คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 225/2523

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์บรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นภรรยาจำเลยที่ 1 จำเลยที่ 1 ได้รับมอบหมายจาก นาย อ. ผู้เสียหายให้เป็นผู้จัดการและเป็นผู้ดูแลโรงงานผลิตรองเท้าพลาสติค พีวีซี และมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษารับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหายในโรงงานดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อวันที่ 12 กันยายน 2517 เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ (มีรายละเอียดตามฟ้อง) รวมราคาทั้งสิ้น 218,000 บาท ของผู้เสียหาย ซึ่งได้มอบให้จำเลยที่ 1 ไว้สำหรับใช้และผลิตขึ้นในโรงงานดังกล่าวข้างต้นไปเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต ดังนี้ ฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา 158 (5) และองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 352 แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณา ฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ ๒ เป็นภรรยาจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากนายอมรผู้เสียหายให้เป็นผู้จัดการและเป็นผู้ดูแลกิจการโรงงานผลิตรองเท้าพลาสติค พีวีซี และมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษาและรับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหายภายในโรงงานดังกล่าวด้วย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์คือ รองเท้าคัชชูชนิดผูกเชือก ๕๗๕ โหล พลาสติคเม็ดและทรัพย์สินอื่น (มีรายละเอียดตามฟ้อง) รวมราคาทั้งสิ้น ๒๑๘,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายซึ่งได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ไว้สำหรับใช้และผลิตขึ้นในโรงงานดังกล่าวไปเป็นอาณาประโยชน์ของจำเลยทั้งสองโดยทุจริต ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒, ๘๓ ให้จำเลยร่วมกันคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๒๑๘,๐๐๐ บาท แก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองให้การปฏิเสธ ทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ ทั้งหมด
นายอมรผู้เสียหายขอเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยที่ ๑ มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ จำเลยที่ ๒ มีความผิดตามมาตรา ๓๕๒ ประกอบด้วยมาตรา ๘๖ จำคุกจำเลยที่ ๑ มีกำหนด ๖ เดือน จำคุกจำเลยที่ ๒ มีกำหนด ๔ เดือน ปรับ ๒,๐๐๐ บาท รอการลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๒ ไว้มีกำหนด ๒ ปี ไม่ชำระค่าปรับให้จัดการตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙, ๓๐ กับให้จำเลยทั้งสองคืนหรือใช้ราคาทรัพย์ ๒๑๘,๐๐๐ บาทแก่ผู้เสียหาย
จำเลยทั้งสองอุทธรณ์ขอให้ยกฟ้อง
ศาลอุทธรณ์วินิจฉัยว่า ตามคำบรรยายฟ้องไม่มีระบุการกระทำของจำเลยทั้งสองให้ชัดว่า จำเลยได้กระทำการอย่างใดที่โจทก์ถือว่าจำเลยกระทำความผิดฐานยักยอกมาพอสมควร เท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงเป็นฟ้องเคลือบคลุม ไม่ชอบด้วยประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) ต้องยกฟ้องตามมาตรา ๑๖๑ พิพากษากลับให้ยกฟ้องโจทก์
โจทก์ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ฟ้องโจทก์ได้บรรยายว่าจำเลยที่ ๒ เป็นภรรยาจำเลยที่ ๑ จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายจากนายอมรผู้เสียหายให้เป็นผู้จัดการและเป็นผู้ดูแลโรงงานผลิตรองเท้าพลาสติค พีวีซี และมอบหมายให้เป็นผู้ดูแลรักษารับผิดชอบเกี่ยวกับทรัพย์สินต่าง ๆ ของผู้เสียหายในโรงงานดังกล่าวนั้นด้วย เมื่อวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๑๗ เวลากลางคืนหลังเที่ยง จำเลยทั้งสองได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ (มีรายละเอียดตามฟ้อง) รวมราคาทั้งสิ้น ๒๑๘,๐๐๐ บาท ของผู้เสียหายซึ่งได้มอบให้จำเลยที่ ๑ ไว้สำหรับใช้และผลิตขึ้นในโรงงานดังกล่าวข้างต้นไปเป็นอาราประโยชน์ของจำเลยทั้งสองโดยสุจริต เห็นว่าฟ้องโจทก์ได้บรรยายถึงการกระทำทั้งหลายที่อ้างว่าจำเลยได้กระทำความผิด ข้อเท็จจริงและรายละเอียดที่เกี่ยวกับเวลาและสถานที่ซึ่งเกิดการกระทำนั้น ๆ อีกทั้งบุคคลหรือสิ่งของที่เกี่ยวข้องด้วยพอสมควรเท่าที่จะให้จำเลยเข้าใจข้อหาได้ดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘ (๕) และครบองค์ประกอบความผิดฐานยักยอกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๒ แล้ว ส่วนจำเลยทั้งสองจะได้ร่วมกันยักยอกทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตอย่างไรเป็นรายละเอียดที่จะต้องนำสืบกันต่อไปในชั้นพิจารณาจำเลยเข้าใจข้อหาได้ดี จึงได้ยื่นคำให้การต่อสู้ว่า ทรัพย์สินต่าง ๆ ตามที่โจทก์ฟ้องเป็นของจำเลยที่ ๑ ทั้งหมด และนำสืบตาที่ต่อสู้ไว้ในคำให้การ แม้แต่อุทธรณ์ของจำเลยก็มิได้โต้แย้งว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม ศาลฎีกาจึงเห็นว่าฟ้องโจทก์ไม่เคลือบคลุม
พิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

Share