คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 9221/2538

แหล่งที่มา : กองผู้ช่วยผู้พิพากษาศาลฎีกา

ย่อสั้น

โจทก์เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาและรถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้แล่นไปถึงกึ่งกลางถนนแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกตามหลังรถจักรยานยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังให้โอกาสแก่โจทก์ได้ผ่านไปก่อน จำเลยที่ 1ขับรถยนต์บรรทุกมาชนรถจักรยานยนต์โจทก์ในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียว ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ตามรายการแสดงค่ารักษาพยาบาลของโจทก์มีข้อความตรงกับเอกสารที่โรงพยาบาลได้ส่งศาลตามคำสั่งเรียกที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องมา และโจทก์มีหัวหน้าแผนกเวชระเบียน โรงพยาบาล ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวยืนยันว่า โจทก์ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปตามเอกสารเช่นว่านั้นจริง แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเพียงสำเนาแต่ก็มีเจ้าหน้าที่รับรองสำเนามาแล้ว ทั้งกรณีไม่มีกฎหมายบังคับว่าการอ้างเอกสารเป็นพยานต้องมีผู้ทำเอกสารมาเบิกความ เอกสารดังกล่าวจึงจะรับฟังได้ ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาลค่าที่โจทก์ต้องเสียบุคลิกภาพทางร่างกาย และค่าที่โจทก์สูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ไม่อาจมีบุตรได้อีกต่อไปนั้นเป็นค่าเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงินโจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 การที่ศาลกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ชดใช้นั้นมิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา แต่เป็นกรณีที่ศาลกำหนดค่าเสียหายเพื่อชดใช้ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิด จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2 แล้ว โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องแล้วว่า โจทก์เสียหายส่วนใดเป็นเงินเท่าใด ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2ฎีกาว่า โจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลใด จำนวนเท่าใด รักษากี่วันนั้น เป็นข้อที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานกันต่อไป เมื่อมีประเด็นข้อโต้เถียงกันในชั้นพิจารณา ฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม

ย่อยาว

โจทก์ฟ้องว่า จำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10 – 0682 อุดรธานี จำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 เวลาประมาณ 22.30 นาฬิกา โจทก์ได้ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียนอุดรธานี ฆ – 8899 โดยมีนางสาวสุนันทา รัตนทิพย์นั่งซ้อนท้ายจากตลาดในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานีไปตามถนนสายอุดรธานี – ขอนแก่น เพื่อจะกลับไปที่โรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม เมื่อถึงบริเวณทางเข้าโรงพยาบาลโจทก์เห็นว่าปลอดภัยที่จะเลี้ยวขวาได้ จึงเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาและชะลอความเร็วของรถลงเพื่อจะเข้าโรงพยาบาลทันใดนั้นรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 