค่าภาษีเงินได้แทนลูกจ้าง นายจ้างก็จะต้องรับผิดชำระค่าภาษีแทนลูกจ้างทุกจำนวนเงินที่ลูกจ้างจะต้องเสียภาษี และจะต้องคิดค่าภาษีทุกจำนวนเงินที่นายจ้างชำระแทน ฉะนั้น เมื่อมีการคำนวณค่าภาษีเงินได้ที่ลูกจ้างจะต้องรับผิดชำระครั้งแรกและนายจ้างชำระเงินค่าภาษีจำนวนนี้แทนไปแล้ว ก็ต้องนำจำนวนเงินที่ชำระแทนไปนั้นไปคำนวณค่าภาษีเงินได้เป็นครั้งที่ ๒ เมื่อคำนวณและนายจ้างชำระแทนครั้งที่ ๒ แล้วก็ต้องนำจำนวนเงินที่ชำระแทนครั้งที่ ๒ ไปคำนวณและชำระ-ครั้งที่ ๓-๔-๕ คำนวณและชำระทำนองนี้เรื่อยไปเป็นทำนองทศนิยมไม่รู้จบ เพราะไม่มีข้อความในประมวลรัษฎากรให้แยกได้ว่า ต้องเสียภาษีในเงินที่ออกแทนเฉพาะครั้งแรกหรือเฉพาะครั้งหนึ่งครั้งใด จึงเห็นว่าไม่น่าจะมีระบบเก็บภาษีซึ่งต้องคิดและต้องชำระทำนองทศนิยมไม่รู้จบ ถ้ากฎหมายมุ่งหมายเช่นนั้น ก็คงจะระบุไว้โดยชัดแจ้ง มาตรา ๔๐(๑)และ(๒)ตอนต้น ระบุไว้ล้วนแต่เห็นได้ชัดแจ้งว่า เป็นเงินที่นายจ้างจ่ายให้แก่ลูกจ้างโดยตรง และถ้าหากถือว่าประโยชน์เพิ่มอย่างอื่น
หมายถึงประโยชน์ทุกอย่างที่ลูกจ้างได้รับจากการกระทำของนายจ้างแล้ว มาตรา ๔๐(๑)ก็ไม่จำเป็นต้องระบุถึงเงินค่าเช่าบ้านที่นายจ้ายจ่ายให้แก่ลูกจ้างหรือบ้านที่นายจ้ายให้อยู่โดยไม่เสียค่าเช่า
ฉะนั้นเงินที่นายจ้างออกแทนลูกจ้างในคดีนี้ไม่ใช่เป็นเงินอันพึงประเมินภาษีเงินได้ตามประมวลรัษฎากรมาตรา ๔๐(๑)(๒) พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์บังคับคดีตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น

Share