คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 546/2528

แหล่งที่มา : เนติบัณฑิตยสภา

ย่อสั้น

จำเลยกับ บ. ร่วมทำมาหาทรัพย์พิพาทมาได้ในระหว่างอยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จำเลยกับ บ. จึงมีส่วนในทรัพย์พิพาทคนละครึ่ง เมื่อ บ. ถึงแก่กรรม ทรัพย์พิพาทส่วนที่เป็นของ บ. จึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ผู้เป็น มารดาและทายาทผู้เดียวของ บ. ผู้ตาย

ย่อยาว

ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยแบ่งที่ดินและบ้านตามฟ้องให้โจทก์ครึ่งหนึ่งภายใน 7 วัน หากไม่สามารถแบ่งกันได้ ให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าว แล้วเอาเงินที่ได้จากการขายแบ่งกันคนละครึ่ง ศาลอุทธรณ์พิพากษายืนจำเลยฎีกา

ศาลฎีกาวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า “มีปัญหาตามฎีกาของจำเลยเพียงว่าจำเลยกับนางบังอร ปรีเปรมหรือเวชภูมิ ได้อยู่กินด้วยกันฉันสามีภริยาและทรัพย์พิพาทเป็นทรัพย์ที่ทำมาหาได้ด้วยกันหรือไม่ โจทก์มีนายอรุณ ดุลย์ส่วนโอกับนางสุภาพ สารทอง เบิกความต้องกันว่า จำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบังอรที่บ้านเช่าจังหวัดลำปางประมาณ 10 ปี จน พ.ศ. 2516 จึงย้ายมาอยู่ด้วยกันที่บ้านนายอรุณ หมู่บ้านสันติธรรม จังหวัดเชียงใหม่ ปีต่อมาจึงซื้อที่ดินปลูกบ้านพิพาทแล้วเข้าอยู่ด้วยกันต่อไปจนนางบังอรถึงแก่กรรมและตั้งศพทำพิธีที่บ้านพิพาทมีนายมานะ ธนะจักร สนับสนุนว่าเห็นจำเลยกับนางบังอรอยู่กินกันฉันสามีภริยาที่บ้านนายอรุณจนย้ายไปอยู่บ้านพิพาทตลอดจนการตั้งศพที่บ้านพิพาทด้วยเห็นว่า นายอรุณเป็นน้องชายนางบังอร เกี่ยวข้องกับความเป็นอยู่ของจำเลยและนางบังอรตลอดมา อาทิ การอุปการะที่อยู่อาศัย การซื้อที่ดินและปลูกบ้านพิพาทซึ่งจำเลยรับว่านายอรุณร่วมรู้เห็นและรับเหมาก่อสร้างจนเสร็จ ทั้งยังมีบ้านพักอยู่ใกล้บ้านพิพาทอีกด้วย นายล้วนก็อยู่คนละฟากถนนกับบ้านนายอรุณและเป็นคนกลาง พยานทั้งสองนี้จึงรู้เห็นใกล้ชิดน่าเชื่อถือ การตั้งศพทำพิธีที่บ้านพิพาทซึ่งจำเลยอยู่อาศัยโดยจำเลยยินยอม ย่อมแสดงถึงสัมพันธ์อันลึกซึ้งพิเศษระหว่างจำเลยกับผู้ตายซึ่งมีมูลฐานมาพอสมควรตามที่จำเลยเบิกความไว้ว่ารู้จักกับผู้ตายตั้งแต่จำเลยเป็นภิกษุ ผู้ตายไปมาหาสู่จำเลยที่บ้านพิพาทเดือนละ2 ครั้ง เป็นต้น นายจเร รัศมีทอง พยานจำเลยเองก็เบิกความว่าระหว่างสร้างบ้านพิพาท พยานควบคุมการก่อสร้างพบจำเลยทุกวัน แสดงว่าจำเลยมิได้อยู่ที่จังหวัดลำปางดังที่จำเลยนำสืบ น่าจะอยู่ใกล้ ๆ คือบ้านนายอรุณตามทางนำสืบของโจทก์มากกว่า พยานปากนี้จึงเจือสมพยานโจทก์ ฟังได้ว่าจำเลยอยู่กินฉันสามีภริยากับนางบังอรจริงตามฟ้อง ส่วนการเช่าซื้อที่ดินและสร้างบ้านพิพาทนั้น โจทก์จำเลยนำสืบรับกันว่าเช่าซื้อที่ดินและสร้างบ้านพิพาทขึ้นในปี พ.