คันดังกล่าวซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ขับไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ได้ขับตามหลังโจทก์มาด้วยความเร็วสูง กลับไม่ชะลอความเร็วและพุ่งเข้าชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์ทางด้านหลัง เป็นเหตุให้นางสาวสุนันทาถึงแก่ความตายส่วนโจทก์ถูกรถยนต์บรรทุกลากครูดไปกับพื้นถนนได้รับบาดเจ็บสาหัส จำเลยที่ 1 กระทำไปในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดร่วมกับจำเลยที่ 1ขอให้บังคับจำเลยที่ 1 ชำระเงิน 808,847 บาท แก่โจทก์ หากจำเลยที่ 1 ไม่ชำระ ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน ให้จำเลยทั้งสองชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องไปจนกว่าจำเลยทั้งสองชำระเสร็จ
จำเลยที่ 1 ขาดนัดยื่นคำให้การและขาดนัดพิจารณา
จำเลยที่ 2 ให้การว่า เหตุละเมิดเกิดขึ้นจากความประมาทของโจทก์เองมิใช่เกิดจากความประมาทของจำเลยที่ 1 โดยโจทก์ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวขวาในระยะกระชั้นชิดโดยมิได้ให้สัญญาณไฟและมิได้ชะลอความเร็ว เป็นเหตุให้จำเลยที่ 1 ไม่สามารถหยุดรถยนต์บรรทุกได้ทัน จึงเกิดชนกับรถจักรยานยนต์ของโจทก์ฟ้องโจทก์เคลือบคลุมเนื่องจากโจทก์มิได้บรรยายให้ชัดแจ้งซึ่งข้ออ้างอันอาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาของโจทก์ จำเลยที่ 2เอาประกันภัยรถยนต์บรรทุกคันเกิดเหตุของจำเลยที่ 2 ไว้แก่บริษัทพิพัทธ์ประกันภัย จำกัด โจทก์ต้องนำคดีไปฟ้องบริษัทประกันภัยโดยตรง โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ 2 ค่าเสียหายในฟ้องข้อ 3.1 และ 3.2 มิได้ระบุว่ารักษาอยู่ที่สถานพยาบาลแห่งใด อีกทั้งไม่มีหลักฐานมาแสดงเป็นการฟ้องเรียกค่าเสียหายที่เคลือบคลุม ค่าเสียหายในส่วนดังกล่าวไม่เกิน 20,000 บาทการจ้างพยาบาลเฝ้าดูแลในขณะอยู่ที่โรงพยาบาลและเสียค่ายาเป็นเรื่องของโจทก์ประสงค์จะกระทำให้เกินกว่าเหตุที่จำเป็นในการรักษา ทั้งไม่มีหลักฐานต่าง ๆ ว่าได้จ่ายไปจริงหรือไม่ส่วนค่าเสียหายในฟ้องข้อ 3.3 – 3.6 โจทก์กล่าวอ้างมาลอย ๆทั้งยังมิได้มีคำสั่งให้โจทก์ออกจากราชการ สภาพร่างกายของโจทก์ก็อยู่ในสภาพปกติ ความสามารถในการสืบพันธุ์ของโจทก์จะเสียไปหรือไม่ก็ไม่สามารถพิสูจน์ได้ ค่าเสียหายในส่วนนี้จำเลยที่ 2 จึงไม่ต้องรับผิด หากจะต้องรับผิดก็ไม่เกิน10,000 บาท ขอให้ยกฟ้อง
ศาลชั้นต้นพิพากษาให้จำเลยทั้งสองร่วมกันชำระเงิน 608,847บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีของต้นเงินดังกล่าวนับแต่วันฟ้องจนกว่าจะชำระให้โจทก์เสร็จสิ้น
จำเลยที่ 2 อุทธรณ์
ศาลอุทธรณ์ภาค 1 พิพากษาแก้เป็นว่า หากจำเลยที่ 1ไม่ชำระค่าเสียหายตามที่ศาลชั้นต้นกำหนดแก่โจทก์ ก็ให้จำเลยที่ 2 ชำระแทน นอกจากที่แก้คงให้เป็นไปตามคำพิพากษาศาลชั้นต้น
จำเลยที่ 2 ฎีกา
ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ข้อเท็จจริงที่ไม่ได้โต้เถียงกันฟังเป็นยุติว่าจำเลยที่ 2 เป็นเจ้าของผู้ครอบครองรถยนต์บรรทุกหมายเลขทะเบียน 10 – 0682 อุดรธานี และเป็นนายจ้างของจำเลยที่ 1 โจทก์รับราชการเป็นเภสัชกร ตำแหน่งหัวหน้าแผนกเภสัชกรรมประจำโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม จังหวัดอุดรธานี เมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2530 เวลาประมาณ 22.30นาฬิกา