คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 478/2546

แหล่งที่มา : สำนักงานส่งเสริมงานตุลาการ

ย่อสั้น

ที่ดินโจทก์ทั้งสี่อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2534 มีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษ คณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินและนำไปวางโดยฝากธนาคารออมสินให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว ถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินนับแต่วันที่วางเงิน แม้ภายหลังต่อมาจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนฯ พ.ศ. 2538 ออกใช้บังคับ และคณะรัฐมนตรีมีมติปรับเปลี่ยนแนวเขตทางพิเศษใหม่ อันเป็นเหตุให้เนื้อที่ดินที่ถูกเวนคืนลดน้อยลงก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินที่ไม่อยู่ในแนวเขตทางพิเศษใหม่ดังกล่าวซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยสมบูรณ์แล้วกลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่เจ้าของที่ดินเดิมอีก และไม่มีกฎหมายใดให้สิทธิหรืออำนาจจำเลยคืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสี่ และเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จ่ายไปคืนจากโจทก์ทั้งสี่หรือขอหักลบกันกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ กรณีจึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งมาตรา 293 ได้

ย่อยาว

คดีสืบเนื่องมาจากศาลอุทธรณ์และศาลฎีกาพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นให้จำเลยชำระเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 165 ตารางวา เพิ่มขึ้นอีกเป็นเงิน 6,600,000 บาท แก่โจทก์ทั้งสี่พร้อมดอกเบี้ย จนกว่าจะชำระเสร็จ แต่ทั้งนี้ดอกเบี้ยดังกล่าวให้เป็นไปตามอัตราสูงสุดของดอกเบี้ยเงินฝากประเภทฝากประจำของธนาคารออมสิน คำขอนอกจากนี้ให้ยก

จำเลยยื่นคำร้องขอให้ศาลชั้นต้นงดการบังคับคดี อ้างเหตุว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ถูกเวนคืนเนื้อที่ 165 ตารางวา แต่ก่อนที่ศาลฎีกาจะมีคำพิพากษา จำเลยได้ปรับเปลี่ยนแนวเขตทางพิเศษใหม่ทำให้ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ถูกเวนคืนเพียง 42 ตารางวา ดังนั้น จำเลยจึงควรจ่ายเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามความเป็นจริงคือ 42 ตารางวาซึ่งเงินค่าทดแทนที่ดินจะลดน้อยลงตามส่วน ดังนั้น เงินค่าทดแทนที่ดินที่โจทก์ทั้งสี่ได้รับไปก่อนแล้วมากกว่าที่จะได้รับตามความเป็นจริง ศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่า “ศาลฎีกาพิพากษาถึงที่สุดแล้ว ไม่มีเหตุที่จะงดการบังคับคดี หากได้ความว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับเนื้อที่ที่ถูกเวนคืน จำนวนเงินค่าทดแทนเปลี่ยนแปลงไป จำเลยต้องว่ากล่าวเป็นคดีใหม่ให้ยกคำร้อง