ศ. 2517 จึงฟังได้ว่าเป็นทรัพย์สินที่เกิดขึ้นระหว่างการอยู่กินฉันสามีภริยาของจำเลยกับนางบังอรผู้ตาย มีปัญหาต่อไปว่าทรัพย์พิพาทนี้เกิดจากการทำมาหาได้ร่วมกันของจำเลยและนางบังอรหรือไม่ ปรากฏตามหลักฐานเอกสารว่าจำเลยแต่ผู้เดียวลงชื่อเป็นผู้เช่าซื้อที่ดินพิพาท ทำคำร้องขอปลูกสร้างบ้านพิพาทและเป็นเจ้าของบ้านในทะเบียนสำมะโนครัว แต่โจทก์นำสืบนายอรุณอธิบายไว้ว่านางบังอรไม่ค่อยรู้หนังสือจึงให้จำเลยทำสัญญาเช่าซื้อแทนไปก่อนโดยนายอรุณไปอยู่รู้เห็นเป็นพยานในสัญญา เห็นว่าสมเหตุสมผล เพราะจำเลยจัดเจนหนังสือว่าด้วยบวชเรียนมานาน จำเลยจึงน่าจะต้องรับงานด้านนี้มาช่วยทำ ซึ่งรวมตลอดถึงการติดต่อต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นด้วย นอกจากนี้โจทก์ยังนำสืบนายอรุณประกอบใบเสร็จรับเงิน (เอกสารหมาย จ.6) ซึ่งนางสมศรีจิตตาลาน รับรองความถูกต้องแท้จริงแล้วว่า นางบังอรชำระเงินค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาท 5 งวดสุดท้ายโดยให้นายอรุณชำระแทน จำเลยเพียงแต่เบิกความว่าไม่รู้เรื่องใบเสร็จนี้เท่านั้น ไม่มีน้ำหนัก ต้องฟังว่าอย่างน้อยนางบังอรก็มีส่วนชำระค่าเช่าซื้อที่ดินพิพาทนี้ด้วยแล้ว สำหรับบ้านพิพาทโจทก์มีนายอรุณซึ่งจำเลยยอมรับว่าเป็นผู้ออกแบบรับเหมาก่อสร้างบ้านพิพาทยืนยันว่านางบังอรมอบให้ตนหาซื้อบ้านเก่ามาปลูกเป็นบ้านพิพาทด้วยทุนทรัพย์ของนางบังอรจำเลยจ่ายให้บ้างเล็กน้อย ส่วนจำเลยมีตนเองและนายจเร รัศมีทอง เบิกความทำนองว่าได้ร่วมไปหาซื้อบ้านเก่าแล้วขนมาจ้างนายอรุณสร้างเป็นบ้านพิพาทด้วยเงินของจำเลยเอง แต่พยานสองปากนี้เบิกความขัดกันในเรื่องการติดต่อซื้อ การขนไม้ และการควบคุมการก่อสร้าง จึงไม่มีน้ำหนัก ต้องฟังตามโจทก์นำสืบว่า จำเลยกับนางบังอรผู้ตายร่วมทำมาหาทรัพย์พิพาทมาได้ในระหว่างที่อยู่กินฉันสามีภริยาโดยมิได้จดทะเบียนสมรสตามกฎหมาย จำเลยกับนางบังอรจึงมีส่วนในทรัพย์พิพาทคนละครึ่ง เมื่อนางบังอรถึงแก่กรรมลงทรัพย์พิพาทส่วนที่เป็นของนางบังอรจึงเป็นมรดกตกได้แก่โจทก์ผู้เป็นมารดาและทายาทผู้เดียวของผู้ตายดังฟ้องที่ศาลล่างทั้งสองพิพากษามานั้นชอบแล้วฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน ให้จำเลยใช้ค่าทนายความชั้นฎีกา 800 บาทแทนโจทก์

Share