โจทก์ขับรถจักรยานยนต์หมายเลขทะเบียน อุดรธานีฆ – 8899 มีนางสาวสุนันทา รัตนทิพย์ ซ้อนท้ายจากตลาดในเขตเทศบาลเมืองอุดรธานีไปตามถนนสายอุดรธานี – ขอนแก่นเพื่อกลับที่พักในโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม เมื่อถึงหน้าโรงพยาบาลโจทก์ขับรถจักรยานยนต์เลี้ยวขวาเพื่อเข้าโรงพยาบาล ก็ถูกรถยนต์บรรทุกของจำเลยที่ 2 ซึ่งจำเลยที่ 1เป็นผู้ขับในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 ที่แล่นตามหลังมาชนรถจักรยานยนต์ของโจทก์และพาครูดไปตามถนน โจทก์ได้รับอันตรายแก่กายกระดูกส้นขาขวาหัก กระดูกเชิงกรานหัก กระเพาะปัสสาวะแตก ลำไส้ใหญ่แตก และเนื้อที่ขาทั้งสองฉีกขาด ส่วนนางสาวสุนันทาได้ถึงแก่ความตายในเวลาต่อมาหลังเกิดเหตุจำเลยที่ 1 ได้หลบหนีไป มีปัญหาต้องวินิจฉัยในข้อแรกว่าเหตุที่รถชนกันครั้งนี้เกิดจากความประมาทเลินเล่อของจำเลยที่ 1หรือไม่ ข้อเท็จจริงได้ตามที่โจทก์นำสืบว่า โจทก์ได้เปิดสัญญาณไฟเลี้ยวขวาและรถจักรยานยนต์ของโจทก์ได้แล่นไปถึงกึ่งกลางถนนแล้ว การที่จำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกตามหลังรถจักรยานยนต์ของโจทก์ จำเลยที่ 1 จะต้องใช้ความระมัดระวังให้โอกาสแก่โจทก์ได้ผ่านไปก่อนจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกมาชนรถจักรยานยนต์ให้โจทก์ในลักษณะเช่นนี้ถือได้ว่าจำเลยที่ 1 ขับรถยนต์บรรทุกโดยประมาทเลินเล่อแต่ฝ่ายเดียวขณะเกิดเหตุจำเลยที่ 1 เป็นลูกจ้างของจำเลยที่ 2 และขับรถยนต์บรรทุกในทางการที่จ้างของจำเลยที่ 2 จำเลยที่ 2 ซึ่งเป็นนายจ้างต้องร่วมกันรับผิดในผลแห่งการกระทำละเมิดของจำเลยที่ 1 ด้วย
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่ารักษาพยาบาลของโจทก์ตามเอกสารหมาย จ.1 จำนวน 4 ฉบับ เอกสารหมาย ป.จ.1 และ ป.จ.2ซึ่งเป็นรายการแสดงค่ารักษาพยาบาลของโจทก์เป็นเพียงสำเนาเอกสารไม่มีผู้รับรองสำเนา โจทก์ไม่ได้นำผู้ทำเอกสารหรือผู้มีอำนาจครอบครองดูแลรักษาเอกสารมาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวจึงรับฟังไม่ได้นั้น เห็นว่า เอกสารหมาย จ.1 ป.จ.1และ ป.จ.2 มีข้อความตรงกับเอกสารที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคม ได้ส่งศาลตามคำสั่งเรียกที่จำเลยที่ 2 ยื่นคำร้องมาและโจทก์มีพันเอกบุญเย็น วงไชยทรัพย์ หัวหน้าแผนกเวชระเบียน โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า และพันเอกสวงไพบูลย์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคมมาเบิกความประกอบเอกสารดังกล่าวยืนยันว่า โจทก์ได้เสียค่ารักษาพยาบาลไปตามเอกสารหมาย จ.1 ป.จ.1และ ป.จ.2 จริง แม้เอกสารดังกล่าวจะเป็นเพียงสำเนา แต่เอกสารดังกล่าวก็มีเจ้าหน้าที่รับรองสำเนามาแล้ว หาใช่ไม่มีผู้รับรองไม่ ทั้งกรณีไม่มีกฎหมายบังคับว่าการอ้างเอกสารรับฟังได้แต่อย่างใด เมื่อปรากฎว่าพันเอกบุญเย็นและพันเอกสวงต่างก็เป็นผู้มีหน้าที่รับผิดชอบเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าวมาเบิกความรับรองแล้ว และจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นว่าเอกสารดังกล่าวไม่ถูกต้องอย่างไร เอกสารหมายจ.1 ป.จ.1 และ ป.