แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา
ย่อสั้น
พินัยกรรมที่มิได้ทำให้ถูกต้องตามแบบ โดยผู้ทำพินัยกรรมมิได้ลงลายมือชื่อในพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนพร้อมกัน และพยานสองคนนั้น มิได้ลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรมไว้ในขณะนั้น พินัยกรรมฉบับนั้นย่อมเป็นโมฆะ
พินัยกรรมที่ทำขึ้นโดยผู้ทำพินัยกรรมป่วยมาก แม้จะพูดไม่ได้แต่ถ้ายังมีสติสมบูรณ์ดีใช้กริยาแสดงออกตอนอ่านพินัยกรรมให้ฟังเมื่อเห็นด้วยหรือตรงกับเจตนาของตนก็พยักหน้า ถ้าไม่เห็นด้วยหรือไม่ตรงกับเจตนาก็ส่ายหน้า เช่นนี้ ฟังได้ว่าพินัยกรรมนั้นทำขึ้นโดยผู้ตายและเป็นพินัยกรรมที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ผู้ตายทำพินัยกรรมฉบับหลัง ถ้าไม่ถูกต้องตามแบบที่กฎหมายบัญญัติไว้จนเป็นโมฆะแล้ว ย่อมไม่ถือว่าเป็นการเพิกถอนพินัยกรรมฉบับก่อน
พินัยกรรมที่คู่สมรสของผู้รับทรัพย์ตามพินัยกรรมลงชื่อเป็นพยานย่อมเป็นโมฆะเสียไปเฉพาะผู้รับพินัยกรรมผู้นั้นเท่านั้น ส่วนข้อกำหนดในพินัยกรรมที่ให้แก่ผู้รับพินัยกรรมคนอื่นๆ นั้นยังคงสมบูรณ์อยู่
พินัยกรรมที่ผู้พิมพ์พินัยกรรมไม่ได้ลงชื่อในพินัยกรรมตามมาตรา 1671 ด้วยนั้นหาเป็นโมฆะไม่เพราะมาตรา1705 ไม่ได้บัญญัติให้เป็นโมฆะ
คดีแพ่งที่มารดาฟ้องเรียกมรดกแทนบุตรผู้เยาว์นั้นพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลคดีเด็กและเยาวชน ไม่ได้ระบุไว้ให้ฟ้องต่อศาลคดีเด็กและเยาวชนจึงต้องขึ้นศาลธรรมดา