จำเลยอุทธรณ์

ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน

จำเลยฎีกา

ศาลฎีกาคณะคดีปกครองวินิจฉัยว่า “จำเลยฎีกาว่า เมื่อข้อเท็จจริงในชั้นบังคับคดีเกี่ยวกับที่ดินของโจทก์ทั้งสี่ที่ถูกเวนคืนลดลงเป็นถูกเวนคืนเนื้อที่ 42 ตารางวา เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแนวเขตทางพิเศษใหม่ ย่อมทำให้การคำนวณเงินค่าทดแทนที่ดินให้แก่โจทก์ทั้งสี่ตามคำพิพากษาศาลฎีกาเปลี่ยนแปลงลดลงตามส่วนที่ดินที่ถูกเวนคืนลดลงด้วย ซึ่งเมื่อหักลบกันแล้วโจทก์ทั้งสี่ได้รับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ถูกเวนคืนจากจำเลยครบถ้วนแล้ว อันเป็นเหตุให้งดการบังคับคดีได้ และการไต่สวนคำร้องของจำเลยก็เพื่อบังคับคดีให้เป็นไปตามคำพิพากษา ศาลฎีกาชอบที่สั่งให้ศาลชั้นต้นพิจารณาไต่สวนและวินิจฉัยชี้ขาดเพื่อให้การบังคับคดีถูกต้องนั้น เห็นว่า ที่ดินของโจทก์ทั้งสี่โฉนดเลขที่3007 เลขที่ดิน 183 ตำบลถนนพญาไท (ประแจจีน) อำเภอดุสิต กรุงเทพมหานครบางส่วนเนื้อที่ 165 ตารางวา อยู่ในบริเวณที่ที่จะเวนคืนตามพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืนในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวี เขตปทุมวัน เขตห้วยขวางเขตบางกะปิ เขตคลองเตย เขตประเวศ เขตบางคอแหลม และเขตยานนาวา กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2534 ซึ่งออกตามมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2535 เพื่อสร้างทางพิเศษสายแจ้งวัฒนะ – บางโคล่ และสายพญาไท – ศรีนครินทร์ ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้กำหนดให้การเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ในโครงการนี้เป็นกรณีที่มีความจำเป็นโดยเร่งด่วนตามมาตรา 13 วรรคหนึ่ง ตามสำเนาประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเอกสารหมาย ล.2 และคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้นฯ ได้กำหนดเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวให้แก่โจทก์ทั้งสี่แล้ว และจำเลยได้นำเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าวไปวางโดยฝากธนาคารออมสินไว้แล้วมีหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทน ลงวันที่ 11 มิถุนายน 2536 ให้โจทก์ทั้งสี่ทราบตามเอกสารหมาย จ.6 วันที่วางเงินค่าทดแทนที่ดินของโจทก์ทั้งสี่อย่างช้าที่สุดคือวันเดียวกันกับวันที่ลงในหนังสือแจ้งการวางเงินค่าทดแทนตามเอกสารหมาย จ.6 ซึ่งตามมาตรา 11 วรรคสอง ประกอบมาตรา 13 วรรคสองและวรรคท้าย ให้ถือว่าได้มีการโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3007 เนื้อที่ 165 ตารางวา นับแต่วันที่วางเงินค่าทดแทนที่ดินดังกล่าว ดังนั้น กรรมสิทธิ์ในที่ดินโฉนดเลขที่ 3007 เนื้อที่ 165 ตารางวา จึงตกเป็นของจำเลยอย่างช้าที่สุดตั้งแต่วันที่ 11 มิถุนายน 2536 แม้ต่อมาภายหลังจะมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินในบริเวณที่ที่จะเวนคืน ในท้องที่เขตดุสิต เขตราชเทวีเขตปทุมวัน เขตบางกะปิ และเขตสวนหลวง กรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2538 ออกใช้บังคับและคณะรัฐมนตรีมีมติให้ปรับเปลี่ยนแนวเขตทางพิเศษใหม่ ซึ่งจำเลยได้ดำเนินการจัดทำแผนผังแนวเขตทางพิเศษใหม่ภายในระยะเวลาที่พระราชกฤษฎีกานี้ยังมีผลใช้บังคับ เป็นเหตุให้ที่ดินโฉนดเลขที่ 3007 อยู่ในแนวเขตทางพิเศษที่เปลี่ยนแปลงใหม่นี้เพียง 42 ตารางวา เนื้อที่ที่อยู่ในแนวเขตทางพิเศษลดลงจากเดิม 123 ตารางวา ตามคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยก็ตาม ก็ไม่เป็นเหตุให้ที่ดินเนื้อที่ 123 ตารางวาที่ไม่ได้อยู่ในแนวเขตทางพิเศษใหม่ดังกล่าว ซึ่งตกเป็นกรรมสิทธิ์ของจำเลยโดยสมบูรณ์แล้ว กลับคืนมาเป็นกรรมสิทธิ์ของโจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิมอีก และไม่มีกฎหมายใดที่ให้สิทธิหรืออำนาจจำเลยคืนที่ดินที่เวนคืนไปแล้วไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามวัตถุประสงค์ของการเวนคืนแก่โจทก์ทั้งสี่ซึ่งเป็นเจ้าของที่ดินเดิม และเรียกเงินค่าทดแทนที่ดินที่จ่ายไปคืนจากโจทก์ทั้งสี่หรือขอหักลบกันกับเงินค่าทดแทนที่ดินที่ศาลพิพากษาให้จำเลยชำระเพิ่มขึ้นแก่โจทก์ทั้งสี่ จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะขอให้งดการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 293 ได้ ที่ศาลล่างทั้งสองยกคำร้องขอให้งดการบังคับคดีของจำเลยโดยไม่ได้ไต่สวนคำร้องนั้นชอบแล้ว ฎีกาของจำเลยฟังไม่ขึ้น”

พิพากษายืน

Share