จ.2 จึงรับฟังได้ ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ตามรายงานกระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นลงวันที่ 21 สิงหาคม 2535โจทก์ยอมรับว่าเข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลตามเอกสารหมายล.4 และ ล.5 เป็นเงินเพียง 239,937 บาท แต่ศาลกำหนดให้โจทก์ได้รับค่ารักษาพยาบาลเป็นเงิน 345,937 บาท จึงไม่ถูกต้องนั้น พิจารณาตามรายงานกระบวนพิจารณาดังกล่าวแล้ว เห็นว่าโจทก์หาได้ยอมรับตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกาไม่ โจทก์เพียงแต่ยอมรับว่าได้เข้ารักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าจริงตามวันเวลาดังกล่าวและเสียค่ารักษาพยาบาลไปตามนั้น มิได้ยอมรับว่าค่ารักษาพยาบาลเป็นไปตามเอกสารหมาย ล.4 และ ล.5แต่อย่างใด การที่ศาลกำหนดให้จำเลยที่ 2 ชดใช้ ค่ารักษาพยาบาลให้แก่โจทก์เป็นไปตามเอกสารที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้าและโรงพยาบาลค่ายประจักษ์ศิลปาคมส่งมารวมเป็นเงิน 345,937บาท จึงชอบแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าจ้างพยาบาลพิเศษและค่ายาจำนวน 82,910 บาท เหมาะสมแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ค่าที่โจทก์ต้องทนทุกข์ทรมานระหว่างรักษาตัวที่โรงพยาบาล ค่าที่โจทก์ต้องเสียบุคลิกภาพทางร่างกาย และค่าที่โจทก์สูญเสียความสามารถในการสืบพันธุ์ไม่อาจมีบุตรได้อีกต่อไปนั้น โจทก์ไม่มีสิทธิได้รับและศาลกำหนดให้สูงเกินไปนั้น พิจารณาแล้วเห็นว่า ค่าเสียหายต่าง ๆตามที่จำเลยฎีกามานั้น เป็นค่าเสียหายเพื่อความเสียหายอย่างอื่นอันมิใช่ตัวเงิน โจทก์มีสิทธิเรียกได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 446 และโจทก์ก็นำสืบได้ว่าโจทก์มีความเสียหายดังกล่าวจริง ส่วนจำเลยที่ 2 ไม่ได้นำสืบให้เห็นเป็นอย่างอื่น ที่ศาลล่างทั้งสองกำหนดให้โจทก์ได้รับค่าเสียหายตามดังกล่าวมานั้นนับว่าเหมาะสมแก่พฤติการณ์และความร้ายแรงแห่งละเมิดแล้ว ไม่มีเหตุที่ศาลฎีกาจะเปลี่ยนแปลงแก้ไข
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ศาลพิพากษาให้จำเลยที่ 2 ชำระเงิน608,847 บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละเจ็ดครึ่งต่อปีนับแต่วันฟ้องเป็นการไม่ชอบเพราะค่าเสียหายบางส่วนไม่แน่นอนจะกำหนดได้เมื่อพิพากษานั้น เห็นว่า การที่ศาลกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้จำเลยที่ 2 ชดใช้นั้น มิใช่ว่าโจทก์ได้รับความเสียหายตั้งแต่วันพิพากษา แต่เป็นกรณีที่ศาลกำหนดค่าเสียหายเพื่อชดใช้ความเสียหายที่โจทก์ได้รับมาแล้วตั้งแต่วันทำละเมิด ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 206 ก็บัญญัติว่า ในกรณีหนี้อันเกิดแต่มูลละเมิด ลูกหนี้ได้ชื่อว่าผิดนัดมาแต่เวลาที่ทำละเมิด ดังนี้จำเลยที่ 2 จึงต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในจำนวนเงินที่ต้องชดใช้ตั้งแต่วันทำละเมิด แต่โจทก์ขอคิดดอกเบี้ยนับแต่วันฟ้อง นับว่าเป็นผลดีแก่จำเลยที่ 2แล้ว และชอบด้วยกฎหมายแล้ว
ที่จำเลยที่ 2 ฎีกาว่า ฟ้องโจทก์ในส่วนค่าเสียหายเคลือบคลุมโจทก์เพียงกล่าวอ้างลอย ๆ ไม่ได้บรรยายให้เห็นถึงสภาพความเสียหายว่าโจทก์รักษาตัวที่โรงพยาบาลใด จำนวนเท่าใด รักษากี่วัน ทำให้จำเลยที่ 2 เสียเปรียบในการต่อสู้คดีนั้น เห็นว่า โจทก์ได้บรรยายมาในฟ้องแล้วว่าโจทก์เสียหายส่วนใด เป็นเงินเท่าใด ส่วนรายละเอียดต่าง ๆ ตามที่จำเลยที่ 2 ฎีกามานั้น เป็นข้อที่จะต้องนำสืบพยานหลักฐานกันต่อไป เมื่อมีประเด็นข้อโต้เถียงกันในชั้นพิจารณาฟ้องของโจทก์ในส่วนค่าเสียหายจึงไม่เคลือบคลุม ศาลล่างทั้งสองพิพากษาชอบแล้ว
พิพากษายืน

Share